จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว…ถ้าหากใครเคยได้ยินประโยคนี้ หรืออย่างน้อยอาจเคยพูดปลอบใจตัวเองว่าถ้าใจเราแข็งแรง ร่างกายเราก็จะแข็งแรงไปเอง อันที่จริงนี่ไม่ใช่คำพูดปลอบใจลอยๆ เท่านั้น
เพราะตัวอย่างการรักษาที่แทบไม่มีผลทางการแพทย์ใดๆ เคยทำให้คนหายจากอาการป่วยได้ ไม่ว่าจะสูตรน้ำหมักขยะ ดื่มปัสสาวะ หรือการยืนรับพลังงานแสงอาทิตย์ ทำไม๊ ทำไม ถึงมีคนหายจากอาการเจ็บป่วยได้เฉยๆ
คำตอบคือ เพราะหลายครั้งจิตใจของเรามีอิทธิพลเหนือร่างกายจริงๆ
เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ปรากฎการณ์ยาหลอก’ (Placebo Effect) ที่เล่นกับความเชื่อมั่นทางจิตใจของมนุษย์ หรือเราจะเรียกง่ายๆ ว่าคืออาการ “มโน” หรือ “อุปทาน” แต่กลับได้ผลกับร่างกายจริงๆ และทางการแพทย์ก็มีการรักษาแบบนี้อยู่จริงๆ บางครั้งแพทย์ใช้วิธีนี้รักษาผู้ป่วยจิตเวช โดยอาศัยจิตวิทยาและความเชื่อมั่นของผู้ป่วย
ตัวอย่างเช่น ถ้าหากผู้ป่วยเป็นโรคกลัวแมงมุม แพทย์จะให้ยาหลอกซึ่งทำจากแป้งและน้ำตาล โดยระบุว่ายานี้เป็นยาลดความกลัว โดยที่ไม่ได้มีผลกับร่างกายหรือสารใดๆ ผู้ป่วยบางคนพบว่าเขาไม่ได้กลัวแมงมุมเท่าเดิม แต่การรักษาแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะได้ผลในทุกคน สิ่งสำคัญก็คือผู้ป่วยต้อง “เชื่อ” ว่ายานี้สามารถรักษาได้จริง
เกือบครึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาหลอกๆ นี้พบว่าอาการดีขึ้นราว 30% (ในอาการที่วัดไม่ได้เป็นรูปธรรม) ซึ่งแนวคิด ‘ยาหลอก’ ได้นำมาใช้ในการทดลองยาในปัจจุบัน
ทุกครั้งที่มีการคิดค้นยาขึ้นมาใหม่ ต้องมีการวิจัยเปรียบเทียบกับยาหลอก (Clinical Trial หรือการทดลองทางเทคนิค) เพื่อดูผลทดสอบ เพราะถ้ายาจริงๆ ได้ผลเพียงแค่ 30% เท่ากับหรือน้อยกว่ายาหลอก แปลว่ามันไม่ได้ผลอะไรในการรักษา
ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ยาหลอกไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในทางการแพทย์เท่านั้น แต่ใช้ควบคุมร่างกายกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นสิ่งที่คนไทยเรียกกันง่ายๆ ว่า “เมาดิบ”
มีการทดสอบว่าแอลกอฮอล์ปลอมๆ สามารถทำให้คน “เมา” ได้จริง เพราะเขาเชื่อว่าตัวเองจะเมา งานวิจัยของ Seema Assefi และ Maryanne Garry นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ทำการทดสอบนักศึกษา 148 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่รู้ว่าพวกเขาจะได้ดื่มวอดก้า กับเพลน โทนิก (ไม่มีแอลกอฮอล์) ส่วนอีกกลุ่มรู้ว่าพวกเขาจะได้ดื่มเฉพาะโทนิกเท่านั้น
แต่ความจริงคือไม่มีวอดก้า…
หลังปาร์ตี้ทดลองจบลง พวกเขาได้ดูสไลด์ที่แสดงภาพอาชญากรรมและรายงานสรุปเรื่องราว แต่ในเอกสารจะมีข้อมูลบางส่วนที่ผิดพลาด ผลทดสอบพบว่าคนที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์หาข้อผิดพลาดได้มากกว่าคนที่คิดว่าตัวเองดื่มวอดก้าเข้าไป แถมบางคนที่ “คิดว่า” ตัวเองดื่มแอลกอฮอล์ยังแสดงอาการมึนเมา และระบุว่าพวกเขารู้สึกว่าตัวเองเมาอยู่จริงๆ!
สรุปว่าปรากฏการณ์จิตใจหลอกร่างกายนั้นมีอยู่จริง และอาจเกิดขึ้นกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณเชื่อว่าตัวเอง “ทำได้” หรือ “ทำไม่ได้” จนเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวันหรือทางการแพทย์
แต่สิ่งที่ควรระวังคือการใช้ปรากฏการณ์นี้เป็นเครื่องมือในการทำการค้าสร้างกำไรผ่านการรักษาทางเลือกบางรูปแบบ ซึ่งนอกจากไม่ได้ส่งผลในทางบวกกับร่างกายแล้ว หลายครั้งอาจจะส่งผลอันตรายมากกว่า
อ้างอิง:
- TIME. The Placebo Effect Is Real, and Scientists May Be Able To Predict Who Responds. https://bit.ly/36pTqNh
- BBC. ‘Fake alcohol’ can make you tipsy. https://bbc.in/30rL8QX
- Health addict. PLACEBO EFFECT คืออะไร?. https://bit.ly/33jO5VK