เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แถลงข่าวการค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลกที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จังหวัดอุบลราชธานี
ผึ้งชนิดใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘ผึ้งหยาดอำพันภูจอง’ ตามสถานที่ที่ค้นพบ โดยผึ้งหยาดอำพันภูจอง มีลำตัวสีโทนส้มแดงและมีลายสีดำ รูปร่างสั้นป้อมสันทัด ความยาวลำตัวอยู่ที่ 8 มิลลิเมตร
แต่ที่น่าสนใจคือ ลักษณะการดำรงชีวิตที่แตกต่าง เมื่อเทียบกับผึ้งให้น้ำหวานต่างๆ ที่มีการแบ่งวรรณะ มีนางพญา ผึ้งงาน ผึ้งเพศผู้ อาศัยอยู่รวมกัน แต่ผึ้งหยาดอำพันภูจองจะมีรูปแบบตรงข้าม ดำรงชีวิตกันแบบโดดเดี่ยว เพศเมียจะสร้างและดูแลรังเพียงลำพัง ภายในรังจะแบ่งเป็นห้องๆ เอาไว้วางไข่ สะสมอาหาร (เรณูพืชและน้ำหวาน) ไว้ให้ตัวอ่อน
โดยธรรมชาติแล้ว ผึ้งเป็นแมลงที่บริโภคพืชน้ำหวานเป็นหลัก ในกระบวนการนี้ทำให้ผึ้งต้องบินตอมดอกไม้หลายดอก ทำให้มีเรณูพืชติดตามตัวอยู่เสมอ ซึ่งก็นำไปสู่การผสมเกสร ช่วยให้พืชดอกสามารถสืบพันธุ์ได้
และผึ้งแต่ละชนิดจะมีปฏิสัมพันธ์กับพืชดอกแต่ละชนิดแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ผึ้งที่หาพบได้ยากอย่างผึ้งหยาดอำพันภูจอง มักจะมีความสัมพันธ์กับพืชชนิดที่หาพบได้ยากด้วย นั่นทำให้การค้นพบชนิดใหม่นี้ คือสิ่งบ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยได้เป็นอย่างดี
ถึงตอนนี้การค้นพบผึ้งหยาดอำพันภูจองยังถูกระบุว่า พบได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย นั่นหมายความว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับป่าอนุรักษ์แห่งนี้ ผึ้งชนิดนี้ก็จะหายไปจากโลกพร้อมๆ กับพืชที่พึ่งพาอาศัยการทำหน้าที่ของมัน
คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ หากสายพันธุ์ที่เราเพิ่งค้นพบต้องสูญหายไปเหมือนอย่างสายพันธุ์อื่นๆ ที่จากจรไปก่อนหน้า โดยเฉพาะสายพันธุ์ผึ้งป่าที่กำลังสูญเสียที่อยู่ ไร้งานให้ทำ เพราะทุ่งดอกไม้ถูกเปลี่ยนเป็นแปลงเกษตรที่ปลูกพืชเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
ส่วนด้านของผึ้งเลี้ยง แม้ในภาพรวมจำนวนรังผึ้งทั่วโลกจะเพิ่มทุกปี แต่คนเลี้ยงผึ้งก็ต้องคอยระวังกับ ‘ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย’ (Colony collapse disorder) ที่ทำให้ผึ้งงานทั่วยุโรปและอเมริกาหายไปจากโลกเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มาแล้วหลายต่อหลายหน
ขณะที่การค่อยๆ ขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนแปลงที่ดิน โรคภัย และการใช้ยาฆ่าแมลงโดยเฉพาะกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ ก็ถือเป็นภัยที่พรากทั้งผึ้งป่าและผึ้งเลี้ยงอยู่ร่ำไป
และแน่นอนว่า ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผึ้งเช่นกัน อุณหภูมิและฤดูกาลที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เวลาที่แมลงจะออกหากิน และเวลาที่มีอาหารไม่ตรงกัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้ศัตรูพืชและโรคใหม่ๆ ทำลายอาณานิคมของผึ้งได้มากขึ้น
เหล่านี้คือสิ่งที่สามารถทำให้ผึ้งหายไปจากโลกได้อย่างไม่ยากเย็น
อ้างอิง
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, แถลงข่าว การค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลก ผึ้งหยาดอำพันภูจองฯ, https://bit.ly/3wI0thg
- Greenpeace, เมื่อผึ้งหาย = วายวอด และทำไมอียูถึงแบนสารเคมีที่อันตรายต่อผึ้ง, https://bit.ly/3x8pVwF
- Bee Hour. How Many Bees Are Left in the World? https://bit.ly/3DTeHNV