เรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย เข้าใจปัญหาผ่านคุณครูในวันที่ต้องเปลี่ยนจากกระดานเป็นหน้าจอ

4 Min
2353 Views
18 Jan 2021
 
 
หลังจากโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดเป็นครั้งที่ 2 เยาวชนต้องกลับสู่การเรียน “ออนไลน์” อีกครั้ง และเนื่องในวันครูประจำปี พ.ศ.2564
 
THE ATTENTION ได้พูดคุยกับคุณครูมัธยมที่ต้องเปลี่ยนการสอนหนังสือจากหน้าห้องเรียนเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ ถึงความยากลำบากในการถ่ายทอดความรู้ให้เด็ก และปัญหาในด้านการศึกษาที่นักเรียนต้องเจอ
 
ก่อนหน้าจะถึงวันครูไม่กี่วัน เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณครู 2 คนที่สอนคนละวิชา และอยู่ต่างโรงเรียนกัน เพื่อพูดคุยถึงปัญหาการเรียนออนไลน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยหวังว่าจะเห็นภาพของปัญหาชัดเจนขึ้น
 
คนแรกคือ ครูนุ้ย-วรรณิสา จำปาทอง คุณครูประจำภาควิชาภาษาไทย โรงเรียนสตรีนนทบุรี และคุณครูอีกท่านในโรงเรียนระดับกลางละแวกเดียวกันที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ท่านเป็นครูสอนวิชาภาคปฏิบัติอย่างนาฏศิลป์ และไม่ได้ทำตามระเบียบการเรียนออนไลน์ที่กระทรวงศึกษาวางไว้ เพราะปัญหาความไม่เท่าเทียมของเด็กนักเรียน
 
ปัญหาคืออะไร และในมุมมองของครูที่ทำงานจริง ภาครัฐควรเข้ามาจัดการอย่างไร ติดตามได้ในโพสต์นี้
 

ปัญหาหลักๆ ที่ครูทุกคนต้องเจอคือเด็กนักเรียนมีความพร้อมที่แตกต่างกันในการเรียนออนไลน์ ส่วนใหญ่จะมี 3 กรณี ได้แก่

1. เด็กที่พร้อมในด้านฐานะ มีอุปกรณ์ มีอินเทอร์เน็ต

2. เด็กที่พร้อมปานกลาง มีเน็ตบ้าง แต่ไม่เสถียร อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ของผู้ปกครองที่ต้องรอเลิกงาน หรือว่า WiFi ไม่ดีพอสำหรับการออนไลน์

3. เด็กที่ไม่พร้อมเลย เพราะที่บ้านไม่มีอินเทอร์เน็ต

นี่คือปัญหาที่ครูทุกโรงเรียนเจอเหมือนๆ กัน ถ้าเป็นโรงเรียนในระดับดีๆ ที่เด็กมีฐานะจะเจอน้อย แต่ในโรงเรียนปานกลางถึงล่าง ซึ่งเป็นโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศจะเจอปัญหาแบบนี้เยอะ โดยเฉพาะเด็กส่วนใหญ่คือแบบที่ 2 คือเข้าถึงได้บ้างไม่ได้บ้าง หลายคนไม่สามารถเข้าคลาสตลอดทุกคาบ

ซึ่งเรื่องนี้สำหรับครูที่สอนจัดการยากมาก แต่ตอนนี้กระทรวงศึกษามีสิ่งที่เรียกว่า “ถุงยังชีพ” ให้เด็กที่ตรวจสอบแล้วไม่สามารถเข้าถึงได้ คือให้ครูในโรงเรียนจัดทำแบบเรียน-ใบงานแล้วให้ผู้ปกครองมารับไป แต่ครูทุกคนก็ข้องใจว่าหลายวิชาเด็กไม่สามารถอ่านและเข้าใจได้ด้วยตัวเอง แปลว่ามันทำไม่ได้จริง มีแค่บางวิชาเท่านั้นที่ทำได้

“ครูด้วยกันก็มองว่ากระทรวงทำแบบนี้เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน เป็นการแก้ที่ไม่ถูกจุด”

นอกเหนือจากปัญหาของตัวเด็กเองแล้ว ภาระงานของครูก็เพิ่มมากขึ้น ครูต้องเตรียมสอนมากกว่าปกติในโรงเรียนถึง 2 เท่า ส่วนเนื้อหาวิชาที่ยากหรือเยอะก็ต้องมาทำให้ง่ายและกระชับมากขึ้น ยิ่งเป็นครูผู้ใหญ่ก็ต้องศึกษาการทำสื่อและออนไลน์ ทำยังไงให้นักเรียนไม่เบื่อ การวัดประเมินผลก็ต้องยืดหยุ่นกว่าเดิม

การทำงานภาคปฏิบัติ ก็ต้องลดลงเลยโดยเฉพาะที่เป็นงานกลุ่ม เพราะเด็กไม่สะดวกในการรวมกลุ่มทำงาน เราก็ปรับเป็นงานเดี่ยวมากขึ้น

ปัญหาอีกอย่างคือเมื่อก่อนครูสามารถสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนได้ เข้าไปสอบถาม เข้าไปพูดคุย แต่พอเรียนออนไลน์การโต้ตอบลดลงไปมากๆ เหมือนครูพูดอยู่คนเดียว ต่างจากในห้องเรียนที่มีความสนุกสนาน

ส่วนเรื่องนักเรียนที่อาจเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ด้วยความที่โรงเรียนสตรีนนทบุรีเป็นโรงเรียนใหญ่ มีสัดส่วนนักเรียนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างน้อย แต่โรงเรียนก็พยายามเตรียมความพร้อมคือเปิดห้องสมุดหรือห้องเรียนคอมพิวเตอร์ให้บริการนักเรียนที่ไม่มีอุปกรณ์มาใช้คอมพิวเตอร์ของโรงเรียนได้ เรื่องนี้แต่ละโรงเรียนก็มีการจัดการที่แตกต่างกัน บางโรงเรียนก็มีการแจกซิมการ์ดให้เด็กเพื่อให้เข้าถึงได้ แต่เรื่องนี้ใช่ว่าทุกโรงเรียนจะสามารถทำได้

คุณครูไม่ประสงค์ออกนามซึ่งเป็นคุณครูประจำภาควิชานาฏศิลป์ในหมวดศิลปะเล่าว่าในการเรียนออนไลน์วิชาที่เป็นปฏิบัตินั้นยากในการสอน สิ่งที่กำหนดไว้คือให้สอนทฤษฎีแต่นั่นจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับนักเรียนเพราะวิชาทฤษฎีที่มีอยู่ก็มากแล้ว

ลองคิดดูว่าวันหนึ่งเด็กเรียน 7 วิชาต่อวัน คิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะนั่งเรียนดูจอทั้งวัน เด็กทำไม่ได้ตลอดหรอก นี่คือสิ่งที่กระทรวงได้คิดถึงความเป็นจริงตามจิตวิทยาหรือสัญชาตญาณของมนุษย์ ความรู้สึกของเด็กส่งผลต่อคุณภาพการเรียนที่อาจจะลดลงด้วย

ครูหลายคนขยันก็พยายามใส่ให้เด็กเต็มที่ เพราะครูเองก็โดนกระทรวงสั่งมาว่าต้องทำ ต้องให้งานเด็ก ไม่อย่างนั้นเด็กจะไม่มีคะแนน คิดดูว่าถ้าครู 6-7 คนพยายามอัดให้เด็กมากขนาดนั้น เด็กไม่สามารถรับได้หรอก ถ้าทุกคนระดมกันให้งาน เด็กก็ต้องรับไม่ไหว

นอกเหนือจากเตรียมการเรียนการสอนแล้ว การรายงานผลเป็นอีกภาระหนึ่งที่ครูต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมากๆ ในช่วงโควิด-19 เพราะการติดตามทำอย่างเข้มข้น เน้นที่การติดตามเด็ก การเข้าเรียน การส่งงาน ต้องมีหลักฐานสำหรับเวลาที่กระทรวงศึกษาฯ หรือส.พ.ฐ. มาประเมิน

ครูมองว่าในระยะยาวค่อนข้างหนัก เพราะแต่ละโรงเรียนก็มีบริบทที่แตกต่างกัน การวัดผลประเมินผลก็แตกต่างกัน ดังนั้นการเรียนออนไลน์สู้การเรียนในห้องเรียนไม่ได้หรอก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้หน่วยงานกลาง ค้นหาว่าควรใช้สื่ออะไรให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ การวัดผลประเมินผลที่ยุติธรรมและโปร่งใส

“ครูทุกคนสงสารเด็กนะ ไม่ใช่ไม่สงสาร แต่ครูก็ลำบาก เพราะว่ากระทรวงเขาให้ครูเช็กเด็กตลอดเลยนะว่าคนไหนออนไลน์บ้าง เช็กส่งโรงเรียนเพื่อที่จะส่งไปกระทรวง ดังนั้นครูก็เครียดว่าเด็กเข้ามาเรียนได้ไหม ใครออนไลน์บ้าง กลายเป็นว่าตอนนี้กระทรวงมองเห็นเรื่องปริมาณการเข้าเรียนในเวลา มากกว่าคุณภาพว่าเด็กเรียนแล้วได้อะไรบ้าง”

เมื่อการเข้าเรียนเป็นเกณฑ์หลักที่โรงเรียนต้องติดตามให้เด็กเข้าตรงเวลาทุกคน แต่เด็กหลายคนไม่สามารถเข้าถึงการออนไลน์ได้ตลอดเวลา สิ่งที่คุณครูไม่ประสงค์ออกนามทำคือตกลงกันในหมวดนาฏศิลป์ ศิลปะ และดนตรี ว่าจะไม่บังคับเด็กเข้าออนไลน์ แค่ทำทุกอย่างให้คล้ายออนไลน์

การเรียนออนไลน์ในคาบยังมีอยู่แต่ไม่ได้มีการเช็กชื่อ และใช้วิธีการเปิดเฟซบุ๊กกลุ่มเพื่อสื่อสารและสั่งงานเด็กจะได้สามารถเข้ามาเช็กเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ก็มีการรวม 3 วิชาบูรณาการให้งานร่วมกันชิ้นเดียวและคิดคะแนนเป็น 3 วิชาเพื่อเป็นการลดภาระให้กับเด็กนักเรียน

“ครูก็เช็กชื่อจากการส่งงาน ถ้านักเรียนส่งก็แปลว่าเข้าเรียนแล้ว แต่ทำแบบนี้มันผิดตามที่กระทรวงกำหนดไว้ แต่เราต้องทำ เพราะเรานึกถึงเด็กเป็นสำคัญ”

“ครูพูดตรงๆ เรื่องนี้คนอื่นอาจจะไม่อยากพูด การเรียนจริงๆ เรียน 8 วิชา มีวิชาที่สอนสนุกแค่ 1-2 วิชาเท่านั้น การสอนผ่านออนไลน์มันยิ่งน่าเบื่อมาก”

ในความหมายนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณครูที่โรงเรียนไม่มีคุณภาพ แต่เทคนิควิธีการสอนของครูไม่สอดคล้องกับออนไลน์ ไม่สอนได้สนุกทุกคนเหมือนติวเตอร์ดัง ดังนั้นในสถานการณ์นี้ ครูคิดว่าทางออกอาจเป็นการให้ภาครัฐติดต่อกับติวเตอร์ดังเพื่อให้เด็กเข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียมกัน ส่วนครูก็เป็นครูที่อธิบายให้เด็กๆ เข้าใจมากขึ้นอีกที ให้งานและตรวจงาน เด็กก็จะตั้งใจมากขึ้น เพราะติวเตอร์จะมีวิธีการที่ย่อยง่าย

แต่เรื่องนี้ครูหรือกระทรวงไม่มีทางยอมรับ กระทรวงก็จะคิดว่าเดี๋ยวครูในโรงเรียนสบาย แต่ไม่ได้คิดว่าจะทำยังไงให้เด็กได้ความรู้ได้มากที่สุดในช่วงนี้

การเรียนออนไลน์ต้องยอมรับว่าทำให้ลำบากกันแทบทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักเรียน สิ่งสำคัญคือการศึกษาไทยจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างไรโดยที่เด็กยังมีความรู้และมีคุณภาพได้