โลกร้อนเป็นเรื่องปากท้องและสุขภาพ ‘กรดไขมันโอเมกา 3’ กำลังลดลงเพราะมนุษย์ทำน้ำทะเลร้อนขึ้น

2 Min
636 Views
05 Jul 2022

กรดไขมันโอเมกา 3’ (Omega-3 fatty acids) คือ สารอาหารสำคัญลำดับต้นๆ ที่ร่างกายคนเราต้องการ จำเป็นต่อการทำงานของสมองไปจนถึงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด แต่ร่างกายคนเราไม่สามารถผลิตได้เอง จำเป็นต้องรับเอาจากอาหารการกินต่างๆ เช่น พวกปลา หรือผักบางชนิด 

แต่ดูเหมือนว่าในอนาคตข้างหน้า สารอาหารที่ว่านี้อาจกลายเป็นของที่หาไม่ได้ทั่วไปอีกแล้ว เพราะกรดไขมันที่เราเคยตักตวงเอาจากทะเลเริ่มจะลดลงในบางจุด และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ 

ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า หากมนุษย์เรายังคงตะบี้ตะบันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องราวคราวนี้เป็นงานวิจัยที่เพิ่งค้นพบใหม่จากนักวิจัยของสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล (Woods Hole Oceanographic Institution) ที่ได้เดินทางไปศึกษาเรื่องไขมันที่เกิดจากแพลงก์ตอนในมหาสมุทรทั่วโลก แต่ก็บังเอิญมาพบข้อเท็จจริงใหม่ว่า ในจุดที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงกว่าช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ปริมาณไขมันโอเมกา 3 จะน้อยตามความร้อนที่เพิ่มขึ้น

โดยปกติ วงจรห่วงโซ่อาหารที่เล็กที่สุดในมหาสมุทรอย่างแพลงก์ตอนจะเป็นผู้ผลิตกรดไขมันโอเมกา 3 ขึ้นมา ซึ่งก็มีทั้งที่ผลิตกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก ( (Alpha-linolenic acid) กรดไขมันดีเอชเอ (DHA) และกรดไขมันอีพีเอ (EPA)

จากนั้นมันจะถูกส่งต่อไปยังปลาที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ก่อนปลาเหล่านั้นจะมาจบที่จานข้าวของเรา เป็นการส่งต่อสารอาหารกันเป็นทอดๆ ยิ่งแพลงก์ตอนมีมากเท่าไหร่ ปลาก็รับเอากรดไขมันโอเมกา 3 มาให้คนเรามากขึ้นเท่านั้น

แต่เมื่อเราทำให้โลกร้อนขึ้น น้ำในมหาสมุทรก็จะเก็บความร้อนมากจนมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เหล่าแพลงก์ตอนที่ควรจะเจริญเติบโตมาเป็นอาหารของปลาก็จะลดน้อยลง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความ เมื่อไม่มีแพลงก์ตอนก็ย่อมไม่มีกรดไขมันโอเมกา 3 นั่นเอง

ความสัมพันธ์เรื่องแพลงก์ตอนที่ลดลงกับอุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่เรารู้กันมาก่อนแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่เคยพูดถึงคือ สารอาหารหรือพลังงานที่เชื่อมโยงมาเป็นเนื้อเดียวกัน

ประเภทกรดไขมันที่คาดว่าน่าจะลดลงแน่ๆ ในศตวรรษหน้า คือ กรดไขมันอีพีเอ (Eicosapentaenoic acid: EPA) ที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบต่างๆ ของร่างกาย ไปจนถึงช่วยลดความเครียด ซึ่งสารอาหารตัวนี้เป็นสารที่ระบุได้ชัดเจนที่สุดว่ามีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

ตามรายงานแม้ไม่ได้ระบุให้เป็นเรื่องร้ายแรงที่ต้องพาดหัวด้วยคำว่าวิกฤตนำหน้า และยังไม่ได้เกิดขึ้นทุกที่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้คนในบางเขตภูมิศาสตร์ของโลกอาจจะลำบากกับการหาสารอาหารมาเติมเต็มสิ่งที่ร่างกายต้องการอย่างแน่นอน

หากประเมินกันอย่างเร็วๆ กลุ่มคนในโลกเขตร้อนอาจจะเจอปัญหานี้ก่อนใคร ทั้งจากการที่แพลงก์ตอนลดน้อยลงไปจนถึงเรื่องจำนวนปลาที่ลดลงจากน้ำที่ร้อนจนอยู่ไม่ได้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาวะโลกร้อนกำลังเปลี่ยนหน้าตาอาหารทะเลที่คุณกิน https://shorturl.asia/K6AIf) 

นอกจากปัจจัยของคนในเขตร้อนแล้ว ก็คงเป็นเรื่องที่คนไม่ชอบกินผักต้องตื่นตัวกันเสียหน่อย เพราะถึงอย่างไร กรดไขมันโอเมกา 3 ก็ไม่ได้มีที่มาจากปลาเพียงอย่างเดียว แต่ยังหาได้จากพืชผักบางชนิดด้วย

ฉะนั้น ใครที่ไม่ชอบกินผัก ก็ควรหัดไว้เสียแต่เนิ่นๆ เช่น จากเมล็ดฟักทองหรือผักโขม หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเสียเงินไปกับการพึ่งพาอาหารเสริมกันบ้างล่ะ

แต่ก็ต้องหมายเหตุเอาไว้สักหน่อยว่า งานวิจัยนี้เป็นการค้นพบลำดับแรกๆ จึงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีก เพื่อยืนยันว่าอนาคตมันจะมีหรือไม่มีจริงๆ 

บทสุดท้ายของเรื่องนี้ จึงเป็นการนำมาเตือนไว้แต่เนิ่นๆ เผื่ออะไรๆ จะแก้ไขไม่ทันกาล

อ้างอิง

  • Science Daily, Climate change could lead to a dramatic temperature-linked decrease in essential omega-3 fatty acids, according to new study, https://shorturl.asia/wd8ZA