เคยดู ‘หนังเก่า’ แล้วรู้สึกว่ามันแปลกๆ ไหม? เพราะมันมี ‘ข้อห้าม’ เหล่านี้ยังไงล่ะ
สำหรับคนชอบดูหนังที่บังเอิญได้ไปดู ‘หนังฮอลลีวูดเก่าๆ’ ช่วงต้นและกลางศตวรรษที่ 20 ความรู้สึกที่ได้มันอาจประหลาดมาก เพราะสารพัดองค์ประกอบมันประดักประเดิดไปหมด มันดูขาดๆ เกินๆ ในมาตรฐานปัจจุบัน
ส่วนหนึ่งก็แน่นอนเป็นเพราะสุนทรียภาพของยุคนั้นที่ต่างกับยุคปัจจุบัน แต่อีกส่วนก็เป็นเพราะหนังยุคนั้นต้องทำตาม ‘ข้อห้าม’ ในการทำหนังที่เรียกรวมๆ ว่า Hays Code ตามชื่อประธานสมาคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคนั้นอย่าง วิล เอช. เฮย์ส (Will H. Hays)
บางคนอาจเกิดคำถามว่า อเมริกันเป็นสังคมที่รับประกันเสรีภาพในการแสดงออกนี่ ทำไมถึงยังมีการ ‘เซ็นเซอร์’ เกิดขึ้นได้ในภาพยนตร์?
ตรงนี้เราอยากจะพาย้อนไปดูประวัติศาสตร์สังคมของภาพยนตร์อเมริกัน ที่ไม่ใช่แค่ทำให้เราเข้าใจอดีต แต่จะทำให้เราเข้าใจหนังและซีรีส์อเมริกันทุกวันนี้มากขึ้นด้วย
อย่างแรก ขอย้อนไปต้นศตวรรษที่ 20 ก่อน ตอนแรกที่ภาพยนตร์เชิงพาณิชย์เกิดขึ้น มันมีการถกเถียงกันว่า ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ ที่บทแก้ไขรัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้นั้นครอบคลุมถึงภาพยนตร์ไหม? ซึ่งผลสุดท้ายเรื่องไปถึงศาลสูงและศาลสูงก็ฟันธงว่าไม่รับรองในปี 1915
แล้วผลที่ตามมาคืออะไร? อันนี้ไม่ต้องดูไกล ในปี 2022 ศาลสูงเพิ่งประกาศเพิกถอนคำวินิจฉัยในคดีที่รับรองสิทธิการทำแท้ง ผลที่ตามมาก็คือ รัฐต่างๆ เริ่มออกกฎหมายห้าม เพราะรัฐต่างๆ มีสิทธิที่จะออกกฎหมายหรือปกครองคนของตนยังไงก็ได้ ตราบที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกัน เมื่อภาพยนตร์ไม่ได้รับการรับรองเสรีภาพ รัฐต่างๆ ในอเมริกาก็มีการตั้ง ‘กองเซ็นเซอร์’ ของตัวเองขึ้น เพื่อสกรีนไม่ให้หนังบางเรื่องฉายในรัฐได้ เพราะถือว่าฉากบางฉากในหนัง ‘ผิดกฎหมายรัฐ’
ทีนี้ก็เลยทำให้ช่วงทศวรรษ 1920 คนทำหนังก็เวียนหัวมากๆ เพราะต้องทำหนังหลายเวอร์ชั่นเพื่อให้ฉายได้ในแต่ละรัฐ มันก็เลยต้องการข้อสรุป และทางสมาคมภาพยนตร์เลยคุยกันว่าเอาไงดี ผลสุดท้ายก็คือให้ ‘ผู้อาวุโสทางศาสนา’ อย่าง วิล เอช. เฮย์ส มานั่งเป็นประธานสมาคมในปี 1922
ตรงนี้อยากย้อนนิดว่า อเมริกาช่วงทศวรรษ 1920 เป็นสังคมอนุรักษนิยมและคลั่งศาสนามากๆ สังคมนี้เพิ่งแก้รัฐธรรมนูญให้การผลิตและขายเหล้าผิดกฎหมายในปี 1920 โดยขบวนการที่ทำให้อเมริกาเลยเถิดไปถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญให้เหล้าผิดกฎหมาย เป็นฝีมือของพวกผู้นำศาสนาและพวกแม่บ้านหัวอนุรักษนิยม ซึ่งประเด็นก็คืออเมริกายุคโน้น ‘ไม่ใช่’ อเมริกาที่เรารู้จักทุกวันนี้
ดังนั้นก็ไม่แปลกเลยที่ในช่วงทศวรรษ 1920 ทางสมาคมภาพยนตร์จะเชิญทั้งพระและผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงศาสนาคริสต์สารพัดนิกายมาคุยกันเพื่อหาข้อสรุปถึง ‘ข้อห้ามร่วมกัน’ ว่าภาพยนตร์ต้องห้ามมีสิ่งเหล่านี้ และมันจะฉายได้ในทุกรัฐ เพราะยุคนั้น พวก ‘ผู้นำทางศาสนา’ เหล่านี้คือคนมีอำนาจจริงๆ ในสังคมอเมริกัน
ซึ่งก็ต้องเน้นว่า ‘ข้อห้ามร่วมกัน’ ที่ว่านี้ มันสะท้อนแนวคิดของความเป็นรัฐหัวอนุรักษนิยมเป็นหลัก เพราะรัฐหัวสมัยใหม่แบบนิวยอร์คนั้นก็ไม่ได้มีปัญหากับฉากโป๊เปลือยหรือการดื่มเหล้าในหนังมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการมีภาพยนตร์ เพียงแต่รัฐพวกนี้ในตอนนั้นถือเป็นส่วนน้อยมากๆ ของสังคมอเมริกันที่สมัยโน้นอนุรักษนิยมสุดๆ (ตอนนี้ก็ยังอนุรักษนิยม แต่สู้ตอนโน้นไม่ได้แน่ๆ)
ผลสุดท้ายของการเอาบรรดาผู้นำทางศาสนามาคุยกัน ก็เลยได้ข้อกำหนดประมาณ 10 กว่าข้อ พร้อมทั้งข้อพึงระวังอีก 20 กว่าข้อ ซึ่งนิตยสารอย่าง Variety ก็ได้ตีพิมพ์เพื่อเปิดเผยให้สังคมอเมริกันเห็นในปี 1930 ซึ่งถ้าจะสรุปแล้วก็คือ มันก็เอาข้อห้ามแบบสังคมอนุรักษนิยมมาเป็นข้อห้ามการทำหนังน่ะแหละ ห้ามฉากเซ็กส์ ห้ามเสพยา ห้ามล้อเลียนศาสนา รวมถึงห้ามมีฉากคู่รักคนขาวคนดำ และฉากรักร่วมเพศด้วย นอกจากนี้ ถ้ามีฉากใช้ปืนไปจนถึงการพยายามก่ออาชญากรรมต่างๆ ผู้ที่ทำก็ต้องได้รับการลงโทษในหนังด้วย และห้ามหนังทำให้คนดูเห็นใจคนพวกนี้เด็ดขาด
แน่นอนว่าข้อห้ามพวกนี้ก็ดูบ้าบอมากในมาตรฐานปัจจุบัน และจริงๆ ตอนแรกที่เผยแพร่ออกมาคนก็หัวเราะเยาะว่าไม่น่าจะมีใครปฏิบัติตามหรอก แต่สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำร้ายแรงในทศวรรษ 1930 ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะทำหนังแล้วไปฉายบางรัฐไม่ได้ก็คือเจ๊ง ดังนั้นการเพลย์เซฟก็คือต้องทำตามข้อกำหนดของสมาคมที่ว่านี้เพื่อจะการันตีว่า หนังจะฉายได้ทั่วอเมริกาแน่นอน ซึ่งก็ต้องย้ำว่ามันไม่ใช่ ‘กฎหมาย’ ด้วยซ้ำ
หนังฮอลลีวูดตั้งแต่ทศวรรษ 1930 จนถึง 1950 ก็เลยปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้อย่างเคร่งครัด และถ้าไม่มีข้อกำหนดนี้ ฉากจบของหนังคลาสสิกหลายๆ เรื่องก็อาจไม่เป็นแบบที่เราเห็น (เช่น Casablanca นั้นพระเอกที่เป็น ‘ชู้’ ก็คงจะได้หนีไปกับนางเอกไปแล้ว)
แต่แล้วทศวรรษที่ 1960 จุดจบของ Hays Code ก็เริ่มขึ้น ภาพยนตร์เรื่องต่างๆ เริ่มไม่ทำตามข้อกำหนด บางเรื่องก็ลักไก่ บางเรื่องก็ขอเป็น ‘ข้อยกเว้น’ จริงจังเลย
คำถามคือ ทำไม?
คำตอบเร็วๆ คือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันยุคนั้นโดนแรงกดดันจากสองด้าน ด้านแรกคือการขยายตัวของอุตสาหกรรมทีวีอเมริกันเอง อีกด้านคือการเข้ามาของภาพยนตร์ต่างประเทศที่ไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการผลิต
การแพร่หลายของทีวีในระดับที่เป็น ‘ของมันต้องมี’ ในทุกครัวเรือนชนชั้นกลางในยุค 1950 ทำให้คนจำนวนมากไม่ไปดูหนัง ถ้ามันไม่มีอะไรต่างจากทีวี ซึ่งก็ต้องไม่ลืมว่านี่เป็นยุคแรกในประวัติศาสตร์ที่คนอยู่บ้านก็มี ‘ภาพเคลื่อนไหว’ ให้ดูกัน ต่างจากยุคก่อนหน้าที่ต้องไปดูในโรงเท่านั้น
หรือพูดง่ายๆ หนังในโรงต้องมีอะไรที่มัน ‘ไม่มีให้ดูในทีวี’ มันถึงจะขายได้ คนถึงจะยอมเสียเงินไปดู
อีกด้าน สิ่งที่ ‘ไม่มีให้ดูในทีวี’ นั้นก็ได้รับการตอบสนองจากหนังต่างประเทศจากฝั่งยุโรป ที่มีฉากทั้งโป๊เปลือย รุนแรง และมียาเสพติดครบ (แน่นอนมีฉาก ‘รักร่วมเพศ’ เช่นกัน) และตรงนี้ก็เข้าใจว่า หนังพวกนี้ ‘เข้าโรง’ ได้แน่นอนในพวกรัฐที่หัวเสรีๆ หน่อย เพราะอย่างที่บอก Hays Code มันไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นข้อห้ามของทางอุตสาหกรรมภาพยตร์อเมริกันตั้งมาห้ามกันเองเท่านั้น
ซึ่ง ‘เงิน’ ก็อยู่ในรัฐที่หัวเสรีๆ และเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกายุคนั้นก็เป็นพวกหัวเสรีทั้งนั้น และ ‘ภาพยนตร์อเมริกัน’ ก็สู้พวกภาพยนตร์ยุโรปไม่ได้เลยในตลาดพวกนี้
ทางสตูดิโอก็เลยเริ่มสู้กลับ เริ่มลักไก่ไม่ทำตามข้อกำหนดบางข้อบ้าง บางทีก็ไปต่อรองให้ทางสมาคมหยวนๆ หรือประกาศข้อยกเว้นมาชัดๆ เลย
สุดท้าย บรรยากาศภาพยนตร์อเมริกันยุคทศวรรษ 1960 ก็ ‘เสรี’ ขึ้นเรื่อยๆ ในทุกด้าน และคงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากถึงเรื่อง ‘การปฏิวัติทางเพศ’ ของวัยรุ่นยุคนี้
นอกจากนี้ ในทางกฎหมายมีการแก้รัฐธรรมนูญให้ยุติกฎหมายแบ่งแยกเชื้อชาติทั้งอเมริกา ดังนั้นพวกข้อห้ามคนต่างเชื้อชาติแต่งงานกันที่เป็นกฎหมายในบางรัฐก็ต้องยกเลิก และข้อกำหนดใน Hays Code ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไม่ยกเลิกตาม
ในที่สุดปลายทศวรรษ 1960 Hays Code ก็เป็นเพียงแค่ระเบียบของพวกคนแก่คลั่งศาสนาในอดีตที่ตกยุคไปแล้ว และก็ไม่มีใครปฏิบัติตาม ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เกิดระบบ ‘เรตติ้ง’ ที่ใช้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 1968 จนถึงทุกวันนี้ เพราะสุดท้ายถึงผู้ใหญ่จะดูหนังอะไรก็ได้ แต่เด็กๆ ก็ต้องได้รับการปกป้องจาก ‘ความรุนแรง’ อยู่ดี และระบบเรตติ้งมันเลยเป็นคำตอบที่ดีกว่าในการรักษาความอิสระของการ ‘ทำหนัง’ เอาไว้
ทั้งนี้ แม้ว่าอเมริกาจะเลิกใช้ Hays Code มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ ‘การต่อสู้’ ก็ยังมีอยู่ เช่น ข้อห้ามใน Hays Code ไม่มีแล้วในยุคทศวรรษ 1990 แต่การแสดงตัวละคร ‘คู่รักต่างเชื้อชาติ’ หรือกระทั่ง ‘คู่รักเพศเดียวกัน’ ก็ยังไม่ค่อยปรากฏในสื่อ ซึ่งเอาจริงๆ ก็ต้องรอจน Netflix ออกทุนทำหนังและซีรีส์นี่แหละ ตัวละครพวกนี้ถึงออกมาเยอะไปหมด จนบางทีเราอาจจะรู้สึกว่ามันจะอะไรนักหนา
ซึ่งเราก็ต้องไม่ลืมว่า สังคมอย่างอเมริกันกดสิ่งเหล่านี้มายาวนานเหมือนกัน พอมัน ‘ระเบิด’ ออกมาที ก็เลยจะดู ‘ล้นๆ’ หน่อย และอาจต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่า ‘ความพอดี’ จะมาถึง
อ้างอิง
- ACMI. Early Hollywood and the Hays Code. https://bit.ly/3c85ckc
- NPR. Remembering Hollywood’s Hays Code, 40 Years On. https://n.pr/3AGJxK4
- Wikipedia. Motion Picture Production Code. https://bit.ly/3yASBO4