“เราไม่อยากให้เด็กต้องร้องไห้กับเรื่องนี้” ‘อ้อย อัญมณี’ ทีมงานคลองเตยดีจัง หนึ่งในผู้สร้างพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชนสำหรับเด็กในย่านคลองเตย
ถ้าเอ่ยถึง ‘คลองเตย’ หลายคนอาจนึกถึงชุมชนแออัด ทั้งที่พื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน แต่ภาพจำของคลองเตยในฐานะชุมชนแออัดที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศนี้ ก็อาจเป็นภาพสะท้อนการจัดการปัญหาชุมชนแออัดของประเทศไทยได้อีกมิติหนึ่งเช่นกัน
‘อ้อย–อัญมณี คงคูณ’ เป็นอีกหนึ่งคนที่สะท้อนภาพนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะเธอคือหนึ่งในทีมงาน ‘คลองเตยดีจัง’ กลุ่มอาสาสมัครที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนดนตรีให้กับเหล่าเด็กๆ ภายในกลุ่มชุมชนย่านคลองเตยกว่า 9 ชุมชน ซึ่งเธอจะมาพูดคุยถึงการสร้างสรรค์ชุมชน ให้มีชีวิตชีวา เพื่อแสดงให้เห็นอีกมุมของคลองเตย ที่ใครหลายคนอาจจะมองข้าม
“ย้อนกลับไปสิบปีที่แล้ว ช่วงแรกที่จะเข้ามาทำกิจกรรมที่คลองเตย ยอมรับว่ามีความกลัวอยู่เหมือนกัน ด้วยเรื่องของข่าวต่างๆ ที่ออกมาทางสื่อเยอะ ทั้งเรื่องยา เรื่องอาชญากรรม แต่พอได้เข้ามาคลุกคลีด้วยจริงๆ ผู้คนที่นี่เป็นสังคมใหญ่ที่ทุกคนก็รู้จักกันหมด พร้อมช่วยเหลือกันและกัน รวมถึงเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมร่วมกันก็ตั้งใจเรียนรู้ จากตอนนั้นที่เป็นอาสาสมัคร เข้ามาสอนดนตรีสัปดาห์ละครั้ง พออยู่กับเด็กๆ ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเข้ามาทำประจำ
“ซึ่งเราอยากแบ่งปันโอกาสที่เคยได้รับไปยังน้องๆ และเชื่อว่าทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทุกคนสามารถทำได้ เด็กทุกคนมีศักยภาพ อีกทั้งประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่เด็กๆ ทุกคนควรจะได้รับความเท่าเทียม อย่างเรื่องที่หลุดออกจากระบบการศึกษา พอมาคุยกับเด็กจริงๆ เขาไม่ได้อยากออก แต่ด้วยฐานะทางบ้านไม่เอื้อ จึงต้องออกมาทำงานเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวแทน
“เด็กทุกคนมีช่วงจังหวะของชีวิตตัวเองที่ไม่เหมือนกัน ทว่าพวกเราทีมคลองเตยดีจังไม่ได้มองตัวเองเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก แต่อย่างน้อยได้ทำอะไรบางอย่างที่พอจะทำได้ เพื่อให้พวกเขามีทางเลือกหลายทาง ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา หรือเรื่องอาชีพการทำงาน เหมือนอยากเติมเต็มอยากคอยซัปพอร์ตให้พวกเขามากกว่า
“อีกทั้งเรายังอยากเป็นผู้สื่อสาร ว่าจริงๆ เด็กๆ มีทักษะการเอาตัวรอดสูงมาก สามารถเรียนรู้ได้เร็ว อาจจะมีบ้างที่ต้องปรับ เพียงแต่บ่อยครั้งพวกเขาแค่ไม่เคยได้ลองทำ บางคนอาจจะคิดว่าเด็กคลองเตยทำไม่ได้ เราจึงต้องเรียนรู้พวกเขาเหมือนกัน เพราะมนุษย์เท่ากันหมด ไม่ได้แตกต่าง ไม่ได้พิเศษหรือแย่กว่าใคร อยู่แค่ที่ว่าเราจะมองยังไง
“สำหรับการเปลี่ยนแปลงในย่านชุมชนที่ทีมทำงานเป็นหลัก ก็กำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทีละนิด ด้วยผู้นำชุมชนและลูกบ้านในชุมชนเองที่ค่อนข้างมีความเข้มแข็ง มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลง และพัฒนาชุมชนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เลยทำให้คลองเตยได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ เพียงแค่ไม่ได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที
“ปัจจุบันคลองเตยดีจังทำงานด้านการดูแลเด็กเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ เราอยากมีหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทของเด็กๆ จริงๆ อยากลดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลน้องๆ ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ในอนาคตเราหวังว่าจะลดจำนวนเด็กๆ ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้มากขึ้นอีกสักหน่อยก็ยังดี
“สุดท้ายอยากให้ทุกคนได้ลองเข้ามาทำความรู้จักกับผู้คนในชุมชนจริงๆ ทั้งชุมชนคลองเตย และชุมชนอื่นๆ เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนไม่เหมือนกัน สิ่งภายนอกที่เราเข้าใจว่าพวกเขาเป็น เช่น เรื่องยา ความรุนแรง หรืออาชญากรรม อาจไม่ใช่ทั้งหมดของทุกคน เหมือนกับเด็กบางคน ถึงภายนอกเขาจะดูก้าวร้าว แต่ข้างในก็อ่อนแอมากๆ ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่”
– ‘อ้อย’ อัญมณี คงคูณ
ทีมงานคลองเตยดีจัง