2 Min

รู้ไหมว่า สัตว์จริงๆ ตามธรรมชาติที่มี “สามกีบ” คือตัวอะไร?

2 Min
15014 Views
01 Aug 2021

สามกีบ หากใครติดตามการเมืองไทยคงคุ้นคำนี้ หลังมีคนบัญญัติมาใช้เรียกคนรุ่นใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยต้านเผด็จการที่มีสัญลักษณ์สำคัญคือการชูสามนิ้ว

ณ ตรงนี้ เราคงไม่พูดพาดพิงการเมือง แต่เราอยากจะพิจารณาคำว่าสามกีบในมิติของสัตว์ในธรรมชาติว่า มันคือตัวอะไร?

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ฝ่ายที่ใช้คำว่าสามกีบเป็นคำด่าอาจจะคิดว่าคำนี้หมายถึงวัวควาย ถ้าใครคิดเช่นนั้น จงเลิกเสีย เพราะตามหลักชีววิทยา วัวควายนั้นเป็นสัตว์สองกีบ

แล้วตัวอะไรล่ะมีสามกีบ”?

เอาล่ะ เรามาเริ่มบทเรียนชีววิทยากันหน่อย

การแบ่งสัตว์ตามกีบเท้ามนุษย์แบ่งมาแต่โบราณแล้ว ซึ่งบันทึกเก่าแก่ทางศาสนาอย่างคัมภีร์โตราห์ของชาวยิว (ซึ่งเป็น 5 บทแรกของพระคัมภีร์เก่าของชาวคริสต์) ก็มีบทบัญญัติที่สำคัญของโมเสสว่า ชาวยิวจะกินได้เฉพาะสัตว์ที่เคี้ยวเอื้องและมีสองกีบเท่านั้น เคี้ยวเอื้องอย่างเดียวกินไม่ได้ มีกีบมากหรือน้อยกว่าสองกีบ ก็กินไม่ได้

และชาวยิวก็ถือบทบัญญัตินี้มาจนถึงปัจจุบัน (ทั้งนี้ ข้อกำหนดว่าคนยิวกินตัวอะไรได้บ้างละเอียดมากนะครับ ไม่ขอพูดในที่นี้)

แต่นี่ก็เป็นการแบ่งหลวมๆ ตามหลักศาสนา และต้องรออีกเป็นพันปีกว่านิยามชัดๆ ว่ากีบคืออะไรให้เป็นระบบระเบียบแบบวิทยาศาสตร์?

คือในทางชีววิทยา โดยทั่วไปสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดมีนิ้ว 5 นิ้ว แต่สัตว์แต่ละชนิดที่เดิน 4 ขาไม่ได้ใช้ทั้ง 5 นิ้วรับน้ำหนักหรือสัมผัสกับพื้นตอนยืน แต่จะใช้แค่บางนิ้ว ซึ่งพวกสัตว์ 4 ขาที่เอานิ้วสัมผัสพื้นทั้งหลายก็พัฒนานิ้วให้รับน้ำหนักให้เยอะ จนออกมาในรูปแบบกีบ ซึ่งสัตว์ทั้งหมดนี้เรียกรวมๆ ว่าสัตว์กีบ” (Ungulate)

สัตว์กีบนั้นมีมากมายในโลก วัว ควาย หมู ยีราฟ อูฐ กวาง ล้วนเป็นสัตว์กีบทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ในศตวรรษที่ 19 นักชีววิทยาชาวอังกฤษชื่อ Richard Owen เกิดความคิดว่าสัตว์พวกนี้น่าจะแบ่งได้ละเอียดขึ้นอีกตามสายพันธุ์ เขาเลยเป็นคนแรกในโลกที่เสนอให้แยกระหว่างสัตว์กีบคู่ (even-toed ungulate) และสัตว์กีบคี่ (odd-toed ungulate)

ซึ่งสัตว์กีบคู่ก็คือพวก วัว ควาย หมู ยีราฟ อูฐ กวาง นี่แหละ พวกนี้ไปดูจะพบว่ามันมีกีบ 2 หรือ 4 กีบทั้งนั้น

แต่ที่น่าสนใจคือ พวกสัตว์กีบคี่นี่แหละ เพราะมีน้อยมากแค่ 3 ชนิดในโลก

สัตว์กีบคี่ที่คนยุโรปรู้จักดีคือ ม้า (รวมไปถึงลา และม้าลาย) คือมันเป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลกที่มีกีบเดียว

แต่อีก 2 ชนิดที่เหลือนี่แหละน่าสนใจ เพราะมันเป็นสัตว์ที่ไม่มีในยุโรป และคนยุโรปน่าจะเพิ่งรู้จักทั่วไปว่ามีสัตว์อะไรพวกนี้อยู่ในโลกช่วงยุคล่าอาณานิคม และที่สำคัญ พวกมันมีสามกีบ

สัตว์สองชนิดที่ว่าที่มีสามกีบได้แก่แรดและสมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์พื้นถิ่นทางแอฟริกาและเอเชียใต้ ไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และนี่ก็คือบรรดาสามกีบตามหลักชีววิทยา ซึ่งสัตว์พวกนี้เราไม่ค่อยเห็นหรอก เพราะหายากมากๆ เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทั้งนั้น

ซึ่งก็อย่าว่ายังงั้นยังงี้เลย สามกีบอาจไม่ใช่แค่แรร์เพราะอาจจะระดับเลเจนดารี่เลยทีเดียว เนื่องจากสัตว์ในตำนานอย่างยูนิคอร์นเนี่ย ยุคหลังๆ คนเริ่มสงสัยกันแล้วว่า มันไม่ใช่ม้าแบบที่พวกคนกรีกเข้าใจกัน แต่มันคือแรดและคนกรีกคิดว่ามันคือม้ามีเขาเพราะคนกรีกไม่เคยเห็นแรดมาก่อน

และในแง่นี้ เราก็อาจเรียกได้ว่า ถ้าจะว่ากันตามหลักฐานวิทยาศาสตร์แล้ว ถ้ายูนิคอร์นมีตัวตนจริงๆ มันก็คงจะมีสามกีบนี่แหละ