มีใครตื่นนอนได้ทันทีหลังนาฬิกาปลุกดังบ้าง?
เชื่อว่าหลายคนคงทำไม่ได้และชอบกดปุ่ม ‘Snooze’ เพื่อกลับไปนอนต่อกัน บางคนอาจจะคิดว่าขอนอนต่ออีกสัก 5 – 10 นาทีเองคงไม่เป็นไรหรอก แต่ที่จริงแล้วการกดปุ่ม Snooze เพื่อเลื่อนเวลาตื่นนอนไปเรื่อยๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่เราคิด
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับวงจรการนอนหลับ (Sleep cycle) ของคนเรากันก่อน วงจรการนอนหลับมีทั้งหมด 4 ช่วงด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็น
- Awake (N1) : ช่วงเริ่มง่วง เราจะยังรู้สึกตัวอยู่แต่ก็เริ่มงัวเงีย
- Light sleep (N2) : ช่วงเคลิ้มหลับ ช่วงนี้จะหัวใจจะเต้นช้าลงและเริ่มหายใจช้าลง
- Deep sleep (N3) : ช่วงหลับลึก ช่วงนี้ร่างกายแทบจะไม่รู้สึกตัวแล้ว ปลุกยาก ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการนอนหลับแบบธรรมดากับนอนหลับฝัน
- REM (R) : ช่วงหลับฝัน ช่วงนี้เราจะเริ่มฝันเพราะสมองตื่นตัวทั้งๆ ที่หลับอยู่ และการเต้นของหัวใจก็เร็วขึ้นด้วย
วงจรการนอนหลับของเราก็จะวนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งคืนประมาณ 4-5 รอบ ซึ่งการกดปุ่ม Snooze เป็นการขัดขวางวงจรการนอนหลับของเรา พอเราตื่นขึ้นมาเพราะเสียงนาฬิกาปลุกแล้วกดปุ่ม Snooze กลับมานอนต่อใหม่อีกรอบ จะทำให้วงจรการนอนหลับต้องเริ่มนับใหม่ตั้งแต่ต้น และก็จะโดนขัดจังหวะให้ตื่นอีกรอบใกล้ช่วง Deep sleep (N3) ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายของเรารู้สึกเพลียและงัวเงียที่สุด แทนที่จะได้ตื่นด้วยความสดชื่นจะกลับกลายเป็นว่าเรานอนไม่เต็มอิ่ม
แต่ผลเสียของการกดปุ่ม Snooze ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น นอกจากจะเลื่อนเวลาตื่นนอนให้เราตื่นสายขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ถ้าเราทำแบบนี้บ่อยๆ จะส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมาในระยะยาวอีกด้วยเช่น ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย เหนื่อยไว ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ค่อยดี
เมื่อรู้แบบนี้แล้วถ้าเราฝึกนิสัยตื่นนอนให้ตรงเวลาและพยายามไม่กดปุ่ม Snooze บ่อยๆ อาการนอนไม่เต็มอิ่มของเราก็จะดีขึ้น ถ้าไม่รู้จะห้ามใจตัวเองยังไง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้วางนาฬิกาปลุกหรือโทรศัพท์มือถือไว้ไกลตัวแบบที่เราต้องลุกขึ้นเดินไปปิด จะเป็นวิธีที่จะทำให้เราตื่นนอนได้ทันที ซึ่งวิธีนี้ผู้เขียนเองก็ทำอยู่และรับรองได้เลยว่าได้ผลจริง
อ้างอิง
- Oura. What Are The Stages Of Sleep? https://bit.ly/3eX62OY
- Exploring your mind. How Snoozing Affects You In the Morning. https://bit.ly/3pX0fz0