‘ฝันสลาย’? ชาวเกาหลีเหนือบางรายแปรพักตร์ขอกลับประเทศ เพราะชีวิตในเกาหลีใต้ไม่เป็นอย่างที่คิด
ตั้งแต่ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีสิ้นสุดลงเมื่อปี 1953 เกาหลีเหนือและใต้ถูกแยกจากกัน ชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากต้องประสบพบเจอกับปัญหามากมายที่ตามมาภายใต้การปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นความอดอยากไม่มีจะกิน หรือปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างหนัก
มีผู้คนชาวเกาหลีเหนือกว่า 300,000 ราย หลบหนีออกจากประเทศ และมีประมาณ 30,000 รายที่ลี้ภัยมาตั้งรกรากใหม่ในเกาหลีใต้นับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา เพราะช่วงนั้นเป็นยุคที่เกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเผด็จการสู่รัฐบาลประชาธิปไตย และมีนโยบายเปิดรับกับช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเกาหลีเหนือที่ต้องการหลบหนีจากชีวิตอันโหดร้ายที่ต้องพบเจอ และตามหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า
ผลสำรวจประชากรเกาหลีเหนือที่หลบหนีมาอยู่เกาหลีใต้กว่า 3,000 คน ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือและเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ระบุถึงสาเหตุการอพยพว่ากว่า 22 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม ประสบกับภาวะอดอยาก ขาดแคลนอาหาร และกว่า 23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เยอะที่สุด ระบุว่าเป็นเพราะถูกควบคุมและจับตามองจากระบอบการปกครองเกาหลีเหนือ จึงเป็นสาเหตุทำให้ต้องหลบหนี
ถึงแม้จะมีมาตรการรองรับผู้ที่อพยพมาเกาหลีใต้เพื่อการปรับตัว แต่ชีวิตของชาวเกาหลีเหนือลี้ภัยที่ถูกเรียกว่า ‘ผู้แปรพักตร์’ (defector) ไม่ได้ง่ายอย่างที่วาดฝันเอาไว้ มิหนำซ้ำยังต้องพบเจอกับปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต การทำงาน หรือแม้กระทั่งภาษาเกาหลีที่มีสำเนียงและคำศัพท์ต่างออกไป ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว
สิ่งที่ผู้อพยพชาวเหนือส่วนมากต้องพบเจอนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการหางานซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะผู้อพยพส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรที่มีการศึกษาค่อนข้างต่ำ ทำให้รายได้ที่พวกเขาได้รับนั้นน้อยเกินกว่าที่พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ไหวในสังคมเกาหลีใต้ที่ติดกลุ่มประเทศพัฒนาและมีค่าครองชีพสูง
การได้งานดีๆ ในเกาหลีใต้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เพราะแม้แต่ชาวเกาหลีใต้ที่มีการศึกษาที่ดีก็ยังเป็นเรื่องยาก และมีสถิติในปี 2020 ที่ถูกเปิดเผยโดยกระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้ ที่ระบุไว้ว่า ผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือมีอัตราการว่างงานสูงกว่าประชากรเกาหลีทั่วไป โดยมีอัตราสูงถึง 9.4 เปอร์เซ็นต์
ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวเมื่อปี 2019 ว่าผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือเสียชีวิตเพราะอดอยาก แม้ว่าพวกเขาจะได้มาตั้งรกรากใหม่ในเกาหลีใต้แล้วก็ตาม โดยกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นกับหญิงชาวเกาหลีเหนือที่ชื่อว่า ฮัน ซังอ๊ก (Han Sang-ok) ซึ่งถูกพบเป็นศพพร้อมกับลูกชายวัย 6 ขวบของเธอ ผู้แจ้งเหตุคือเจ้าของอะพาร์ตเมนต์ที่สังเกตว่าเธอไม่ได้จ่ายค่าน้ำค่าไฟนานแล้ว จึงเข้าไปตรวจสอบและพบศพที่เสียชีวิตนานแล้วจนเริ่มย่อยสลาย ขณะที่ตู้เย็นภายในห้องว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย สะท้อนได้ว่าสภาพความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือที่อพยพลี้ภัยมาไม่ได้ราบรื่นนัก
รายงานขององค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยระบุว่า หลายครั้งผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือก็ถูกตีตราจากสังคมเกาหลีใต้ อีกทั้งยังมีการทารุณกรรม การแบ่งแยก และการถูกบังคับต่างๆ เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภ้ยจากเกาหลีเหนือ เพราะกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิงซึ่งมักจะถูกนายจ้างปฏิบัติด้วยไม่ดีนัก และบางครั้งถูกบังคับให้ค้าประเวณี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก
ชาวเกาหลีเหนือที่อพยพมาเกาหลีใต้บางคนนั้น ‘ไม่มีเพื่อนมากนัก’แม้ว่าจะย้ายมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้พวกเขามักคิดถึงครอบครัวที่อยู่ในบ้านเกิด แต่ด้วยระบบกฎหมายของเกาหลีใต้ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวของพวกเขาในเกาหลีเหนือได้ พวกเขาต้องต่อสู้กับทั้งวัฒนธรรม ระบอบทุนนิยม และภาษาที่แตกต่างจากที่เคยใช้สมัยอยู่เกาหลีเหนือ
และไม่ใช่ทุกคนที่มาโดยความเต็มใจ มีคนบางคนถูกหลอกให้มา โดยไม่มีการบอกกล่าวก่อนว่าจะไม่สามารถกลับบ้านได้อีก ยกตัวอย่างกรณี คิม รยอนฮวี (Kim Ryon-Hui) หญิงวัย 54 ปี ที่ได้เดินทางจากเกาหลีเหนือไปประเทศจีนเพื่อรักษาโรคตับ แต่กระนั้นแพทย์ชาวจีนก็ได้ให้เธอจ่ายเงินล่วงหน้าในการรักษา นายหน้าของเธอจึงได้บอกให้เธอนั้นไปหาเงินเพื่อทำการรักษาที่เกาหลีใต้ โดยยึดหนังสือเดินทางไว้เพื่อไม่ให้เธอหลบหนีได้ และไม่ยอมบอกกับเธอก่อนว่าจะไม่สามารถกลับไปยังเกาหลีเหนือได้อีกแล้ว
เมื่อมาถึงเกาหลีใต้ คิมต้องประสบกับแรงกดดันต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น หรือความเหงาจากการพลัดพรากจากครอบครัวตนเอง หากเธออยากกลับไปหาครอบครัวมีทางเดียวนั่นคือการลักลอบกลับไป ซึ่งเธอได้กล่าวว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเกาหลีใต้นั้นเหมือนกับ ‘น้ำที่ถูกผสมอยู่ในน้ำมัน’ ซึ่งไม่สามารถเข้ากันได้เลย
ผู้แปรพักตร์หลายคนมีหนี้ก้อนโตที่ต้องจ่ายให้กับนายหน้า สำหรับการพาลักลอบข้ามชายแดนทำให้พวกเขาต้องหาเงินมาใช้หนี้ที่กองเท่าภูเขา ทำให้ความคาดหวังที่จะมาใช้ชีวิตที่สะดวกสบายในเกาหลีใต้ไม่เป็นอย่างที่วาดฝันเอาไว้
ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ที่เลือกจะกลับไปสู่ประเทศเดิมที่หนีมาในตอนแรก ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็มีให้เห็นอยู่ประมาณ 30 ราย ยกตัวอย่างกรณีของ คิม อูจอง (Kim Woo-jeong) อดีตนักยิมนาสติกเกาหลีเหนือ ซึ่งต้องกลายมาเป็นแรงงานก่อสร้างตอนที่อยู่ฝั่งเกาหลีใต้ ทำให้เขาเป็นคนหนึ่งที่หนีกลับไปเกาหลีเหนือ ซึ่งก็ไม่มีการระบุเป็นที่แน่ชัดว่าหลังจากที่เขากลับไปแล้วยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องนำกลับมาตั้งคำถามว่ามาตรการในการดูแลของรัฐบาลเกาหลีใต้เพื่อการปรับตัวให้กับผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือเป็นมาตรการที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีตามคาดจริงหรือไม่ เพราะผู้แปรพักตร์อาจจะสงสัยว่าตนเองคิดถูกแล้วหรือไม่ที่เลือกลี้ภัยมาเกาหลีใต้ เมื่อต้องเผชิญกับความทรหดในการใช้ชีวิตที่ยากลำบากไม่แพ้กัน
อ้างอิง
- CNN. Why some North Korean defectors return to one of the world’s most repressive regimes. https://cnn.it/34ZivAd
- The conversation. The North Korean who went home: many defectors struggle against discrimination in the South. https://bit.ly/3peim2R