การศึกษาพบ ฝันร้ายเป็นประจำ เสี่ยงขิตก่อนวัยอันควร เข้าใกล้ความตายมากกว่าคนไม่ฝันร้ายถึง 3 เท่า
ใครจะไปคิดว่า ‘ความฝัน’ อาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนเราได้ ทั้งฝันว่าโดนไล่ฆ่า ฝันว่าหนีซอมบี้ ฝันเห็นผี หรือฝันถึงประสบการณ์แย่ๆ ในอดีต รวมถึงสารพัดฝันร้ายที่เคยมาหลอกหลอนเรากลับไม่ได้หายไปเมื่อตื่นขึ้น แต่มันกำลังบ่อนทำลายสุขภาพเราทุกครั้งที่หลับตาฝันเห็น
ดร.อาบีเดมี โอตาอิคู (Dr. Abidemi Otaiku) นักประสาทวิทยาจากภาควิชาวิทยาศาสตร์สมองแห่ง Imperial College London เผยว่า สมองของเราขณะหลับไม่สามารถแยกแยะความฝันออกจากความจริงได้ และความกลัวที่เราพบเจอในฝันร้าย ก็คือความกลัวที่ร่างกายตอบสนองราวกับมันเกิดขึ้นจริง
จากการศึกษาของโอตาอิคูและทีมวิจัยที่วิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใหญ่มากกว่า 183,000 คน อายุระหว่าง 26-86 ปี และเด็กกว่า 2,400 คน อายุ 8-10 ปี พบว่า ผู้ใหญ่ที่นอนฝันร้ายประจำทุกสัปดาห์ มีโอกาสเสียชีวิตก่อนอายุ 70 ปี มากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า ซึ่งตัวเลขนี้ทำให้ฝันร้ายกลายเป็น ‘ตัวทำนายการเสียชีวิตก่อนวัย’ ที่รุนแรงยิ่งกว่าการกินอาหารแย่ๆ การไม่ออกกำลังกาย หรือแม้แต่การสูบบุหรี่
เพราะฝันร้ายไม่ใช่แค่ความฝันเลวร้าย แต่มันยังไปกระตุ้นระบบสู้หรือหนี (fight-or-flight response) ให้ตื่นตัวแบบเดียวกับเวลาที่เรากำลังเอาชีวิตรอดจากภัยอันตรายจริงๆ ทั้งหัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก หายใจติดขัด และระดับคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียดก็พุ่งสูงขึ้น แม้ร่างกายจะยังนอนอยู่บนเตียงก็ตาม
ในงานวิจัยเดียวกันนี้ นักวิจัยได้ตรวจสอบการแก่ตัวทางชีวภาพของร่างกายผู้ร่วมทดลองผ่านความยาวของ ‘เทโลเมียร์’ (telomere) ซึ่งเป็นปลายของโครโมโซมที่หดสั้นลงเรื่อยๆ เมื่อเราอายุมากขึ้น โดยเทโลเมียร์ที่สั้นลงมักสัมพันธ์กับโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็งหรือโรคหัวใจ
ผลปรากฏว่าคนที่มีฝันร้ายเป็นประจำมีเทโลเมียร์สั้นกว่าคนทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ และมีความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยสูงขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสะท้อนว่าร่างกายของพวกเขากำลังแก่เร็วขึ้นจริงๆ จากความเครียดสะสมและการถูกรบกวนการนอนซ้ำๆ
โอตาอิคูอธิบายว่า ระดับคอร์ติซอลที่สูงเป็นระยะเวลานานจากฝันร้ายเรื้อรัง อาจเร่งให้เซลล์แก่ตัวเร็วกว่าปกติ ในขณะเดียวกัน ฝันร้ายก็รบกวนคุณภาพการนอนอย่างรุนแรง ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้เต็มที่ในช่วงกลางคืน และกระบวนการซ่อมแซมเซลล์ก็ถูกขัดขวางอย่างต่อเนื่อง
แม้แต่คนที่มีฝันร้ายแค่เดือนละครั้ง ก็ยังพบว่ามีความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกรณีของฝันร้ายทุกสัปดาห์ ที่ถือเป็นสัญญาณอันตรายมากที่สุด
สิ่งที่น่าสนใจคือ ความสัมพันธ์ระหว่างฝันร้ายกับอัตราการตายนี้เกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับอายุ เพศ เชื้อชาติ หรือสภาพจิตใจพื้นฐาน ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ฝันร้ายก็สามารถส่งผลต่อร่างกายของคุณได้เหมือนกัน
คำถามสำคัญจึงไม่ใช่แค่ว่า “เมื่อคืนฝันอะไร” แต่เป็น “เมื่อคืนร่างกายของคุณต้องต่อสู้กับความกลัวมากแค่ไหน”
โอตาอิคูย้ำว่า สังคมควรเริ่มมองฝันร้ายอย่างจริงจังในฐานะปัญหาด้านสาธารณสุข เพราะฝันร้ายเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย และสามารถป้องกันหรือรักษาได้ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงภาพยนตร์หรือเนื้อหาหลอนๆ การจัดการความเครียด รักษาสุขภาพการนอนให้ดี ไปจนถึงการเข้ารับการบำบัดสำหรับคนที่มีภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำว่า การเข้านอนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และคาเฟอีนก่อนนอน จดบันทึกความกังวลออกมา และสร้างบรรยากาศก่อนนอนให้ผ่อนคลาย คือสิ่งง่ายๆ ที่อาจช่วยคุณให้พ้นจากฝันร้าย และอาจหมายถึงการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นด้วย
บางทีการนอนหลับฝันดี ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของความสุข แต่เป็นการดูแลชีวิตของคุณไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย
อ้างอิง:
- Your nightmares are scary — and putting you in an early grave: study https://shorturl.asia/Y50Mu