6 Min

คุยกับ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ ถึงชีวิตผู้คน และการแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านความเป็นเมืองยุคใหม่

6 Min
1290 Views
14 Mar 2022

ทุกวันนี้ความเป็นเพื่อนบ้านหรือความเป็นชุมชนนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่คนในสังคมให้ความสำคัญมากนัก เพราะคนเราตื่นเช้ามาก็รีบเดินทางไปทำงาน เสร็จแล้วก็กลับบ้านเพื่อพักผ่อนนอนหลับนอนพักผ่อน เตรียมตัวตื่นขึ้นไปทำงานในวันต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้หลายคนอาจไม่มีเวลามากพอที่จะทำความรู้จักกับสิ่งต่างๆ รอบตัวให้ดียิ่งขึ้น

ถ้าจะให้สรุปอย่างง่าย ชีวิตของใครหลายคนในยุคนี้ถูกทำให้กลายเป็นการทำงานหาเงินมากกว่าจะเป็นการใช้ชีวิตและทำความรู้จักพื้นที่รวมไปถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันกับเรา

คำถามที่ตามมาคือ แล้วเราอยากมีสังคมหรือชุมชนแบบไหน? แบบที่ต่างคนต่างใช้ชีวิตของตัวเอง ไร้ซึ่งการปฏิสัมพันธ์กัน หรือจะเป็นแบบที่ต่างคนต่างรู้จักกันและคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันในด้านต่างๆ

‘ฮามิช’- ฮามิช มัสอิ๊ด และ ‘โจ้’-ประเสริฐศักดิ์ แก้วสง่า ผู้อยู่เบื้องหลังเพจ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ มีความคิดเห็นชัดเจนต่อเรื่องนี้นั่นก็คืออยากเห็นชุมชนอารีย์เป็นอย่างหลัง

จากคำอธิบายของทั้งคู่ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ คือสื่อกลางที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของผู้คนในย่านอารีย์ผ่านการพูดคุยกันในฐานะเพื่อนบ้านของกันและกัน โดยให้ความสำคัญกับทุกคนและทุกเรื่องราวอย่างเท่าเทียมกัน หรือในภาษาของเพื่อนบ้านอารีย์ก็คือการ ‘วางทุกชีวิตไว้บนระนาบเดียวกัน’

ในโอกาสนี้ เราอยากแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับเพจ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ ผ่านมุมมองและแนวคิดของฮามิชและโจ้ว่า ความเป็นชุมชนและการมีปฏิสัมพันธ์กันของคนในสังคมนั้นสำคัญอย่างไร ปัญหา Gentrification หรือ ‘การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านความเป็นเมืองยุคใหม่’ ส่งผลอย่างไรต่อความเป็นชุมชน และเหตุผลว่าชุมชนต้องมีกลุ่มที่ทำหน้าที่เหมือนหรือคล้ายกับ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’

จุดเริ่มต้นในการทำเพจ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’

ฮามิช: เรากับโจ้เคยทำงานประจำมาก่อน อย่างเราก็ทำงานลักษณะเขียนคอนเทนต์ ส่วนโจ้ก็ทำงานกราฟิก สำหรับโจ้ก็จะเหนื่อยหน่อยเพราะยังทำงานประจำอยู่ เพื่อนบ้านอารีย์เป็นเหมือนงานเสริมของโจ้ ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้เราหันมาทำเพจเพื่อนบ้านอารีย์สำหรับเราคือสถานการณ์โควิด-19 มันทำให้รู้ตัวว่าเราไม่ชอบการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เรากำหนดทิศทางการทำงานของตัวเองไม่ได้ แล้วเราก็รู้สึกเหนื่อยและเครียดจนต้องเข้ารับการรักษาโรค Anxiety Disorder ในช่วงนั้นด้วย

พอเครียดก็ชอบเดินไปไหนมาไหนให้ตัวเองได้เห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวและเปิดโอกาสให้ตัวเองได้คิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เห็นระหว่างการเดินของเรา แล้วก็มาถึงจุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกตัวว่าเราอยู่ที่อารีย์มาตั้ง 5 ปี แต่เราไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนแถวนี้เลย เราอาศัยอยู่ในหัวตัวเองมาตลอด ชีวิตมีแค่การออกจากคอนโดเพื่อขึ้นบีทีเอสแล้วเดินทางไปที่ทำงานเท่านั้น พอรู้แบบนี้แล้วก็เลยเริ่มลองฝึกพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับคนในอารีย์มากขึ้น เพราะรู้สึกว่าจะเรียกตัวเองเป็นคนในชุมชนนี้ได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อเราได้รู้จักคนในชุมชน

โจ้: การอยู่ในคอนโดก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่รู้จักหรือไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวเลยด้วย

ฮามิช: แต่พอเราได้ไปเห็นคนที่อาศัยอยู่ในแฟลตอย่างแฟลตพิบูลย์วัฒนา เราก็จะได้เห็นความเป็นชุมชนที่คนทุกคนในที่ตรงนั้นมีปฏิสัมพันธ์กันและรู้จักเรื่องราวชีวิตของกันและกันจริงๆ

ฮามิช: สุดท้ายเราคิดว่ามันก็คงไม่พ้นเรื่องของการออกแบบคอนโดที่สร้างข้อจำกัด ทำให้คนที่อาศัยในคอนโดมีความลำบากมากขึ้นในการมีปฏิสัมพันธ์กันด้วย ลักษณะของคอนโดก็สะท้อนแนวคิดการอยู่อาศัยในแต่ละยุคสมัย อย่างคอนโดเก่าแบบบ้านยศวดีก็จะเห็นว่า ในห้องหนึ่งห้องก็จะมีหลายห้องนอน สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดว่าคอนโดต้องตอบโจทย์การย้ายมาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้แบบเป็นครอบครัว แต่คอนโดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้และในปัจจุบันมักจะมีลักษณะเป็นห้องเล็กๆ ห้องเดียว สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเพียงพื้นที่ที่เอาไว้ให้คนที่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองได้ใช้และสามารถเดินทางสะดวกขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับการใช้ชีวิตหรือการสร้างครอบครัวเหมือนแต่ก่อน

ทำไมต้อง ‘เพื่อนบ้าน’

ฮามิช: การใช้คำว่าเพื่อนบ้านมันไปไฮไลท์ความเป็นบ้านหรือความเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนี้ เพราะโดยปกติเวลาเรานึกถึงย่านอารีย์ เราก็มักจะคิดถึงความเป็นเมืองหรือความเป็นแหล่งท่องเที่ยวก่อน ก่อนที่จะมีร้านค้าแต่ละร้าน ร้านค้าเหล่านั้นก็เคยเป็นบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่มีประวัติศาสตร์มาก่อน หลายร้านก็เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและร้านค้าควบคู่กันไปเลยด้วย

‘อารีย์’ คืออะไรในมุมมองของฮามิชและโจ้

ฮามิช: คือมันเป็นบ้านและเป็นที่ทำงานของเรา เหมือนเราทำหน้าที่นำเสนอพื้นที่ตรงนี้ แล้วก็เป็นพื้นที่ที่มีเรื่องเล่าที่รอให้เราได้ศึกษาและนำไปสู่การเข้าใจพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น จะเรียกว่าเป็นโรงเรียนสำหรับเราก็ได้

โจ้: อารีย์สำหรับเราคือคนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนี้ เพราะเรา (เพจเพื่อนบ้านอารีย์) โฟกัสที่ ‘คน’ มากกว่าพื้นที่

สิ่งที่เพื่อนบ้านอารีย์อยากจะทำให้ชุมชนอารีย์หรือชุมชนอื่นๆ ในเมืองไทย

ฮามิช: เรามีสามอย่างที่อยากทำ

  1. คอมมูนิตี้ ก็คือการศึกษาความหลากหลายของคนที่นี่ ทำให้คนได้รู้จักและเข้าใจความหลากหลายของกันและกัน ให้เขาได้สนุกกับประวัติศาสตร์และเรื่องเล่ารอบบ้านตัวเอง
  1. สิ่งแวดล้อม ด้วยการร่วมมือกับกลุ่มอื่นๆ ที่มีเป้าหมายในการแก้ไขและพัฒนาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องของการทำปุ๋ยจากอาหารเหลือทิ้งไปจนถึงการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าแทนที่จะเอาไปทิ้ง อะไรแบบนี้ 
  1. ศิลปะ การที่เราเอาประเด็นต่างๆ มาถ่ายทอดผ่านความเป็นศิลปะ เพราะเรามองว่าบางทีการสร้างความตระหนักในบางสิ่งบางอย่างไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นผ่านการสื่อสารด้วยตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว

ศิลปะสำคัญอย่างไรต่อความเป็นชุมชน

ฮามิช: ศิลปะเหมือนเป็นปากเป็นเสียงที่ทำให้คนรู้สึกถึงอารมณ์อะไรบางอย่างได้มากกว่าตัวหนังสือ มันสามารถทำออกมาเป็น Public Art เป็นศิลปะจัดวาง วีดีโออาร์ท บทกวี กราฟฟิตี้ ภาพวาด อะไรได้มากมาย ทำให้คนดูรู้สึกมีความเป็นเจ้าของร่วมเวลาได้ดูงานศิลปะที่พูดถึงย่านของตัวเอง

การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนสำคัญอย่างไร

โจ้: ถ้าทุกคนใช้ชีวิตโดดเดี่ยวกันหมด ความเป็นสังคมหรือชุมชนก็คงจะหายไป ที่เราอยากให้คนในสังคมมีปฏิสัมพันธ์กันเพราะเราคิดว่าอยากรักษาคุณค่าตรงนี้เอาไว้ และการรู้จักกันก็สามารถสร้างประโยชน์ให้คนในสังคมได้ด้วย

อารีย์มีพื้นที่ให้คนที่มีรายได้น้อยอาศัยอยู่บ้างไหม

ฮามิช: จริงๆ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบเจอได้ทั่วโลกซึ่งเราเรียกกันว่า Gentrification อธิบายอย่างง่ายก็คือมีธุรกิจใหญ่ๆ ย้ายเข้ามาในพื้นที่ ทำให้มูลค่าของสิ่งต่างๆ ในพื้นที่นั้นพุ่งสูงขึ้นตาม ซึ่งรวมไปถึงค่าเช่าที่อยู่อาศัย ส่งผลให้คนที่เคยอยู่เดิมต้องย้ายออกไป เพราะรับค่าครองชีพไม่ไหว

ในต่างประเทศจะมีหน่วยงาน องค์กร หรือสภาชุมชนที่คอยจัดการกับปัญหา Gentrification อยู่ ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะนโยบายของรัฐ ในประเทศไทยเองจริงๆ ก็มีคณะที่ทำงานเกี่ยวกับเมืองอยู่ แต่ว่ามันเป็นคณะทำงานที่ไม่มีความหลากหลายและไม่ได้มีนโยบายของรัฐมาผลักดัน อย่างสภาชุมชนของต่างประเทศจะมีสมาชิกเป็นคนจากอาชีพที่หลากหลาย ตั้งแต่พนักงานเงินเดือนไปจนถึงนักออกแบบเมือง ที่อาศัยอยู่ในย่าน ทำให้เสียงของผู้อยู่ในย่านสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้มากกว่า

สุดท้ายนี้เรารู้ตัวดีว่าการขับเคลื่อนของคนเพียงไม่กี่คนนั้นมันไม่พอ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียกร้องให้รัฐบรรจุแนวทางการจัดการกับปัญหาต่างๆ เป็นนโยบายและนำไปสู่การจัดการกับปัญหาเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ

การเข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ทำให้ได้เห็นอะไรบ้าง

ฮามิช: ทำให้ได้เห็นว่าหลายครั้งคนเราไม่ว่าจะทำงานอะไรก็อยากจะมีพื้นที่ในการสื่อสาร เหมือนรอให้มีใครสักคนเข้าไปพูดคุยกับเขาเพื่อให้เรื่องเล่าชีวิตของตัวเองถูกนำเสนอ เพราะหลายครั้งเขาทำงานหามรุ่งหามค่ำตลอดจนไม่มีเวลาได้คิดทบทวนเรื่องราวและความรู้สึกในชีวิตตัวเอง

ฮามิช: มีครั้งหนึ่งได้ไปคุยกับยามคนหนึ่งมา เขาบอกว่าตัวเองทำงานโดยไม่เคยหยุดพักเลยมา 11 เดือนแล้ว เราก็ตกใจ พอยามเห็นรีแอคชั่นของเราเขาก็เริ่มรู้ตัวว่าสิ่งที่ต้องเจอนั้นมันไม่ปกติ

มองอนาคตของ ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ ไว้อย่างไรบ้าง

โจ้: อยากให้คนที่ติดตามเราอยู่รู้สึกแน่นแฟ้นหรือสนิทกับเรามากขึ้น พอตรงนี้มันดีแล้วก็อยากค่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมหรือเรื่องราวชีวิตคนให้กับคนในสังคมเป็นวงกว้าง

ฮามิช: ถ้าเกิดว่าใครอยากเอาไอเดียนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ก็ให้เอาไปทำได้เลย เราไม่ได้หวงและไม่อยากจะเก็บไอเดียนี้ไว้คนเดียว การที่เรามีคนติดตามประมาณ 10,000 คนก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

จากการสัมภาษณ์ทั้งหมด เราได้เห็นถึงความสำคัญหรือเหตุผลว่าทำไมชุมชนบางชุมชนในประเทศไทยจะต้องมีตัวกลางที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมผู้คนเข้าหากัน

ในปัจจุบันที่พื้นที่ต่างๆ มีความเป็นเมืองมากขึ้น หากไม่มีการควบคุมหรือดูแลโดยรัฐก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียหลายประการต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน การมาของความเป็นเมืองก็นำมาซึ่งลักษณะที่อยู่อาศัยที่มีการออกแบบที่เปลี่ยนไป อย่างที่ฮามิชได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สิ่งปลูกสร้างนั้นสะท้อนแนวคิดการใช้ชีวิตหรือการอยู่อาศัยของคนในสังคมได้ ทุกวันนี้คอนโดหรือที่อยู่อาศัยในเมืองมักจะมีลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนใหญ่มักจะถูกออกแบบให้มีไว้พักผ่อนหลังเลิกงานเท่านั้น

พอคนทำงานในอาชีพต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในพื้นที่นี้เป็นการชั่วคราว ธุรกิจต่างๆ ก็จะเข้ามาลงหลักปักฐานเพื่อหาเงินจากคนทำงานกลุ่มนี้ตาม แต่บ่อยครั้งคนทำงานพวกนี้มักจะไม่อยู่ในพื้นที่อย่างถาวรด้วยเหตุผลหลายประการ พอคนกลุ่มนี้ย้ายออกไปทำงานหรืออาศัยในพื้นที่อื่น คนที่อยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนหรือก็คือคนในชุมชนก็ถูกทิ้งให้อยู่กับสินค้าและบริการที่มีราคาสูงกว่าเดิม สุดท้ายผลลัพธ์ของ Gentrification ก็คือระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่ไม่ได้มีรายได้มากนักลดต่ำลง การใช้ชีวิตก็ลำบากมากขึ้น

‘เพื่อนบ้านอารีย์’ หรือกลุ่มที่เชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าหากันนั้นสามารถส่งเสริมให้คนในชุมชนมีศักยภาพในการช่วยเหลือกันและกัน แก้ไขปัญหาในชุมชน รวมไปถึงรวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐบรรจุมาตรการการจัดการกับปัญหา Gentrification เป็นนโยบายที่นำมาใช้ได้จริง ผ่านวิธีการต่างๆ หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสภาชุมชนแบบที่ฮามิชได้ให้สัมภาษณ์ไว้ ทั้งหมดก็เพื่อรักษาความเป็นชุมชนและส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข