เรื่องราวของทรัพยากรพลังงานอย่าง ‘ก๊าซธรรมชาติ’ สำหรับใครบางคนอาจจะมองเป็นเรื่องไกลตัว ทว่าความจริงแล้วควรรู้ไว้ เพราะมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ จึงอยากชวนมาเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับก๊าซธรรมติกันง่ายๆ ผ่านคำศัพท์ ที่จะช่วยคลายทุกข้อสงสัยให้ทุกคนได้เข้าใจกันมากขึ้น
แต่ก่อนอื่นขออธิบายถึงก๊าซธรรมชาติว่าเป็นปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง เกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกัน ภายใต้ความร้อนหลายร้อยล้านปี
และแรงกดดันมหาศาล จนแปรสภาพเป็นปิโตรเลียม
ทั้งที่อยู่ในสถานะของแข็ง คือ ถ่านหิน ส่วนของเหลว คือน้ำมันดิบ
และสถานะก๊าซ นั่นก็คือก๊าซธรรมชาตินั่นเอง
ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเองก็มีการนำมาแปลงอยู่ในหลายรูปแบบ
จึงเกิดชื่อหรือ ‘คำศัพท์’ ที่มี ‘คำย่อ’ มากมาย ซึ่งหลายคนอาจจะเคยเห็นแต่ไม่รู้ความหมาย
บ้างก็อาจจะนำไปใช้ผิดๆ แล้วคำที่หยิบยกมาให้ได้รู้จัก จะมีอะไรกันบ้าง ไปดูเลย!
แน่นอนว่าคำศัพท์แรกหนีไม่พ้น Natural Gas (NG) หรือก๊าซธรรมชาติ
คือ ปิโตรเลียมที่พบตามธรรมชาติ มีส่วนผสมหลักๆ ได้แก่ ก๊าซไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีองค์ประกอบของคาร์บอนกับไฮโดรเจน และมีสิ่งเจือปนเล็กน้อย
ไปกันต่อที่คำว่า Liquefied Petroleum Gas (LPG) “ก๊าซแอลพีจี” หรืออีกชื่อที่คุ้นหู
“ก๊าซหุงต้ม” คือ ปิโตรเลียมเหลว ซึ่งประกอบไปด้วยก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทน
ซึ่งก๊าซทั้ง 2 ตัวนี้ได้มาจากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
หรือจากการกลั่นน้ำมันดิบจากโรงกลั่นน้ำมันแล้วถูกทำให้เป็นของเหลว โดยใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน รถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม
อีกทั้ง Liquefied Natural Gas (LNG) หรือ “ก๊าซธรรมชาติเหลว”
คือก๊าซธรรมชาติ จากนั้นถูกทำให้อยู่ในรูปของเหลวโดยลดอุณหภูมิลงมาที่ -160 องศาเซลเซียส ทำให้แปรสภาพจากก๊าซเป็นของเหลว และมีปริมาตรลดลงประมาณ 600 เท่า เพื่อประโยชน์ในการขนส่งไปใช้ในที่ห่างไกลจากแหล่งผลิต
และยังมีคำคุ้นหูคุ้นตากันดีอย่าง Natural Gas for Vehicle (NGV)
หรือ “ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์” เป็นการนำก๊าซธรรมชาติมาเพิ่มความดันจนสูง ประมาณ 3,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว ก่อนเติมลงถังก๊าซเพื่อใช้ในรถยนต์ เพื่อให้บรรจุได้ปริมาณมาก ซึ่งมีองค์ประกอบหลักๆ คือ ก๊าซมีเทน
ปิดท้ายกันที่ Natural Gas Liquid (NGL) หรือ “ก๊าซโซลีนธรรมชาติ” เป็นส่วนผสมของไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในรูปของเหลว โดยมีองค์ประกอบตั้งแต่เพนเทนเป็นต้นไป สามารถนำมากลั่นเป็นน้ำมันเบนซิน และใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
โดยคำศัพท์เกี่ยวกับก๊าซธรรชาติต่างๆ ข้างต้น ทำให้แยก ‘ความแตกต่าง’ ในเรื่องของส่วนประกอบ การถูกแปรรูป และการนำไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งช่วยให้เข้าใจและใช้ชีวิตง่าย แถมสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วย
นอกเหนือจากสถานะของก๊าซธรรมชาติแล้ว ยังมีหน่วยวัดของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสามารถวัดได้ทั้งปริมาตรและค่าความร้อน โดยการวัดค่าความร้อน
เป็นการบอก ‘ปริมาณพลังงานความร้อน’ ที่ได้รับจากการเผาไหม้เชื้อเพลง ดังนั้นยิ่งก๊าซมีค่าความร้อนมาก จะทำให้ประสิทธิภาพในการเป็นเชื้อเพลิงให้พลังงานสูง
ทั้งนี้หากเล่าให้เข้าใจง่ายๆ จะแบ่งออกเป็น ‘หน่วยวัดค่าความร้อน’ กับ ‘หน่วยวัดปริมาตร’ อีกทั้งก๊าซธรรมชาติยังสามารถนำไป ‘เปรียบเทียบกับปริมาณของน้ำมัน’ ซึ่งช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารและรายงานค่าต่างๆ เช่น ปริมาณสำรอง
ปริมาณที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ปริมาณที่ซื้อขาย เพราะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมักเกิดร่วมกัน
และถูกนำไปใช้ประโยชน์ควบคู่กัน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางคำศัพท์ที่เกิดขึ้นใหม่มากมายแทบทุกวัน ทำให้เห็นว่าไม่ควรมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างเรื่องราวเกี่ยวกับวงการก๊าซธรรมชาติ เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าในไทย รวมถึงถือเป็นอีกประเด็นที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเดินหน้าธุรกิจ และผลักดันนโยบายของประเทศ จึงเป็นประโยชน์ถ้าทุกคนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้