3 Min

ฆ่าได้ฆ่า? คำสั่งเผด็จการพม่า แขวนคอ ส.ส.แร็ปเปอร์-นักเคลื่อนไหว ทำไมประเทศอาเซียน ‘เงียบกริบ’

3 Min
524 Views
26 Jul 2022

คำสั่งแขวนคอประหารชีวิตถูกนำกลับมาใช้ในเมียนมาครั้งแรกในรอบ 30 ปี และเป็นการลงโทษที่คนจำนวนมากทั่วโลกประณามว่าเป็นการกระทำที่เลวร้ายอย่างยิ่ง เพราะผู้ถูกลงโทษไม่ใช่อาชญากรที่ก่อกรรมทำเข็ญต่อผู้อื่น แต่เป็นอดีต ส.. และนักต่อสู้ทางการเมืองที่ออกมาต่อต้านการก่อรัฐประหารของเผด็จการเมียนมาเมื่อปี 2021 

ผู้ถูกประหารชีวิตในวันที่ 25 กรกฎาคม 2022 ณ เรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้งของเมียนมา มีทั้งหมด 4 ราย โดย ทอม แอนดรูส์ (Tom Andrews) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) ได้ทวีตยืนยันว่า 2 ใน 4 รายที่ถูกประหารชีวิต คือ อดีต ส..พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ก่อนจะถูกคณะรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 และอีกรายคือนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี 

หลังจากนั้นมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากสำนักข่าว Reuters ระบุว่าอดีต ส..พรรคเอ็นแอลดีที่ถูกประหารชีวิต คือ พโย เซยา ตอว์ (Phyo Zeya Thaw) ซึ่งเป็นอดีตแร็ปเปอร์ที่เคยมีผลงานดนตรีวิพากษ์สังคมและการเมืองเมียนมาก่อนจะผันตัวไปเป็น ส.. และนักต่อสู้ทางการเมือง อีกรายคือ จิมมี หรือ จอ มิน อู (Kyaw Min Yu) อดีตนักศึกษายุค 1988 ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในอดีต และรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถูกทหารจับกุมในปี 2021 จากการรณรงค์ต่อต้านรัฐประหาร 

ส่วนผู้ถูกประหารชีวิตอีก 2 ราย คือ หล่า เมียว อ่อง (Hla Myo Aung) และ อ่อง ทูระ ซอว์ (Aung Thura Zaw) ผู้ชุมนุมต้านรัฐประหาร โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดก่อการร้ายและถูกตุลาการศาลทหารตัดสินประหารชีวิตช่วงเดือนมกราคมเมษายน จนกระทั่งโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาออกมาแถลงยืนยันอีกครั้งว่าการลงโทษเกิดขึ้นจริงในวันที่ 25 กรกฎาคม 2022 และยังอ้างด้วยว่าเป็นคำตัดสินที่ยุติธรรมเพราะผู้ถูกประหารชีวิตร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหาร ทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตหลายราย 

อย่างไรก็ดี สำนักข่าว Reuters ย้ำว่า การพิจารณาคดีเหล่านี้กระทำแบบปิดลับและรวบรัด ไม่เปิดให้มีการสังเกตการณ์ใดๆ จากสื่อมวลชนและนักสิทธิมนุษยชน จึงถูกตั้งข้อสงสัยอย่างมากเรื่องความเป็นธรรมในการสอบสวนดำเนินคดี ขณะที่อดีตสมาชิกพรรครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ถูกยึดอำนาจไปมองว่านี่คือการล้างแค้นของรัฐบาลทหาร

ด้านผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติระบุเพิ่มเติมว่า ประเทศภาคีของสหประชาชาติจะต้องยึดมั่นในเกียรติยศและหลักการสากล โดยจะต้องตอบโต้ต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเมียนมาให้เหมาะสมกับความเลวร้ายที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเผด็จการเมียนมา

ขณะที่ ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียขององค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch ทวีตว่า การประหารชีวิตนักโทษการเมืองทั้ง 4 รายเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงและสมควรถูกประณาม ทั้งยังเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 30 ปีของเมียนมา ซึ่งบ่งชี้ถึงความชั่วช้าเลวทรามอันลึกล้ำภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายง์ (Min Aung Hlaing) ผู้ก่อรัฐประหารและผู้กุมอำนาจในรัฐบาลเผด็จการเมียนมาขณะนี้

คำตัดสินประหารชีวิตนักโทษการเมืองทั้ง 4 รายถูกรายงานเป็นข่าวไปตั้งแต่ต้นปี 2022 และมีการพูดถึงประเด็นนี้อีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน หลังตัวแทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกากล่าวถึงการตัดสินโทษอย่างไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สมาชิกอาเซียน (ASEAN) ซึ่งเป็นความร่วมมือของชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถูกมองว่าควรมีบทบาทในการแทรกแซงเมียนมา แต่กลับมีแค่ความเงียบงันต่อเรื่องนี้ และไม่มีการเคลื่อนไหวประณามหรือตอบโต้เมียนมาอย่างจริงจัง

เว็บไซต์ South China Morning Post (SMCP) สื่อของฮ่องกง เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่องนี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนว่า ความเงียบของประเทศอาเซียนเป็นเพราะรัฐบาลในแถบนี้ต่างมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต่างกันกับเมียนมา โดยเฉพาะกัมพูชาที่เป็นประธานอาเซียนล่าสุด ทำให้การแทรกแซงหรือการจะหาทางกดดันรัฐบาลเผด็จการเมียนมาไม่เคยเกิดขึ้นจริง และที่ผ่านมาอาเซียนก็มักอ้างถึงหลักการที่ระบุในกฎบัตรของประเทศภาคีว่าจะต้องไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน

นอกจากนี้ แม้แต่ประเทศเจริญที่สุดของอาเซียนอย่างสิงคโปร์ก็ยังไม่ยกเลิกบทลงโทษประหารชีวิต ซึ่งรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชน Amnesty International (AI) ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2022 ก็ระบุชัดเจนว่า สิงคโปร์ประหารชีวิตผู้ต้องหาในคดียาเสพติดไปแล้ว 4 รายในปีนี้ แม้ว่าภาคประชาสังคมจะคัดค้านเพราะมองว่าการประหารชีวิตไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทาง

อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ที่เผยแพร่ในทวิตเตอร์ของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติยังคงย้ำว่า การกระทำของรัฐบาลมิน อ่อง หล่ายง์ คือการเยาะเย้ยฉันทามติ 5 ข้อ (Five Points Consensus) ของที่ประชุมอาเซียนซึ่งเรียกร้องต่อเมียนมาให้ยุติการก่อความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ

ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติยังระบุด้วยว่า สิ่งที่ประเทศอาเซียนและภาคีสหประชาชาติทั่วโลกควรทำ คือการหาแนวทางปฏิบัติต่อเมียนมาที่ชัดเจนและได้สัดส่วนกับความเลวร้ายที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้กระทำลงไป

อ้างอิง