จุดจบสุนัขพันธุ์แท้? รู้จัก ‘ขบวนการสุนัขพันทาง’ ที่เน้นผลิตสุนัขสุขภาพดีและนิสัยดี
เวลาเราจะเลี้ยงสุนัขสักตัวเราเลือกจากอะไร? แน่นอนสำหรับคนจำนวนมากก็อาจเลือกจาก ‘ความน่ารัก’ เป็นหลัก แต่นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คน ‘ทิ้ง’ พวกมันไป
มนุษย์มีประวัติศาสตร์ร่วมกับสุนัขมายาวนานกว่า 20,000 ปี เพาะพันธุ์มันเป็นสัตว์ใช้งานชนิดแรกของโลก ซึ่งสายพันธุ์ต่างๆ ก็ถูกพัฒนามาใช้งานตลอดอารยธรรมของมนุษย์ สมัยก่อนคนเลี้ยงสุนัขโดยไม่ได้เน้น ‘รูปลักษณ์ภายนอก’ แต่เลี้ยงเพราะ ‘ประโยชน์ใช้สอย’ คือ ถ้ามันใช้งานได้ตามสายพันธุ์ ก็จบไม่ว่ามันจะหน้าตาอย่างไร
เพิ่งจะเป็นช่วงศตวรรษที่ 19 หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี่เอง ที่สังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลถึงงานต่างๆ ถ้าไม่หายไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม สุนัขล่าสัตว์ไม่มีงานทำเพราะมนุษย์เลิกล่าสัตว์ภายใต้แนวคิดสิทธิสัตว์ สุนัขเลี้ยงแกะก็ไม่มีงานทำแบบเดิมเพราะหลายสังคมก็เลิกเลี้ยงแกะและกลายมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม เป็นต้น และยุคนี้เองที่มนุษย์เริ่มหมกมุ่นที่จะสร้าง ‘สุนัขพันธุ์แท้’ ที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอยแบบเดิมอีก แต่ ‘พันธุ์แท้’ โดยตัดสินจากแค่รูปร่างหน้าตา
ความพยายามแบบนี้ดำเนินมาเป็นร้อยปี ผ่านสถาบันรับประกันสายพันธุ์สุนัขทั่วโลกและงานประกวดสารพัด ซึ่งผลของมันก็คือ มันได้สร้างสุนัขที่มนุษย์ปัจจุบันจำนวนมากมองว่าน่ารัก
แต่… เบื้องหลังความน่ารักมันก็คือ การทำให้สุนัขมีสรีระพิกลพิการในนามของความน่ารัก (เช่น บูลด็อกก็เป็นสุนัขที่คลอดลูกเองยังไม่ได้เลยถ้ามนุษย์ไม่ช่วย) และการพยายามสร้างสายพันธุ์แท้มันก็ทำให้เกิดภาวะ ‘เลือดชิด’ และสร้าง ‘โรคประจำสายพันธุ์’ ที่จะคร่าชีวิตพวกมันก่อนเวลาที่ควรจะเป็นมากมาย แบบเรียกได้ว่าบางสายพันธุ์ ยิ่ง ‘พันธุ์แท้’ เท่าไรยิ่งอายุสั้น
พูดง่ายๆ คือ ขบวนการผลิตสุนัขพันธุ์แท้ของมนุษย์ที่ดำเนินมาร้อยกว่าปีตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 สร้างสุนัขที่ ‘สุขภาพไม่แข็งแรง’ มามากมายมหาศาล และมันก็ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา และก็ไม่แปลกที่บางประเทศคิดจะแบนการเพาะบางสายพันธุ์แล้ว เพราะเขาถือว่าแค่ทำให้พวกมันเกิดมาก็เป็นการ ‘ทรมานสัตว์’ แล้ว
แต่ที่มากกว่านั้นคือปัญหาของการสร้างสุนัขแบบนี้ สุดท้ายมันไม่ได้สร้างสุนัขที่ ‘เหมาะแก่การเป็นสัตว์เลี้ยง’
ฟังดูบ้าบอ แต่ที่ทำกันมาร้อยกว่าปี มนุษย์ไม่ได้พยายามจะสร้าง ‘สัตว์เลี้ยง’ ที่เหมาะสมเลย แต่เน้นไปที่ลักษณะภายนอกที่มีอุดมคติของสายพันธุ์ ไม่ได้เน้นเรื่อง ‘นิสัย’
เมื่อเป็นแบบนี้ มันไม่ได้แปลกอะไรเลยที่สาเหตุอันดับ 1 ในอเมริกาที่คนเลือกจะทิ้งสุนัข เป็นเพราะสุนัขมีนิสัยที่เข้ากับครอบครัวไม่ได้ พูดง่ายๆ คือหน้าตามันถูกใจ แต่พอมาเลี้ยงจริงๆ เลี้ยงไม่ได้
เพราะเราเพาะพันธุ์สุนัขกันโดย ‘ไม่เน้นนิสัย’ มาเป็นร้อยปี ซึ่งถ้าพวกมันจะ ‘นิสัยไม่ดี’ ก็ไม่ได้แปลกอะไรเลย
ด้วยเหตุนี้ ในบรรดา ‘คนรักสุนัข’ จึงมีคนที่อึดอัดกับภาวะพวกนี้มากๆ เพราะภายใต้อุดมการณ์การเพาะพันธุ์สุนัขปัจจุบัน ถ้าไม่มีใครพยายามหยุดหรือสร้างทางเลือกอื่น มันก็จะเป็นแบบนี้วนๆ ไป สุนัขก็จะเจ็บป่วย ตายก่อนวัย และโดนทิ้งไปเรื่อยๆ
นี่คือไอเดียของ Functional Dog Collaborative ที่ตั้งมาในปี 2020 และปัจจุบันมีสมาชิกเป็นหมื่นคนแล้ว
Function Dog Collaborative ทำอะไร? อธิบายง่ายๆ ก็คือการ ‘พัฒนาสายพันธุ์’ สุนัข แต่พัฒนาไม่ใช่เพื่อให้มันไป ‘ทำงาน’ หรือไป ‘ประกวด’ แต่เพื่อเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ ที่ดีที่สุด หรือถ้าพูดแบบเทคนิคเลยคือเขาพยายามจะสร้างสุนัขขึ้นมาใหม่ในฐานะ Companion Animal ของมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์ใช้งานแบบยุคแรก และสัตว์ประกวดแบบยุคก่อน
ไอเดียของเขาคือเพาะพันธ์สุนัขที่ ‘สายประกวด’ จัดเป็น ‘สุนัขพันทาง’ หมด แต่เน้นให้พวกมันมีสุขภาพที่ดี และมีนิสัยที่ดี ซึ่งอันหลังนี่ไม่ใช่แค่การเพาะพันธุ์ แต่เป็นการเลี้ยงดูในวัยเด็กด้วย คือต้องเลี้ยงให้มันเข้ากับมนุษย์ได้และนิสัยดี ไม่ใช่เน้นผลิตจำนวนมากๆ เป็น ‘โรงงาน’ แบบฟาร์มสุนัขจำนวนไม่น้อยที่เรียกว่าเป็น ‘โรงงานนรก’ เผื่อผลิตสุนัขจะถูกกว่า เพราะสภาพความเป็นอยู่พวกมันแออัดมาก ซึ่งส่งผลต่อทั้งสุขภาพและนิสัยใจคอ
ซึ่งก็ต้องเข้าใจอีกว่าในหลายๆ ประเทศเขาไม่มี ‘สุนัขข้างถนน’ เขาจับเข้าสถานพักพิงและทำหมันกันหมด ถ้าอยากได้สุนัขใหม่คือต้องไปซื้อที่ฟาร์ม ซึ่งก็จะมีแค่ ‘สุนัขพันธุ์แท้’ ขายเท่านั้น ดังนั้นการเกิด ‘สุนัขพันทาง’ จึงเป็นเรื่องยากมาก เพราะปราศจาก ‘สุนัขข้างถนน’ มันจะแทบไม่มีสุนัขที่ผสมข้ามสายพันธุ์ หรือพันทาง กล่าวคือ ในหลายประเทศ ถึงคุณจะรู้ว่าสุนัขพันทางมีสุขภาพดีกว่าสุนัขพันธุ์แท้แน่ๆ แต่มันก็ใช่ว่าคุณจะหาสุนัขพันทางมาเลี้ยงได้ ดังนั้นมันสมเหตุสมผลมากที่จะมีคนจงใจผลิตสุนัขพันทางมาให้คนเลี้ยงโดยเฉพาะ
แน่นอนว่า Function Dog Collaborative เพิ่งเริ่มมาไม่นาน และจะถามถึง ‘ผลงาน’ ที่เป็นรูปธรรมก็คงไม่มีอะไร แต่ประเด็นคือการรวมตัวแบบนี้มันคือการผลักความคิดที่คุกรุ่นอยู่ในยุคปัจจุบันให้ออกมาเป็นขบวนการบางอย่าง
ความคิดที่ว่านี้ก็คือความคิดที่ว่า ‘เพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์’ สมควรจะได้มีชีวิตที่ดีกว่านี้ และมันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์พยายามจะแก้ไขสิ่งที่มนุษย์ทำกับพวกมันมาเป็นร้อยปี
เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าเราจะเรียกพวกมันว่าเป็น ‘เพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์’ เราก็ควรจะพยายามทำให้มันเกิดมาเป็นแบบนั้น แต่ปัญหาคือตอนนี้ เราแทบจะไม่ได้พยายามเลย
อ้างอิง
- National Geographic. Inside the growing U.S. movement to breed healthier, friendlier dogs. https://bit.ly/3YLMgvY