ชวนเจาะลึก Mood & Tone ซีรีส์อาทิตย์อัสดง เมื่อความสยองขวัญคลืบคลานมาในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร
Select Paragraph To Read
- ความสยองขวัญที่ต่างกันออกไป เพื่อให้เนื้อหาถูกนำเสนอมาให้เข้าถึงจิตใจมากที่สุด
- การใช้สีเพื่อบอกเล่าอารมณ์และทิศทางของแต่ละตอน
- พวกหนังสยองขวัญจะมีวิธีเล่นกับจิตใจคนดูหลายแบบ แต่อาทิตย์อัสดงเลือกใช้บรรยากาศที่ค่อนข้าง ‘รบกวนจิตใจ’
- ซีรีย์สยองขวัญสัญชาติไทย แต่เลือกนำเสนอบรรยากาศความเชื่อที่มาจากฝั่งตะวันตก?
- ความซับซ้อนคือเสน่ห์ของการเล่าเรื่อง
- Mood&Tone ที่แตกต่างจากหนังสยองขวัญเรื่องอื่นๆ
พอพูดถึง ‘อาทิตย์อัสดง’ นอกเหนือจากเนื้อหาที่เต็มไปด้วยประเด็นสังคมแล้ว บรรยากาศการนำเสนอความสยองขวัญนับว่าแตกต่างและไม่เหมือนใคร
โดย BrandThink House ชวน ‘อู๋–ชยันต์ เล้ายอดตระกูล ’ หนึ่งในผู้กำกับและทีมสร้างซีรีส์อาทิตย์อัสดง กลับมาร่วมพูดคุยกันอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้เราจะเจาะลึกที่ไปบรรยากาศของซีรีส์เลยว่า ทำไมซีรีส์เรื่องนี้ถึงมอบประสบการณ์สยองขวัญออกมาได้อย่างแตกต่าง และมีแนวคิดในการนำเสนออย่างไร ติดตามกันได้ในบทความนี้เลย
ความสยองขวัญที่ต่างกันออกไป เพื่อให้เนื้อหาถูกนำเสนอมาให้เข้าถึงจิตใจมากที่สุด
: แต่ละเรื่องมันจะมีสไตล์ของหนังสยองขวัญที่ไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องแรกก็จะมีความ Gore หน่อย มีความเป็น thriller มีความ investigate ค้นหาความจริง
: เรื่องที่สอง ‘เพลงสวดศพแห่งผู้เยาว์วัย’ มันค่อนข้างที่จะย้อนกลับไปเป็นหนัง classic พี่นุชี่เขาชอบเรื่อง Rosemary’s Baby มากๆ เขาเอามาเป็น Reference ในการทำเรื่องนี้ แล้วจริงๆ plot มันค่อนข้างที่จะ classic ก็เหมือน The Skeleton Key เลย จริงๆ พี่นุชี่บอกว่าเขาเอามาจากเรื่องทายาทอสูรด้วยซ้ำที่คายตะขาบ คือมันเป็นความ classic
: แต่เราเล่าในอีกรูปแบบหนึ่ง เล่าในอีก message หนึ่ง หนังสไตล์นี้ เราเรียกว่ามันเป็น Gothic horror มันเป็นหนังที่สร้างบรรยากาศที่ไม่น่าไว้วางใจคนเข้าไปในคฤหาสน์เก่าที่ดูน่ากลัวตัวละครดูไม่น่าไว้วางใจตัวละครดูมีความลับอะไรซ่อนอยู่มันก็จะเป็นอีกโทนนึง
: เรื่องที่สาม สิ่งที่ท้าทายมากๆ คือ ผมอยากทำหนังหนังผีแบบเป็น Dark comedy เป็นหนังตลก หนังตลกเสียดสี แต่ว่าเป็นหนังผี คือถามว่า Reference เนี่ยมันค่อนข้างที่จะไม่มีเรื่องไหนทำมาเราพยายามจะเป็นหนังที่ทดลองสูงมากเราอยากรู้ว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์มันจะเป็นอย่างไรซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ได้หนังที่รสชาติค่อนข้างแปลกดีเหมือนกันมีคนที่ชอบและไม่ชอบซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติ
: ฉะนั้น Mood&tone ของเรื่องที่สาม มันเป็นการเบรคอย่างหนึ่งด้วย คือเรื่องหนึ่งกับเรื่องสองที่เราวางไว้ มันค่อนข้างที่จะจริงจัง ซีเรียส และน่ากลัวมาก ฉะนั้นเราอยากจะให้เรื่องที่สามมันมีความกวนตีน มีความแปลก แล้วก็เป็นการเบรคสักพักหนึ่ง ก่อนจะไปสู่รูมรณะ ซึ่งมันจะโหดเหี้ยมไร้ปราณีมากๆ 20+ มันก็เลยเป็นที่มาของตอนนี้
: ส่วนรูมรณะเนี่ยมันจะเป็นหนังสยองขวัญทางแบบ Slasher โดยที่รูมรณะมันค่อนข้างที่จะส่วนตัวนิดนิดนึง เพราะผมโตมากับหนังโรคจิตญี่ปุ่นสมัยก่อน ผมจะชอบดูหนังของพวก ทาคาชิ มิอิเกะ ชิออน โซโนะ หรือว่า ชินยะ ทสึคาโมโตะ มันจะเป็นหนังกึ่งเกรดบีเกรดเออย่าง ทาคาชิ มิอิเกะ เขาจะมีหนังดังๆ อย่าง Audition คือเป็นเรื่องที่แบบมีผู้ชายคนนึง เป็นพ่อม่าย รวย แล้วก็เปิด Audition หาผู้หญิงที่เขาจะเอามาเป็นแฟน
: เพราะเขาโสดมานาน แล้วก็เจอผู้หญิงสวยคนนึง โดยที่เขาไม่รู้ว่าผู้หญิงสวยคนนั้นจริงๆ แล้วมีความลับบางอย่าง แล้วตอนจบนี่มีการเอาแบบเลื่อย เอาลวดไรงี้ตัดขาออกมาเลย หรืออย่างเรื่องแบบ Ichi the killer มันมีฉากในตำนานมากเลย คือการดึงลิ้นตัวเองออกมา แล้วเอามีดหั่น ซึ่งผมโตมากับหนังประเภทนี้ ฉะนั้นเรื่องนี้มันค่อนข้างที่จะ tribute ให้ทาคาชิมิอิเกะค่อนข้างเยอะเหมือนกัน
: ผมรู้สึกว่าปัญหาของหนังทาคาชิ มิอิเกะสมัยก่อน หนังมันมีสไตล์ที่ชัด มีความแหวะ ความโหดเหี้ยมที่ชัด แต่ปัญหาของหนังคือแม่งดูไม่สนุก ไม่น่าติดตาม คนดูมันจะเสียสมาธิในการที่จะตามหนังไปง่าย ฉะนั้นผมเลยอยากจะทำให้รูมรณะมันอุดช่องจุดอ่อนตรงนี้ไป เลยพยายามสร้าง story line ที่มันดึงไปถึงจุดจบบางอย่างให้คนอยากจะตามต่อไปเรื่อยๆ ฉะนั้นรูมรณะมันก็เลยกลายเป็นหนังประเภทแบบ Japanese slasher สมัยก่อน ทำให้แต่ละเรื่องมันมี mood ที่ต่างกัน
การใช้สีเพื่อบอกเล่าอารมณ์และทิศทางของแต่ละตอน
เมื่อสีเป็นส่วนหนึ่งของการภาพที่ถูกนำเสนอออกมา แต่ละตอนใช้สีเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศ และความน่าค้นหาอย่างไร
: ถ้าเกิดเราดูดีๆ เราจะพบว่าแต่ละเรื่องจะมีการออกแบบสี theme ที่ต่างกัน อย่างเรื่องแรก ‘เชื้อหลอนออนไลน์’ เราใช้เป็นสีเขียว เพราะเรารู้สึกว่าเวลาเรานึกถึงโรคระบาด ความสกปรก เชื้อโรค เรานึกถึงสีเขียว
: ส่วนตอนของพี่นุชชี่ สีคุมจริงๆ มันจะเป็นสีม่วงๆ ชมพูๆ มันทำให้เห็นถึงแบบความเลือดๆ หน่อย ความเก่า เน่า ของบรรยากาศ เรื่องที่สามมันจะมีสีคุมเป็นสีเหลืองมาจากเวลาเราไปบ้านผีไปท้าผีมันมาจากแสงไฟฉายสีเหลืองๆที่เราปาดไปปาดมา
: ส่วนเรื่องรูมรณะมันจะเป็นสีฟ้าคุมโทนไว้ คือสีฟ้าเนี่ยหนึ่งคือ เรื่องนี้จริงๆ เลือดเยอะมาก คือเลือดเยอะที่สุด แล้วการที่เลือดแดงๆ เยอะมาก แล้วเราเอาสีฟ้าไปคุมมันค่อนข้างจะลดทอนสีเลือดได้ดีเหมือนกัน เราอยากจะลดความรุนแรงตรงนี้ลงบ้าง แต่สีฟ้าจริงๆ มันยังหมายถึงความหดหู่แบบ I feel blue แบบนี้ด้วย รู้สึกว่ามันเป็นตรรกะของตัวละครที่มีความป่วยบางอย่าง อยู่ในโลกที่มัน blue มันซึมเศร้า มัวๆ หมองๆ ไรงี้ มันก็เลยเป็นสีคุมสีนี้ นอกจาก mood tone สไตล์หนังของแต่ละเรื่องแล้วเรายังมีเรื่องสีที่มันแบ่งชัดเจนด้วย
พวกหนังสยองขวัญจะมีวิธีเล่นกับจิตใจคนดูหลายแบบ แต่อาทิตย์อัสดงเลือกใช้บรรยากาศที่ค่อนข้าง ‘รบกวนจิตใจ’
: ในฐานะของคนทำหนังมันจะมีอยู่สามแบบที่ปราบเซียนเลยอย่างแรกคือหนังตลกเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามุกนี้มันจะตลกหรือเปล่าความตลกคนเรามันไม่เหมือนกันผมจะมีความตลกของผมซึ่งผมพิสูจน์มาแล้วว่าคนอื่นไม่ได้ตลกด้วยฉะนั้นหนังตลกแม่งปราบเซียนซึ่งผมจะไม่ค่อยทำไม่อยากทำแม่งยาก
: หนังปราบเซียนแบบที่สองคือหนังเรียกน้ำตา หนังเรียกน้ำตานี่มันเฉพาะทางมาก บางคนเก่งมากในการดีไซน์ซีนหรืออะไรที่มัน impact คนดู คนดูแล้วรู้สึกแบบ กูจะร้องไห้ ซึ่งเรื่องพวกนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของประสบการณ์ด้วย และหนังปราบเซียนแบบที่สามก็คือหนังผี หนังที่ทำให้คนกลัว ซึ่งมันก็คือหนึ่งในสามหนังปราบเซียนที่มันยาก คราวนี้ มันมีทางลัด ทางลัดของหนังผีทั่วไปที่ไม่รู้จะทำไรแล้ว ก็คือจังหวะ jump scare ใส่เสียงมาให้คนไม่ทันตั้งตัว เห็นอะไรแว้บๆ มา สมมุติว่ากล้องแพลนไปปุ๊ปมีตัวอะไรก็ไม่รู้วิ่งผ่าน มีเสียงดนตรีดังๆ คนก็จะตกใจสะดุ้งละ แต่มันได้แค่นั้นไง
: อย่างที่ผมบอก ผมโตมากับหนังญี่ปุ่นแล้วเวลาดูมันรบกวนจิตใจสุดๆ คือ ถึงขนาดที่ว่าบางเรื่องดูจบแล้วปวดหัวมาก ปวดหัวไปอีกสองสามชั่วโมง รู้สึกแบบมันจะคลื่นไส้ เรารู้สึกว่ามันส่งผลต่อคนดูค่อนข้างที่จะสูงเหมือนกัน แล้วก็มันท้าทายและที่สำคัญในประเทศเรามีใครทำแบบนี้เยอะเราก็เลยเลือกที่จะทำอะไรใหม่ๆขึ้นมาซึ่งมันเกี่ยวข้องในแง่ของความสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง
: ยกตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดเลยคือ รูมรณะ มันเริ่มมาจากการที่คนกลัวรู คือส่วนตัวผมไม่ได้กลัว แต่ผมรู้จักกับคนที่กลัวมากๆ อย่างแม่ผม มันเลยเกิดเป็นเลเยอร์ของความสยองขวัญนอกจากมันเป็นอาการของการที่กลัวรูที่มันเป็นโรคแต่เราสามารถที่จะเล่นกับรูนั้นให้มันมีความน่ากลัวสำหรับคนที่ไม่กลัวรูได้อย่างไรบ้างเราก็เลยจะเล่นเรื่องของความรู้สึกตรงนี้ซะเยอะคืออย่างที่บอกความกลัวมันไม่จำเป็นต้องเป็นผีอย่างเดียวมันมีทั้งรูความขยะแขยงความสกปรกความเสียวความโหดเหี้ยมอะไรพวกนี้เราก็พยายามที่จะขนมาให้หมดเท่าที่เราจะนึกออกแล้วมันก็ไปกับเรื่องได้
ซีรีย์สยองขวัญสัญชาติไทย แต่เลือกนำเสนอบรรยากาศความเชื่อที่มาจากฝั่งตะวันตก?
เมื่อซีรีย์ไทยแต่เลือกใช้ความเชื่อเรื่องซาตาน และความเป็นซาตานก็พาให้เรากลับไปเข้าใจในปรัชญาแบบพุทธศาสนา
: รู้สึกว่าการที่เราจะขายความเป็นไทย soft power ของมันจริงๆ คืออะไร บ้านเราพยายามจะขายความเป็นไทยในรูปแบบที่ exotic อย่างเดียว ขายดนตรีไทย ชุดไทย รำไทย หรืออะไรทำนองนี้ เราทำแบบนี้กันมากี่สิบปีแล้ว
: แต่เราไม่สามารถทำให้มันกลายเป็น soft power ได้จริงๆ อย่างตัวอย่างที่ชัดเจนเลยก็คือ เกาหลี หนังเกาหลีมีความ international สูงมาก มันค่อนข้างที่จะสากล แต่ soft power จริงๆ ที่พวกเขานำเสนอคืออะไร คือซีนที่ตัวละครมานั่งกินข้าวกันในร้านหมูกระทะเกาหลี สั่งโซจูขึ้นมากินกัน สิ่งนี้ต่างหากที่บ่งบอก culture จริงๆ
: มันเหมือนกับว่าถ้าเกิดเรามีซีนที่ตัวละครไปอาหารตามสั่งแล้วสั่งกระเพรามากิน หรือตกเย็นปุ๊ปซื้อเบียร์ ใส่น้ำแข็ง เทเบียร์กินเนี่ยมันคือ culture ของเราจริงๆมันจับต้องได้จริงๆส่วนตัวผมค่อนข้างต่อต้านการยัดเยียดวัฒนธรรมไทยฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นไทยจริงๆคือผมรู้สึกว่าพฤติกรรมของความเป็นมนุษย์ซึ่งแต่ละชนชาติก็จะแตกต่างกัน
: การรับมือกับปัญหาหรือวิธีการการใช้ชีวิต คือ ผมเป็นคนที่หมกมุ่นกับการดูหนังต่างชาติ แล้วอยากจะรู้ว่า culture ที่เขาใช้ชีวิตกันจริงๆ เนี่ยคืออะไร นึกออกไหม อย่างหนังเกาหลี บางทีก็กินกิมจิกับข้าวเปล่าๆ ด้วยซ้ำ อย่างบางมื้อเราก็จะเห็นว่าคนญี่ปุ่นเกาหลีเนี่ยกินเส้นหมี่จะซู้ดเสียงดังมาก คือผมใส่ใจเรื่องพวกนี้มากกว่า
: คือผมใส่ใจเรื่องพวกนี้ เลยรู้สึกว่า จะไม่เอาการยัดเยียดวัฒนธรรมไทยเข้ามาเลย อีกโจทย์เลยก็คือหนังมันออนแอร์ค่อนข้างจะหลายประเทศ ฉะนั้นสิ่งบางอย่างที่ผมรู้สึกว่าความสยองขวัญแบบไทยๆ มันมีความเฉพาะตัวอยู่แล้ว เราอยากพูดเรื่องที่ชาติไหนดูเขาสามารถเชื่อมโยงกับมันได้ คราวนี้ ผมก็เลยเอาเรื่องของซาตานเข้ามาใช้ แต่คราวนี้ ผมค่อนข้างจะนับถือพุทธแบบปรัชญา ไม่ใช่เชื่อทุกอย่าง ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า จริงๆ แล้วในโลกของเรามันคือ world religion มันจะมีความเชื่อมโยงในความเชื่อบางอย่าง
: ฉะนั้นผมจึงไปค้นหา เจอคำสอนของท่านพุทธทาสคำนึง พูดถึง มาร ว่ามารจริงๆ แล้วเนี่ยจะไม่มาในรูปแบบที่เรารู้สึกว่ามันเป็นศัตรูเสมอ เพราะมันจะต้องมาในรูปแบบที่สวยงามที่สุด แล้วเราต้องรู้สึกว่ามันสนิทใจ มันเป็นมิตร เป็นสหายกับเรา แต่สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ฉะนั้นมารศาสนาพุทธ หรือมารในสิ่งที่ท่านพุทธทาสพูดถึงเนี่ย ผมรู้สึกว่ามันมีความเชื่อมโยงกับซาตาน ปีศาจ ในศาสนาคริสต์อะไรพวกนี้ ผมก็เลยเอาจุดเชื่อมโยงเหล่านี้มารวมกัน แล้วก็สร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่ในเรื่องนี้เลย
: ผมคิดว่า มารหรือซาตานในเรื่องนี้คือกิเลส เพราะว่าถ้าสังเกตดีๆ ตัวละครดาวจะมาเพื่อแบบยุยงส่งเสริมให้คนทำในสิ่งที่ชั่ว พอสุดท้ายทำชั่วเสร็จ ก็จะไปติดในลูปของวัฏสงสาร ไม่ได้ออกไปจากสิ่งที่ตัวเองทำ อันนี้คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันจะสื่อสารได้มีความเป็นสากลกว่า เลยหยิบเอาเรื่องนี้มาใช้ แต่ก็พยายามเอามาจับโยงกับปรัชญาของศาสนาพุทธ
: ผมรู้สึกว่าศาสนาพุทธมีบางอย่างที่ผมรู้สึกว่ามันเจ๋ง ในเรื่องของปรัชญา แล้วถ้าดูจนจบแล้วเนี่ย แก่นของมันจริงๆ คือทำไมต้องเป็นถ้ำ ถ้ำสื่อถึงความมืด ถ้าเกิดว่าเราจินตนาการว่าเราเดินเข้าถ้ำในตอนกลางคืน ไม่มีแสงส่องเข้ามาเลย มันมืดมาก ดังนั้นถ้าเกิดเราเดินเข้าถ้ำที่มันมืดมากๆ คำถามก็คือ เราจะมองหาอะไร ถ้าเกิดมีแสงสว่างขึ้นมานิดนึง เราก็จะมองหาสิ่งนั้นในความมืดถูกไหม?
: คือมันเปรียบได้อย่างนี้ว่า คือคนที่หาความชอบธรรมให้การกระทำของตัวเอง คือฉันทำแบบนี้เพราะว่า… มันเหมือนกับคนที่อยู่ในถ้ำ อยู่ในความมืด เขาพยายามมองหาแสงสว่าง แต่สุดท้ายแล้ว สมมติว่ามันมีรูอยู่รูนึงแล้วมันมีแสงส่องเข้ามาแล้วเขามองเห็น แล้วเขาเดินไป เขามองเห็นแสงนั้น แต่เขาไม่สามารถออกจากถ้ำได้ มันเหมือนกับคนที่สมมติฆ่าคนไปแล้วถามว่าเขาจะมองหาแสงคือเหตุผลในการอ้างความชอบธรรมในการกระทำของเขาแต่สุดท้ายแล้วเขาหนีจากสิ่งที่เขาทำไม่ได้
: ฉะนั้นมันมีสิ่งที่คุณทำไปแล้วมันมีแค่ตัวเลือกตรงนั้น ว่าคุณทำหรือไม่ทำ ดังนั้นถ้าคุณทำแล้ว สิ่ง ที่มันตามมามันไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ มันไม่มีเหตุผลอะไรมาหักล้างได้ ดังนั้นเราเลยเลือกใช้ถ้ำเป็นสัญญะในการสื่อถึงเรื่องนี้ด้วย
ความซับซ้อนคือเสน่ห์ของการเล่าเรื่อง
มีหลายคนมองว่าอาทิตย์อัสดงดูแล้วสับสน เพราะเล่าเรื่องสลับไปสลับมา แล้วทำไมทีมผู้สร้างถึงเลือกนำเสนอแบบนี้?
อู๋ : รูปแบบการนำเสนอในหนังสยองขวัญมันถูกทำซ้ำเยอะมาก คนดูส่วนใหญ่เขาก็จะรู้สึกว่าเวลาดูไปสักครึ่งเรื่อง เขาก็จะเริ่มเดาได้แล้ว คือเราพูดตรงๆ ว่ามันหนีไม่พ้นหรอก plot เดิมๆ ในโลกนี้มันถูกทำมาเยอะมากๆ เราพยายามหาเหลี่ยมมุมบางอย่างในการที่อยากจะ surprise คนดูมีความแบบเราพยายามที่จะไม่ให้เขาเดาถูกด้วยเลยเป็นที่มาของวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้
: ในโครงสร้างของทั้งหมดในเรื่องนี้ เราจะรู้สึกว่าการดำเนินของเรื่องมันจะมีความพิสดาร Timeline มันจะไม่ตรงกัน มันเหมือนชี้นำ ตอนแรกเราอยากให้คนเขาคิดยังไง เขาอยาก question อะไรเราอยากจะค่อยๆทำให้เหมือนดูไปแล้วค่อยๆต่อจิกซอว์จนเป็นภาพที่สมบูรณ์แล้วเขาเข้าใจว่าโอเคภาพที่สมบูรณ์คืออะไร
: ตอนแรกผมมีความตั้งใจจะให้เป็นซีรีส์ที่จบในตอน เพราะส่วนตัวชอบซีรีส์ Black Mirror มากเลย คือ theme มันค่อนข้างแข็งแรง บทมันค่อนข้างฉลาด จนไม่สามารถที่จะเดาอะไรได้เลย มัน innovative มาก แล้วเรารู้สึกว่าเราอยากจะทำอะไรแบบนี้ แต่พอมันผ่านขั้นตอนในการที่เราไปขายลูกค้าอะไรมา เราจะรู้สึกว่าวิธีการ monitize ของ WeTV เองกับ Marketing plan มันอาจจะไม่เหมาะกับการทำซีรีส์ที่จบในตอน
: มันก็เลยกลายเป็นว่าทำให้เรื่องมันเชื่อมโยงกัน จากที่เรามี 7-8 เรื่องเราก็ตัดซอยออกไปเรื่อยๆ พอเราเหลืออยู่ 4 เรื่องแล้วเนี่ยเราก็ create เส้นเรื่องใหญ่เรื่องนึงมาครอบมันเอาไว้ เพื่อทำให้ timeline ของแต่ละตัวละครมันมีการเชื่อมโยงกัน มันมีจุดร่วมกันบางอย่าง
: ดังนั้นถ้าเราดูไปเราจะเห็นว่า ตัวละครแต่ละเรื่อง มันจะมีการเชื่อมถึงกัน มีความสัมพันธ์ข้ามเรื่องกันด้วย มันไม่ได้จบแค่เรื่องเดียว สมมติว่าตัวละครที่เราดู มันตายไปแล้วในเรื่องนี้ แต่เรื่องหน้ามันอาจเป็น timeline อื่น ซึ่งมันอาจมีชีวิตอยู่ อันนี้คือที่มา มันก็เลยเป็นอาทิตย์อัสดงอย่างที่เราได้เห็นกัน
Mood&Tone ที่แตกต่างจากหนังสยองขวัญเรื่องอื่นๆ
ทำไมถึงเลือกพาหนังสยองขวัญไทยให้มันออกไปไกลแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา
: อาทิตย์อัสดง มันเป็น modern horror cinema เราอยากให้งานไทยมันมีความกว้างขึ้น เป็นการ modernize มันดีกว่า เคยอ่าน comment ของชาวต่างชาติที่เข้ามาดู เขาบอกว่า เบื่อและหมดหวังกับหนังผีไทยมาเป็นสิบปีแล้ว คือหนังผีไทยแม่งดังมาก ซึ่งต่างประเทศแม่งขายดีมาก แต่พอนิสัยของคนบ้านเรา บางทีอะไรที่มันดังมันเวิร์ค มันก็จะทำซ้ำไปเรื่อยๆ เหมือนตอนนี้ก็จะมีแต่หนังวาย คนนี้เค้าบอกว่าเป็นสิบปีแล้วที่หนังผีไทยไม่ค่อยได้ขยับไปไหนเลย
“แต่พอมาดูเรื่องนี้ มันเป็นเหมือนความหวังใหม่ของหนังผีไทย คือผมมีหลักการทำงานอย่างหนึ่ง คืองานที่ออกมานอกจากคุณภาพกับความสนุกแล้ว อีกเรื่องคือความ innovative ผมรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรที่มีแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งที่มีความใหม่ คนดูได้รับอะไรใหม่ๆ จากตรงนั้น มันเป็นนวัตกรรม มันค่อนข้างสำคัญในการทำงานของเราเหมือนกัน”
แต่ความสยองยังไม่หมดแต่นี้ นอกเหนือจากผู้กำกับอย่างคุณอู๋แล้ว ในบทความชิ้นถัดๆ ไป เราจะพาทุกท่านไปร่วมพูดคุยกับทีมงานท่านอื่นๆ ที่มีโอกาสได้สร้างสรรค์ซีรีส์เรื่องนี้ ส่วนเราจะไปร่วมพูดคุยกับใคร ติดตาม BrandThink House เอาไว้ได้เลย!