ระเบิดขวด Molotov Cocktail อาวุธบ้านๆ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ ‘การต่อต้าน’

3 Min
1258 Views
17 Mar 2022

แทบทุกการประท้วงย่อมมีการปะทะ และทุกการปะทะย่อมมี ‘โมโลตอฟ ค็อกเทล’ (Molotov cocktail) หรือ ‘ระเบิดขวด’ เป็นตัวชูโรง

และนี่เป็นอาวุธยอดฮิตที่ชาวยูเครนใช้ต่อต้านทหารรัสเซียที่บุกเข้ามาในแต่ละเมืองตั้งแต่การรุกรานเริ่มขึ้นเช่นกัน

ระเบิดขวดสามารถทำเองโดยไม่ยาก (เราไม่ได้จะแนะนำให้ทำ และจะไม่บอกวิธีการทำโดยละเอียดด้วย) แต่เพียงแค่มีขวดแก้ว น้ำมันก๊าดหรือสารเคมี และเศษผ้าสำหรับทำเป็นชนวน เท่านี้ก็ใช้งานได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนประกอบทุกอย่างสามารถหาได้ในครัวเรือนทั้งนั้น)

ถ้าจะย้อนประวัติกันจริงๆ อาวุธพื้นบ้านสำหรับต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐนี้มีที่มายาวนานไม่น้อย

ชาวไอริชและกลุ่ม IRA เองก็รู้จักประดิษฐ์ระเบิดขวดเพื่อต่อกรกับทหารอังกฤษมาตั้งแต่ช่วงสงครามประกาศอิสรภาพไอร์แลนด์ในปี 1922

แต่สงครามที่มีการใช้ระเบิดขวดเป็นวงกว้างก็คงเป็นสงครามกลางเมืองสเปนระหว่างปี 1936-1939

ฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต นั่นทำให้พวกเขาได้รับรถถังเบาโซเวียตมาใช้ในพื้นที่เมืองเป็นจำนวนมาก ส่วนฝ่ายชาตินิยมต้องหาวิธีรับมือกับรถถังด้วยการใช้ระเบิดขวด เนื่องจากอาวุธชนิดนี้ไม่เปลืองพื้นที่เท่าปืนต่อต้านรถถัง และพกพาได้ง่าย

รถถังที่โดนระเบิดขวดขว้างใส่ต้องทนกับไอและความร้อนที่ทำให้ภายในตัวรถแทบจะเป็นเตาอบ ส่วนตีนตะขาบที่มียางผสมก็ละลายจนตัวรถเคลื่อนที่ได้ลำบาก คนขับและพลรถถังที่ทนไม่ไหวจึงต้องเลือกระหว่างถูกย่างสดหรือไม่ก็ออกมาเสี่ยงตายข้างนอกแทน

ฝ่ายสาธารณรัฐพบว่ารถถังของตนถูกทำลายอย่างง่ายดายด้วยอาวุธชนิดนี้ จึงหันมาใช้ระเบิดขวดเพื่อตอบโต้รถถังฝ่ายชาตินิยมบ้าง และนี่ทำให้สงครามกลางเมืองสเปนเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ระเบิดขวดไปโดยปริยาย

ส่วนจุดเริ่มต้นของชื่อ ‘โมโลตอฟ ค็อกเทล’ ก็มาจากช่วงเดียวกันในปี 1939 เมื่อสหภาพโซเวียตกับนาซีเยอรมนีทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกันในชื่อ ‘สนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ’ (Molotov-Ribbentrop Pact) ตามชื่อรัฐมนตรีทรวงต่างประเทศของทั้งสองประเทศคือ วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov) และ โยอาคิม ฟอน ริบเบินทร็อพ (Joachim von Ribbentrop)

ตามสนธิสัญญานี้ทั้งโซเวียตกับเยอรมนีจะแบ่งเขตปกครองในยุโรปกัน ซึ่งโซเวียตก็ยกทัพเข้ารุกรานประเทศฟินแลนด์ที่อยู่ในเขตอิทธิพลของตนทันที สงครามครั้งนี้มีชื่อว่า ‘สงครามฤดูหนาว’ (Winter War)

ก่อนที่ทหารโซเวียตจะเข้าโจมตีจุดหนึ่ง พวกเขามักจะทิ้งระเบิดลูกปราย (Cluster bomb) เพื่อเคลียร์ทางก่อน แล้วค่อยส่งทหารเข้าโจมตี โดยหลังจากทิ้งระเบิดลงไป นายโมโลตอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศโซเวียต มักจะประกาศทางวิทยุโดยอ้างว่าระเบิดที่โซเวียตหย่อนลงไปแท้จริงแล้วเป็นแค่เสบียงสำหรับช่วยเหลือชาวบ้านท้องถิ่นเท่านั้นเพื่อไม่ให้โดนประชาคมโลกประณาม

ทหารฟินแลนด์ที่ได้เห็นฤทธิของระเบิดดังกล่าวจึงตั้งชื่อเล่นให้มันว่า ‘ตะกร้าปิกนิกของโมโลตอฟ’ (Molotov’s picnic basket) และวิทยุโต้ตอบฝ่ายโซเวียตว่าพวกเขาก็มี ‘ค็อกเทลของโมโลตอฟ’ (Molotov cocktails) ไว้ตอบแทนทหารโซเวียตเช่นกัน และค็อกเทลที่ว่านี้ก็คือระเบิดขวดนั่นเอง

เนื่องจากกองทัพฟินแลนด์รู้ดีว่าฝ่ายโซเวียตมักใช้รถถังทะลวงแนวก่อน และรถถังของโซเวียตก็ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเบนซิน (gasoline) ซึ่งไวไฟมาก ระเบิดขวดจึงเป็นอาวุธง่าย ๆ ที่โต้ตอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลฟินแลนด์จึงมอบหมายให้บริษัท อัลโค (Alko) รัฐวิสาหกิจด้านสุรารายใหญ่ของประเทศ เป็นผู้ผลิตโมโลตอฟ ค็อกเทลจากโรงงานเพื่อแจกจ่ายให้ทหารฟินแลนด์ และทหารฟินแลนด์ก็ได้ใช้ระเบิดขวดปราบรถถังโซเวียตไปครั้งแล้วครั้งเล่า คาดการณ์ว่าฝ่ายฟินแลนด์ใช้ระเบิดขวดไปกว่าครึ่งล้านขวดตลอดสงคราม

แม้โซเวียตจะชนะสงคราม แต่พวกเขาก็สูญเสียไปมากกว่าฝ่ายฟินแลนด์ถึง 5 เท่า ตั้งแต่นั้นมา ระเบิดขวดก็ได้กลายเป็นอาวุธสำรองของทหารที่ทำการรบในเขตเมือง ชื่อเล่นใหม่สุดเท่ของมันก็ได้รับความนิยมยิ่งกว่าชื่อสามัญอย่าง petrol bomb หรือ gasoline bomb เสียอีก

หลังสงครามสงบ โมโลตอฟ ค็อกเทลก็ได้กลายมาเป็นอาวุธของประชาชนทั่วไปที่ไม่สามารถหาอาวุธปืนมาต่อกรกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ มันยังเป็นอาวุธที่ตำรวจปราบจลาจลต้องครั่นคร้าม และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงอำนาจรัฐไปโดยปริยาย

อ้างอิง