1 Min

คำเตือนถึงสาวกชานม งานวิจัยพบการดื่มชานมเป็นประจำ เชื่อมโยงกับพฤติกรรมเสพติด หยุดไม่ได้

1 Min
538 Views
20 Oct 2023

‘ชานม’ นับว่าเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันมากสำหรับโซนเอเชีย ถึงขั้นเกิด ‘พันธมิตรชานม’ ระหว่างชาวเน็ตไทย ฮ่องกง และไต้หวัน ขึ้นมา ในช่วงหนึ่งที่มีสงครามออนไลน์โต้เถียงกัน เริ่มจากประเด็นเกี่ยวกับนักแสดงซีรีส์ BL (Boy Love) ระหว่างไทย-จีน จนนำไปสู่สัญลักษณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ทำให้ทั้งฮ่องกงและไต้หวันเข้ามาเอี่ยวด้วย จนเกิดเป็นพันธมิตรชานมเนื่องจากมีวัฒนธรรมเครื่องดื่มชนิดนี้ร่วมกัน

แต่ในวันนี้ เราไม่ได้มากล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ทว่า เป็นคำเตือนจากงานวิจัยใหม่ของประเทศจีนที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Affective Disorders พวกเขาได้ทำการสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัย 5,281 คน ในกรุงปักกิ่ง โดยนักศึกษาเกือบครึ่งตอบแบบสอบถามว่าดื่มชานมอย่างน้อย 1 แก้ว/สัปดาห์ 

“การค้นพบของเราได้ย้ำเตือนว่า การดื่มชานมอาจนำไปสู่การเสพติด และเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล” นี่คือสิ่งที่พวกเขาเขียนไว้ในรายงาน

ขณะเดียวกันก็ได้วัดระดับการเสพติดชานม เพื่อทำความเข้าใจอาการต่างๆ เช่น ความอยากอาหาร การบริโภคที่เกินพอดี และผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เนื่องจากชานมมีทั้งคาเฟอีนและน้ำตาลส่วนเกิน และผลกระทบจากส่วนผสมเหล่านี้ทำให้เกิดความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้าและการแยกตัวจากสังคม

โดยในรายงานยังกล่าวว่า ผลการวิจัยระบุว่า การบริโภคชานมเป็นประจำ หรือบ่อยเกินไป อาจทำให้มีอาการเหมือนติดยา มีความอยากเพิ่มขึ้น แม้ตั้งใจจะหยุดแต่ก็ทำไม่ได้สักที นำไปสู่ความอดทนที่ต่ำลง และความรู้สึกผิด ซึ่งเทียบได้กับอาการเสพติดโซเชียลมีเดียและยาเสพติด โดยเฉพาะเมื่อดื่มเพื่อควบคุมอารมณ์ หวังทำให้อารมณ์ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาในระยะยาวเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันทั้งอาการทางร่างกายและจิตใจที่อาจเกี่ยวข้องกับการดื่มชานม 

อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจดีว่าเมนูอาหารและเครื่องดื่มดีๆ นั้นช่วยเยียวยาเราได้มากแค่ไหน ไม่ใช่คนที่กินชานมแล้วจะมีปัญหาทุกคนทุกแก้ว แต่เอาเป็นว่า อาจจะไม่ต้องงดตลอดไป แค่ควบคุมการกินในปริมาณที่เหมาะสมเหมือนเมนูอื่นๆ นั่นแหละ เพราะจริงๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาก็น่าจะมาจากปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลที่มากจนเกินพอดี 

อ้างอิง