มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดังนั้นมนุษย์จึงมี ‘นม’ อย่างน้อยๆ ในทางชีววิทยาก็ว่าไว้อย่างนั้น แต่สงสัยไหมครับว่า ทำไมมนุษย์ถึงมีนมแค่ 2 เต้า ไม่ใช่ 4 เต้า?
โอเค ถ้ามองย้อนกลับไป สัตว์ตระกูลลิงไร้หางทั้งหมดก็มีนมแค่ 2 เต้า หัวนมแค่ 2 หัว ไม่ได้ต่างจากมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
เพราะสัตว์กลุ่มนี้ถือเป็นญาติใกล้ชิดกับมนุษย์ในทางวิวัฒนาการ
แต่ก็นั่นแหละ คำถามที่ตามมาคือ ทำไมหมาแมวมีนม 8 เต้า? หมูมี 12 เต้า? ฯลฯ
ซึ่งตรงนี้ คนที่ไม่เคยสงสัยก็อาจจะเริ่มสงสัยว่า เออ…ทำไมล่ะ?
1.
นักคิดตั้งแต่อดีตก็สังเกตประเด็นนี้มานานแล้ว และนักคิดกรีกโบราณก็เป็นคนแรกๆ ที่เสนอสิ่งที่ทุกวันนี้รู้จักกันอย่างลำลองว่า “กฎ ½” ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ข้อสังเกตหลักๆ ไม่มีอะไรเลย แค่เป็นข้อสังเกตว่า สัตว์ชนิดหนึ่งๆ จะมีลูกจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนหัวนมที่มีเป็นส่วนใหญ่ และลูกต่อครอกมากที่สุด ยังไงก็จะไม่เกินจำนวนหัวนม
เช่น มนุษย์มี 2 หัวนม โดยทั่วไปก็จะมีลูกแค่ 1 คน หรือเต็มที่ “ตามธรรมชาติ” ถึงมีลูกแฝดก็จะมีลูกไม่เกิน 2 คนต่อการตั้งท้องหนึ่งครั้ง หมาแมวมีนม 8 เต้า ครอกหนึ่งมีลูกโดยเฉลี่ยก็คือ 4 ตัว ถ้ามีมากกว่านี้ก็ไม่เกิน 8 ตัว เป็นต้น
นี่เป็นข้อสังเกตที่ทรงพลังมากๆ เพราะถือว่า “จริง” ในกรณีส่วนใหญ่มาตั้งแต่กรีกโบราณถึงปัจจุบัน
2.
ระยะหลังๆ นักวิทยาศาสตร์เริ่มพบว่า สัตว์บางชนิดก็แหกกฎนี้ เช่น ตุ่นหนูไร้ขน (Naked mole rat) มีเต้านม 11 เต้า และมีลูกโดยเฉลี่ยครอกละ 11 ตัว โดยบางครอกอาจมีมากถึง 28 ตัว
นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ลักษณะที่แปลกคือ ลูกของตุ่นหนูไร้ขนจะไม่ “แย่ง” กันดูดนมแม่ แต่มันจะ “แบ่ง” กัน ซึ่งนี่เป็นความประหลาดมาก เพราะลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด การแย่งกันดูดนมแม่คือเรื่องปกติ และนี่ทำให้ลูกตุ่นหนูไร้ขนที่มีจำนวนมากกว่าเต้านมของแม่สามารถเติบโตมาได้หมด ไม่มีปัญหาอะไร
3.
ไหนๆ พูดเรื่อง “นมๆ” กันแล้ว ก็ขอพูดประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่า เอาจริงๆ สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งๆ ไม่ได้มี “จำนวนหัวนม” ตายตัวนะ
หมานี่เป็นที่รู้กันว่าอาจมี 8 หรือ 10 หัวนมก็ได้ หมูอาจมี 12 หรือ 14 ก็ได้
เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจริงๆ มีศักยภาพที่จะมีต่อมน้ำนม เต้านม และหัวนมได้จำนวนมาก ตามแนวเส้นของเต้านม ที่เริ่มตั้งแต่ด้านบนของอก ลงไปจนถึงบริเวณเป้า ซึ่งนี่เป็น “ศักยภาพ” ของความเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและทำให้สัตว์หลายๆ ชนิดไม่ได้มีเต้านมที่ตายตัว
ที่โหดกว่านั้นและหลายคนรู้แล้วอาจช็อกก็คือ มนุษย์ไม่ได้มีหัวนมแค่ 2 หัวเสมอไป บางคนอาจมี 3-4 หัวก็ได้ และนี่ไม่ใช่อาการที่ประหลาดอะไรแบบ 1 ในล้าน เพราะมันเป็นลักษณะที่พบได้ในประมาณ 1% ของประชากร คือ 100 คนจะเจอคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหัวนมที่เพิ่มมาจะมากับนมเป็นเต้าๆ แต่มักจะไม่พัฒนาเต็มที่ และออกมาเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้บางคนคิดว่ามันคือไฝ จริงๆ ไม่ใช่ มันคือหัวนม!
4.
สุดท้าย กลับไปตอบคำถามแรกว่าแล้วทำไมมนุษย์โดยเฉลี่ยถึงมีแค่ 2 คำตอบก็คือ โดยทั่วไปสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีศักยภาพในการพัฒนาหัวนมมากมายก็จริง แต่ธรรมชาติก็จะวิวัฒนาการให้เราพัฒนาหัวนม “เฉพาะที่จำเป็น” ซึ่งก็จะถูกกำหนดจากการสืบพันธุ์อีกทีว่าท้องครั้งหนึ่งจะมีลูกเท่าไร
ซึ่งการมีหัวนมและเต้านมมากเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งดี เพราะทั้งสองอวัยวะนั้นติดเชื้อและเป็นมะเร็งได้สารพัด
ดังนั้นยิ่งมีมากเกินความจำเป็น ก็ยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงในการมีชีวิตรอดนั่นเอง
อ้างอิง:
- The New York Times. Of Breasts, Behavior and the Size of Litters. http://nyti.ms/2LJTuPH
+0