‘มาดากัสการ์’ ซวยหนัก จากภัยแล้งสุดขีดต้องมาเจอกับพายุสุดโหด

3 Min
588 Views
07 Feb 2022

เมื่อช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 พื้นที่ภาคใต้ของประเทศมาดากัสการ์ต้องเจอกับภัยแล้งอย่างรุนแรง ขนาดที่ว่าไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้เลย เป็นเหตุให้ประชาชนกว่าสี่แสนคนเป็นโรคขาดสารอาหาร เพราะต้องประทังชีวิตด้วยกระบองเพชรดิบ ใบไม้ป่า และตั๊กแตน

ในขณะที่ตอนนี้สถานการณ์ภาคใต้ยังไม่มีอะไรดีขึ้น พื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือก็ต้องเจอกับภัยพิบัติที่มาในรูปแบบพายุโซนร้อนลูกใหม่ โหมกระหน่ำจนเกิดเหตุน้ำท่วมไปทั่วภูมิภาค เป็นขั้วตรงข้ามแตกต่างกับทางใต้ราวฟ้ากับเหว

‘พายุโซนร้อนอานา’ (Ana) ที่ได้พัดถล่มมาดากัสการ์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นเวลามากกว่า 10 วัน จนมีน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัด รวมถึงกรุงอันตานานาริโว เมืองหลวงของประเทศที่ตอนนี้มีสภาพไม่ต่างจากนครแอตแลนติส

ตามรายงานเบื้องต้น มีผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ราย และมีผู้ลี้ภัยไม่ต่ำกว่า 130,000 คน คาดว่าในความเป็นจริงตัวเลขอาจสูงกว่านี้อีกมาก ขณะเดียวกันสื่อต่างประเทศยังระบุด้วยว่า มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากพายุมากกว่า 72,000 หลัง ที่แย่ไปกว่านั้นคือผลผลิตทางการเกษตรที่เตรียมเก็บเกี่ยวก็ได้ถูกน้ำพัดพาหายไป

ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันระหว่างภาคใต้กับภาคกลางและภาคเหนือแม้จะเจอภัยพิบัติคนละอย่าง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นนั้นแทบไม่แตกต่างกันคือ เกิดการอพยพ ประชาชนต้องทิ้งบ้านเรือน และนำไปสู่วิกฤตเรื่องความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากนี้ ด้วยการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอนมากนัก ก็เหมือนเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอย่างเลี่ยงไม่ได้ การอพยพไปอยู่ที่พักพิงชั่วคราว เช่น โรงเรียน หรือสนามกีฬา กลายเป็นเรื่องที่มีทั้งผู้ที่เต็มใจและไม่เต็มใจไป ทำให้การจัดการเป็นไปอย่างยากลำบาก

Refugees from the Ankorondrano and Tsaramasay l AFP

นอกจากพายุอานา จะพัดถล่มมาดากัสการ์แล้ว พายุยังพัดไปสร้างความเสียหายไปกับประเทศแถบแอฟริกาใต้อีกหลายประเทศ อาทิ โมซัมบิก มาลาวี และแซมเบีย

มาดากัสการ์เป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศที่รับแรงพายุที่ก่อตัวขึ้นกลางมหาสมุทรก่อนใคร

ส่วนโมซัมบิก มาลาวี และแซมเบีย แม้ความเสียหายจะไม่มากเท่ามาดากัสการ์ แต่ประเทศเหล่านี้ล้วนอยู่ในสถานการณ์วิกฤตไม่ต่างกัน เนื่องจากประสบปัญหาจากการขาดความสนใจและการช่วยเหลือเงินทุนจากทั่วโลกสำหรับโครงการด้านมนุษยธรรมที่เป็นเช่นนี้มาเรื้อรังยาวนาน

โดยทางเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเผยว่า พายุร้ายแรงที่พัดถล่มประเทศทางตอนใต้ของแอฟริกาในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นความเป็นจริงของ ‘วิกฤตสภาพอากาศ’ อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์เดียวกับเหตุการณ์ภัยแล้งทางตอนเหนือของประเทศมาดากัสการ์ และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกาเมื่อปีที่ผ่านมา

ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ ทวีปแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าการศึกษาแสดงให้เห็นว่าทวีปนี้มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตโลกร้อนน้อยที่สุด

ปัญหาใหญ่ๆ นั้นเป็นเรื่องทางนโยบายที่นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสถาบันต่างๆ ในแอฟริกามักไม่ได้รับคำปรึกษาจากผู้กำหนดนโยบายหรือรัฐบาลในทวีปนี้ที่ยังไม่มีการจัดการหรือให้ความสำคัญกับมันมากนัก

กล่าวคือแม้จะรู้อยู่แล้วว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงประสบภัย แต่ก็ยังขาดแผนเตรียมการรับมือที่รัดกุม ประกอบกับเป็นกลุ่มประเทศยากจน ที่ถูกประเทศร่ำรวยหักหลังเรื่องการสนับสนุนเงินทุนบ่อยๆ (ตามที่การประชุม COP ทุกครั้ง ประเทศร่ำรวยมักบอกว่าจะบริจาคเงินให้ประเทศยากจนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น) เมื่อเกิดปัญหาก็มักจะตกอยู่ในสภาพวิกฤตเสมอๆ

สภาพที่เป็นอยู่จึงเป็นสถานการณ์เคราะห์ซ้ำกรรมซัดอย่างเลี่ยงไม่ได้

อ้างอิง

  • Relief web. Cyclone Ana: Floods cause death, destruction, and power outage across Madagascar, Mozambique, Zambia, and Malawi with more rains on the way. https://bit.ly/3umr4PM
  • BBC. Storm Ana: Deadly Africa storm shows climate crisis reality – UN. https://bbc.in/3AR7dcJ
  • BBC. Storm Ana kills dozens in Malawi, Madagascar and Mozambique. https://bbc.in/3ujxgbu
  • BBC. COP26: What African climate experts want you to know> https://bbc.in/3480r6w