3 Min

นักวิจัยพบเทคนิคใหม่ “กินมื้อกลางวัน” มื้อเดียว สามารถช่วยยืดอายุได้

3 Min
17606 Views
11 Oct 2021

สำหรับคนที่เคย “ลดความอ้วน” ก็คงจะเคยได้ยินเทคนิคที่เรียกว่า IF (Intermittent Fasting) หรือการ “อดอาหารเป็นเวลา” ซึ่งมันเป็นเทคนิค ที่ใช้กันแพร่หลายเพราะเทคนิคแบบนี้มันใช้กันเพราะมัน “ง่าย” มันไม่ต้องไปคุมว่าตัวเองจะกินอะไร คุมแค่กินเวลาไหน เวลาไหนห้ามกินก็พอ และมัน “เวิร์ค” หลายๆ คนก็ลองแล้วได้ผล น้ำหนักลดจริง

เทคนิคแบบนี้ก็มีหลายแบบ ตั้งแต่การกินข้าววันละ 2 มื้อในช่วงเวลา 6-8 ชั่วโมง หลังจากนั้นห้ามกินอะไรนอกจากน้ำเปล่า การกินข้าววันละมื้อเดียวภายใน 2 ชั่วโมง อีก 22 ชั่วโมงไม่กินอะไรเว้นแต่น้ำเปล่า หรือบางสูตรก็จะกินข้าวแบบวันเว้นวันก็มี

ซึ่งหลักการ “ลดความอ้วน” แบบนี้ ทั่วๆ ไปถ้าจะอธิบายแบบไม่ต้องลงลึกไปกระบวนการชีวเคมีมากๆ ก็คือ พอร่างกายเรา “ขาดอาหาร” มันก็จะเอาพวกไขมันที่สะสมมาใช้เป็นพลังงาน และการเอาไขมันที่สะสมมาใช้ มันก็ทำให้เราผอมลง กลไกมันง่ายๆ แค่นี้

ที่นี้นักวิจัยเขาก็สงสัยว่า จริงๆ มันทำได้แค่นี้เหรอ? ไอ้เทคนิคนี้มันส่งผลแค่ลดความอ้วนเหรอ ผลมันจะมีอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า? เขาเลยไปทดลองกับพวกแมลงวันผลไม้

ซึ่งถามว่าทำไมทดลองกับแมลงวันผลไม้? คำตอบคือ จริงๆ พวกมันมีพื้นฐานพันธุกรรมใกล้มนุษย์พอสมควร โรคอวัยวะภายในต่างๆ ก็มีร่วมกัน และมันมีอายุขัยเฉลี่ยแค่ 2 เดือน ดังนั้นมันทดลองได้เร็วมาก (ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามันใช้งบในการทดลองย่อมเยาอีกด้วย)

นักวิจัยแบ่งแมลงวันเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งอธิบายง่ายๆ ก็คือ กลุ่มแรก ได้กินอาหารตลอดเวลา กลุ่มที่สอง ได้กินอาหารแค่ครึ่งวัน กลุ่มที่สาม ได้อาหารวันเว้นวัน หรือให้วันหนึ่งอด อีกวันกินได้เต็มที่ และกลุ่มที่สี่จะได้อาหารทุกวันแค่ช่วงสั้นๆ ตอนกลางวัน หรือพูดง่ายๆ คือจะได้กินแค่ “วันละมื้อ” และเป็น “มื้อกลางวัน”

พวกเขาพบว่ามีเพียงกลุ่มสุดท้ายเท่านั้นที่การควบคุมการกินอาหารเป็นเวลาจะให้ผลน่าสนใจ ซึ่งผลที่ว่าคือ มันทำให้แก่ช้าลง ตัวชี้วัดด้านสุขภาพต่างๆ ดีขึ้นหมด และที่สำคัญ อายุยืนขึ้นประมาณ 15%

ทำไมถึงเป็นแบบนี้? นักวิจัยพบว่าคีย์สำคัญมันน่าจะเป็นกระบวนการทางชีวเคมีในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า Autophagy หรือการ “กินตัวเอง” ของเซลล์

มันฟังดูน่าสยอง หลายๆ คนอาจนึกว่ามีแค่ในการ์ตูน แต่จริงๆ มันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเวลาร่างกายเราขาดอาหาร

คือเวลาร่างกายเราขาดอาหารนานๆ สารอาหารจะไม่พอใช้ ร่างกายก็จะหาทางดึงสารอาหารที่มีอยู่ในระบบมาใช้ และถามว่าเอามาจากไหน ก็เอามาจากเซลล์น่ะแหละ ซึ่งร่างกายมันจะเลือกเอาเซลล์ที่แก่ๆ เซลล์ที่มีปัญหามาย่อยสลายซะ แล้วดูดเอาสารอาหารมาใช้

ซึ่งผลพวงของกระบวนการนี้คือมันจะช่วย “กำจัดของเสีย” ซึ่งก็คือพวกเซลล์แก่ๆ และมันก็จะเอาไปสร้างพวกเซลล์ใหม่ๆ ที่แข็งแรงกว่า หรือพูดง่ายๆ มันคือกระบวนการที่บีบให้ร่างกายทำการ “ซ่อมบำรุง” ตัวเองระดับเซลล์นั่นแหละ

ทีนี้เงื่อนไขของการเกิดการ “กินตัวเอง” ของเซลล์มันไม่ใช่แค่ตอนเรา “ขาดอาหาร” เท่านั้น แต่มันจะเกิดเฉพาะเวลากลางคืน หรือเวลาที่เรานอน หรือพูดอีกแบบ เราต้อง “ขาดอาหารตอนนอน”

กระบวนการนี้ถึงจะเกิดขึ้น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมการกินอาหารมื้อเดียวต่อวัน มันถึงต้องเป็น “มื้อเที่ยง” เท่านั้น เพราะถ้าไปกินมื้อเดียวแต่เป็น “มื้อเย็น” ผลคือเวลานอน ร่างกายเราก็ยังจะเหลืออาหารในระบบ และกระบวนการ “กินตัวเอง” ของเซลล์ มันก็จะไม่เกิด

การค้นพบนี้สำคัญ เพราะเอาจริงๆ ในทางวิทยาศาสตร์ มันก็ค้นพบนานแล้วว่ากระบวนการ “กินตัวเอง” ของเซลล์ มันคือสิ่งที่ “ดีต่อสุขภาพ” เพราะคนทำแล้ว พวกตัวชี้วัดทางสุขภาพมันดีหมด และที่เขาเพิ่งรู้กันก็คือมันดีระดับ “ช่วยยืดอายุ” ได้ และเราก็คงไม่มีทางรู้ ถ้าเราไม่ทดลองในสัตว์ที่มีอายุสั้นอย่างแมลงวันผลไม้

แต่เราไม่ได้ชวนทุกคนมา “กินข้าวแค่มื้อกลางวัน” เพราะนั่นก็คงจะเป็นสิ่งที่ยากเย็นแน่ๆ สำหรับคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบากทางวินัยหรือเงื่อนไขการใช้ชีวิต หรือคนที่ลองทำ อาจจะลองทำแบบผิดวิธี ทำแบบไม่เข้าใจ แล้วส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

แต่ความรู้ในเรื่องนี้ จะทำให้เราเข้าใจในเบื้องต้นว่ากระบวนการ “กินตัวเอง” ของเซลล์ทำให้อายุยืนขึ้นได้ เราก็อาจพัฒนายาที่กินเข้าไปแล้วกระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายมัน “กินตัวเอง” และผลก็คือทำให้อายุยืนยาวขึ้น โรคภัยน้อยลงนั่นเอง

อ้างอิง

  • IFLS. Intermittent Fasting – If Done Right – May Help You Live Longer, Fly Study Suggests. https://bit.ly/3ABRkp3