4 Min

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ศิลปิน ‘ควรพูดไหม’ แต่อยู่ที่เมื่อเลือกพูด แล้วดันพูดไม่ได้ คุยกับช่างภาพและผู้กำกับ ‘ตาล–ธนพล แก้วพริ้ง’ ว่าด้วย LOVE & FIRE นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดที่เต็มไปด้วยรักและอัคคี

4 Min
864 Views
05 Oct 2022

‘… Love and Fire คือนิทรรศการเดี่ยวของธนพล แก้วพริ้ง ศิลปิน ผู้กำกับ และช่างภาพ ที่ต้องการบันทึกสภาวะอันหยุดนิ่งของความรุนแรงและเกรี้ยวกราด ระหว่างการกลืนกินเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เรียกว่าไฟในนามของความรัก เพื่อพาเรากลับมาพิจารณาความเป็นไปของสามัญสำนึกที่ถูกครอง ภายใต้ห้วงยามแห่งสถานการณ์สังคมการเมืองที่สับสน …’

ประโยคข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำบรรยายนิทรรศการ LOVE & FIRE งานแสดงเดี่ยวล่าสุดของตาล–ธนพล แก้วพริ้ง ศิลปินช่างภาพและผู้กำกับชื่อดังที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในวงการมาตลอดหลายปี

ซึ่งถ้าลองไปไล่เรียงดูงานของตาลในนิทรรศการครั้งนี้ เราจะพบว่าถ้อยคำอธิบายข้างต้นนั้นไม่เกินจริงแต่อย่างใด ตั้งแต่ภาพสะพานที่ลุกไหม้กลางทะเล ไปจนถึงพระพุทธรูปที่ถูกเพลิงครอบสว่างไสว เหมือนภาพแทบทุกภาพในงานล้วนสะท้อนความหมายบางอย่างที่ลึกซึ้งมากกว่าภาพไฟเผาวัตถุอย่างที่ตาเห็น และทั่งหมดนี้เองคือสาเหตุที่พาให้เรามาสนทนากับตาลในบ่ายวันหนึ่ง

ทำไมถึงต้องเป็นไฟในนามของความรัก

ทำไมศิลปะสามารถทำให้เรากลับมาพิจารณาตัวเองในห้วงยามที่สับสน
และทำไมตาลถึงสื่อสารเรื่องนี้ในตอนนี้

ทุกคำถาม … มีคำตอบในบรรทัดถัดไป

นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดอย่าง LOVE & FIRE นั้นมีที่มาอย่างไร
เท้าความก่อนว่านอกจากการทำมาหากินที่ต้องทำเพื่อคนอื่น เราเป็นคนที่หาทำอะไรไปเรื่อยอยู่แล้ว เวลาว่างๆ เราชอบออกไปข้างนอกเพื่อสร้างงานส่วนตัว ดังนั้นพอจุดหนึ่งที่เนื้อหาสาระในมือเริ่มอยู่ตัวและคลี่คลาย เราจะนำออกมาจัดกลุ่มและออกแบบเพื่อแสดง ซึ่งกับนิทรรศการครั้งนี้ก็เป็นกระบวนการนั้น

แต่เอาเข้าจริงการแสดงงานครั้งนี้ชื่องานมาทีหลังนะ มันเกิดขึ้นตามมาหลังจากเอางานตัวเองมารวมกัน โดย ‘รัก’ ก็หมายถึงสัญญะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ส่วน ‘ไฟ’ ก็เป็นวิชวลหลักในงานเซ็ทนี้ที่เกิดจากความสนใจส่วนตัวของเราเอง ว่าพวกเราแทบไม่เคยเห็นการหยุดนิ่งของเวลาในตอนที่มีไฟเลย แต่ในขณะเดียวกันตัวไฟเองกลับโดดเด่นขึ้นมาได้ในแทบกับทุกบริบท มันทั้งรุ่มร้อน แผดเผา และทำให้บางสิ่งแปลงร่างเปลี่ยนสภาพได้ เราจึงนำเสนอแมสเสจเหล่านั้นออกมาผ่านงาน

แล้วในมุมคุณ ‘ไฟ’ นิทรรศการนี้หมายถึงอะไร

เอาเข้าจริงตอนเราใช้ไฟเพื่อสร้างงาน ตอนแรกอาจมีคิดบ้างนะ ว่ามันหมายถึงอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอทำไปเรื่อยๆ เราก็เลิกตีความแล้วล่ะ เพราะในฐานะคนทำที่ได้เห็นความงดงามที่ปรากฏตรงหน้า เราพบว่ามันไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปหาความหมาย ในเมื่อเปลวไฟในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการลุกไหม้ดีกว่า ส่วนคนดูดูงานแล้วจะคิดอย่างไร นั่นเป็นสิทธิ์ของทุกคนเลยที่จะหาความหมายในแบบของตัวเอง

ในมุมคุณ การใช้ศาสตร์ของภาพในการนำเสนอสิ่งเหล่านี้พิเศษอย่างไร
(นิ่งคิด) ภาพคือสิ่งที่เราถนัดมากกว่า แต่เราไม่ได้มองว่าภาพจะพิเศษไปมากกว่าการเล่าเรื่องแบบอื่น มันไม่ได้มีค่ามาตรฐานในความพิเศษใดๆ และเราก็ไม่ต้องไปจำกัดตัวเองว่านำเสนอแบบไหน เอาเข้าจริงเราคิดในมุมกลับกันด้วยซ้ำ ว่ากระบวนการในการเข้าไปอยู่ในเรื่องที่อยากสื่อสารต่างหากคือสิ่งสำคัญและพิเศษจริงๆ

ยกตัวอย่างเช่นนิทรรศการ LOVE & FIRE ครั้งนี้ก็ได้ แม้ดูงานแล้วอาจจะเป็นศิลปะร่วมสมัยที่เกิดจากการเผาบางอย่างแล้วเก็บภาพ แต่ในความเป็นจริงคือเราลงไปคุยกับคนในพื้นที่นั้นๆ ที่เข้ามาช่วยเราทำงานเสมอ เราได้เรียนรู้จากพวกเขาตลอด เอาเรื่องง่ายๆ อย่างการเผาก็ได้ ช่วงแรกที่เราเผาเอง ไฟลุกอยู่แค่ประมาณ 10 วินาทีเองมั้ง เราก็ได้คนพื้นที่นี่แหละที่เข้ามาช่วย รวมถึงการที่เขามาถามเราต่อด้วยว่าเผาไปทำไม การแลกเปลี่ยนตรงนั้นก็พิเศษเช่นกัน เราเลยว่าระหว่างทางต่างหากที่สำคัญ ผลลัพธ์จะเป็นอะไรก็ให้มันเป็นไปดีกว่า

ดูจากคำบรรยายนิทรรศการที่มีการกล่าวถึงสังคมและการเมืองด้วย นี่คือสิ่งที่คุณตั้งใจสื่อสารแต่แรก

ว่าอย่างงั้นก็ได้ เพราะโดยส่วนตัวเราเชื่อมาเสมอ ว่าในงานหรืออะไรก็ตามที่ทำ มันน่าจะมีการบอกกล่าวความคิดเห็นของเราผสมลงไปอยู่บ้าง ซึ่งกับนิทรรศการนี้ สิ่งที่อยากบอกกล่าวคงสืบเนื่องมาจากความเชื่อของเราที่มีมาตั้งแต่เด็ก ว่าคนเราควรถูกเลี้ยงมาให้เป็นคนและใช้ชีวิต ไม่ใช่เป็นสิ่งของหรือทาส ดังนั้นเมื่อมีโอกาส เราก็อยากพูดสิ่งที่คิดออกมาเพื่อสื่อว่าสามารถพูดถึงมันได้ปกติ เพราะในเมื่อเราพูดความจริง พูดในสิ่งที่คนเห็น มันก็ควรจะพูดได้

ในมุมคุณ คนทำงานศิลปะควรออกมาสื่อสารถึงปัญหาต่างๆ ไหม

(ส่ายหน้า) เราว่ามันเป็นสิทธิ์ของแต่ละคนมากกว่า ใครอยากสื่อสารเรื่องอะไรก็เป็นเรื่องของเขา แต่เพราะคิดแบบนี้แหละ เราเลยว่าตอนนี้ในวงการศิลปะมีปัญหาใหญ่ นั่นคือเรื่องการเซนเซอร์

อย่างงาน LOVE & FIRE ครั้งนี้ก็มีงานเราบางชิ้นที่ถูกขอไม่ให้แสดง เราเองน่ะคิดว่างานไม่ได้เสี่ยงอะไรเลย แต่เราก็เข้าใจในมุมคนอื่นว่าถ้าถูก ‘เล่น’ ขึ้นมา บ้านเมืองเราตอนนี้ก็เล่นกันได้จริงๆ โดยปราศจากกฎหมาย คนสามารถโดนทำร้ายร่างกายหรืออุ้มหายได้ เราเลยโอเคที่จะไม่แสดง เราว่านี่แหละคือสิ่งที่น่ากลัวในสังคมตอนนี้ ไอ้บรรยากาศแบบนี้ที่ครอบงำเราทั้งหมด ซึ่ง (เว้นช่วงนาน) เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปจริงๆ เหรอ ถ้าการถูกครอบงำถูกส่งต่อไปให้ลูกหลาน ตอนนั้นเราคงตั้งคำถามแล้วนะ ว่านี่กูปล่อยให้ลูกหลานกูต้องเจอแบบนี้อยู่อีกเหรอวะ

ย้ำอีกทีว่าใครจะออกมาสื่อสารก็สิทธิ์ของแต่ละคน แต่ในมุมเรา จะพูดมากพูดน้อยเราก็คิดกับตัวเองว่าพูดไปเถอะ ดีกว่าสยบยอม

ดังนั้นจะพูดหรือไม่พูดก็ได้ แต่ถ้าพูดก็ควรพูดได้
ถูก (ตอบทันที) เป็นเรื่องแบบนั้นมากกว่า

แล้วถ้ามีคนพูดเพราะรู้สึกว่าต้องพูด …

หรือพูดเพื่อเอาตัวรอด เพื่อผลประโยชน์ เราว่าพวกนี้ต่างหากที่ควรด่าแม่ง

ด้วยความเป็นศิลปินน่ะ ทำงานแบบไหนออกมา คนดูออกอยู่แล้วว่าคุณจริงหรือไม่จริง งานไม่เคยโกหก งานฟ้องหมดว่าคุณเป็นยังไง ซึ่งกับจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและสังคมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนที่รู้สึกว่า อ้าว ไม่จริงนี่หว่า และเราได้เรียนรู้จากตรงนั้นเยอะมาก

ถ้าลองมองในภาพรวมใหญ่ล่ะ ปัญหาของศิลปินตรงนี้ คนจากส่วนกลางสามารถช่วยแก้ไขได้บ้างไหม

เราว่าเขาเองก็เจอปัญหาแบบเดียวกันอยู่เหมือนกันล่ะ (หัวเราะ) ในมุมเรา ระบบของราชการไม่ได้ถูกบูรณาการ ยังมีความรู้สึกของการเป็นข้าทาสอยู่ นายคนนี้มา ฉันต้องทำอย่างนี้ คือเป็นระบบที่ทำให้คนต้องลู่ลมอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นมันกลับไปที่ปัญหาเชิงระบบอยู่ดี ซึ่งถ้าถามว่ายังไงต่อ เขาทำอะไรได้ (นิ่งคิด) ไม่รู้ แต่ก็ฝากด้วยแล้วกัน เพราะในฐานะคนทำงานที่อยู่ในระบบ เราเป็นคนหนึ่งที่พอพูดได้ว่ามีปัญหาอยู่จริง

ในมุมมองส่วนตัวล่ะ คุณคิดว่าปัญหานี้จะหมดไปไหม

เราว่าก็เหมือนทุกอย่างแหละ คือเปลี่ยนได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการบูรณาการขึ้นมาใหม่ อย่างเกาหลีใต้ก็ใช้เวลากว่า 20 ปี เจเนอเรชันถึงค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไป ประเทศเราก็อาจจะไม่ต่าง

แต่นั่นก็ขึ้นกับว่าเราตั้งต้นเมื่อไหร่ด้วยนะ เพราะก็ต้องอย่าลืมว่ามันมีคนบางเจเนอเรชั่นที่ยังคงพยายามควบคุมทุกอย่างอยู่เหมือนกัน