1 Min

กลั่นแกล้ง-ล้อเลียน ไม่ใช่เรื่องตลก เปิดสถิติ “บูลลี่” ช่วงก่อนล็อกดาวน์

1 Min
1320 Views
18 Jan 2021

การ “บูลลี่” (Bully) เป็นปัญหาหนึ่งที่ชีวิตวัยรุ่นรวมถึงผู้ใหญ่หลายคนเคยเผชิญ โดยเฉพาะในโรงเรียน และการกลั่นแกล้งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากการสำรวจวัยรุ่นอายุ 11-19 ปี จำนวน 5,345 คนในช่วงปี 2018 พบว่าในกลุ่มตัวอย่างมากถึง 2 ใน 3 ที่มีภาวะซึมเศร้า

ผลสำรวจการกลั่นแกล้งในโรงเรียนก่อนช่วงล็อกดาวน์ โดยบริษัท Wisesight พบว่าวัยรุ่นไทยถูกล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบอัตราส่วนกับสาเหตุอื่นๆ ดังนี้

  • รูปลักษณ์ 39%
  • ผิวพรรณ 23%
  • เรียนไม่เก่ง 18%
  • เพศ 10%
  • ศาสนา 5%
  • วิธีการพูด-สำเนียง 3%
  • ฐานะการเงิน 2%

กลุ่มคนที่ถูกกลั่นแกล้งล้อเลียนมากที่สุดอยู่ในช่วงวัยประถมศึกษา 29% รองลงมาคือ มัธยมศึกษา 28%, มหาวิทยาลัย 19%, อนุบาล 13% รวมถึงวัยทำงาน 11% นอกจากนี้ ในการล้อเลียนเรื่องเพศพบว่า ‘กลุ่มชายรักชาย’ เป็นกลุ่มที่ถูกล้อเลียนมากที่สุด

ประเด็นที่น่าสนใจคือกลุ่มคนที่เป็นผู้กลั่นแกล้ง ส่วนใหญ่ถึง 70% เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนทั้งรุ่นเดียวกันและต่างรุ่น รองลงมาคือกลุ่มครู-อาจารย์ 17% ส่วนใหญ่เป็นการล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์หน้าตา ตั้งฉายา และล้อปมด้อยของนักเรียน ส่วนครอบครัวเป็นผู้กระทำ 13%

การบูลลี่เป็นปัญหาที่หลายคนมองมองข้าม เพราะมองว่าเป็นเรื่อง “ธรรมดา” แต่ในอีกมุมหนึ่งผู้ที่ถูกล้อเลียนกลั่นแกล้งอาจมีปัญหาสภาพจิตใจและการใช้ชีวิตได้ และปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าก็ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่ควรมองข้าม

“เป็นวัยรุ่นไม่จำเป็นต้องเหนื่อย ถ้าเราช่วยกัน”

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รองผู้อำนายการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวในงานThaihealth Watch: จับตาพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2564” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ระบุว่าการแก้ไขปัญหาไม่สามารถเกิดจากตัวเด็กวัยรุ่นเพียงคนเดียว สิ่งสำคัญคือ “บ้าน” ที่จะช่วยซัพพอร์ทความรู้สึกของวัยรุ่น เพื่อป้องกันปัญหาโรคซึมเศร้าในเยาวชนที่มากขึ้นทุก ๆ ปี รวมถึงสื่อสารกับลูกให้เข้าใจผลกระทบของการกระทำหรือการกลั่นแกล้งของตัวเอง

“พ่อแม่” ต้องทำให้ “บ้าน” เป็นที่ปลอดภัยสำหรับลูก เพราะพ่อแม่คือคนที่มีผลกับจิตใจพวกเขามากที่สุด และเพื่อให้เด็ก ได้มีที่พึ่งทางใจ โดย สสส. ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาผ่านการให้คำปรึกษาทั้งสายด่วน และการแชทโต้ตอบ “i-message” เพื่อสื่อสารกับเด็ก ผู้ปกครอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูกในอนาคต