3 Min

เมื่อรัฐในอดีตบอกว่า “โรคระบาดเป็นเวรกรรม” และให้แก้ปัญหาด้วยการสวดมนต์

3 Min
618 Views
29 Jul 2021

Select Paragraph To Read

  • “การแพทย์ในรัฐจารีต”

ในหนังสือเรื่องจากปีศาจสู่เชื้อโรค : ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทยผู้เขียนชาติชาย มุกสงได้อธิบายเกี่ยวกับการแพทย์ไทยสมัยรัฐจารีต ไว้ว่า

ก่อนหน้าที่รัฐไทยจะมารับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชน ความไม่รับผิดชอบของรัฐไทยต่อสุขภาพอนามัยของราษฎร ได้สะท้อนให้เห็นจากการอธิบายการเจ็บป่วยและการตายว่าเป็นเวรกรรมของปัจเจกชน ซึ่งสอดคล้องกับโลกทัศน์แบบพระพุทธศาสนา อันเป็นอุดมการณ์ของรัฐไทยสมัยโบราณ

รัฐจารีตเป็นแบบไหน และทำไมเวลาโรคระบาด ได้เกิดขึ้น ความเป็นความตายของราษฎรถึงได้กลายเป็นแค่เรื่องของเวรกรรม ?

LOCALRY จะขอพาคุณย้อนกลับไปเห็นอีกแง่มุมของอดีต ที่ชีวิตของผู้คนทั่วไป อาจไม่ได้สวยงามเหมือนละครพีเรียดจอแก้ว แต่เป็นความจริง ที่ถึงอาจไม่น่าดู แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าในยุคที่รัฐยังไร้ซึ่งความรู้ และราษฎรยังไร้ซึ่งสิทธิเสียงมันเป็นอย่างไร

“การแพทย์ในรัฐจารีต”

รัฐจารีต คือ รัฐที่ศูนย์กลางไม่มีขอบเขต อำนาจเหนือพื้นที่แน่ชัด สามารถมีเมืองขึ้นจำนวนมาก สุดแล้วแต่เจ้าเมืองจะสามารถรบแย่งชิงทรัพย์หรือกำลังคนมาจากเมืองอื่นๆ ได้ ซึ่งจะปกครองในระบอบศักดินา และประชากรส่วนใหญ่คือไพร่กับทาส

ในสมัยนั้นจะมีการแพทย์อยู่ 2 แบบ ได้แก่

  1. แพทย์หลวง คือ แพทย์ที่รัฐคือราชสำนักเป็นผู้อุปถัมภ์ และมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาสุขภาพเฉพาะคนในราชสำนัก และที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานให้ไปรักษาเท่านั้น
  2. แพทย์เชลยศักดิ์ คือ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในชุมชน ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน รับค่าตอบแทนจากชุมชน การแพทย์ระบบนี้รัฐไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลแต่อย่างใด เป็นเรื่องของชุมชนเอง

บทบาทของรัฐแบบจารีตในด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพของประชาชน จึงแทบไม่มีให้เห็นอย่างเด่นชัด จะมีก็ต่อเมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยคุกคามต่อสุขภาพของไพร่และทาสของรัฐ ซึ่งคุกคามต่อการเสียกำลังคนของรัฐ

ทางแก้ไขเมื่อเกิดโรคระบาดที่ทำให้คนตายเร็วและตายมาก หรือในสมัยนั้นเรียกกันว่าโรคห่าคือ ถ้าไม่หนีย้ายเมืองย้ายคนไปที่อื่น ก็จะใช้ผีหรือเรื่องเวรกรรมให้เข้ามามีบทบาท เพราะชาวสยามสมัยนั้นเชื่อว่า โรคระบาดเกิดจากปีศาจ หรือผีทำ จึงมักใช้พิธีกรรมทางศาสนา เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้คนไปแทน

จึงเห็นได้ว่า รัฐจารีตของสยาม มีหน้าที่เพียงแค่สนับสนุนให้กำลังใจ มากกว่าป้องกันรักษาอย่างแท้จริง ประชาชนจึงต้องเอาชีวิตรอดจากโรคระบาดด้วยตัวเองไปตามเวรตามกรรม

ในค.. 1820 เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งแรก ในหลักฐานจากพงศาวดารรัชกาลที่ 2 เชื่อว่า โรคนี้เกิดขึ้นเพราะผีโกรธที่คนไปขนหินมาสร้างสวนขวาในพระราชวัง ซึ่งมีบันทึกถึงการพยายามแก้ไขภาวะโรคระบาดของราชสำนัก ดังนี้

ซึ่งจะรักษาพยาบาลแก้ไข้ด้วยคุณยาเหนจะไม่หาย จึ่งให้ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตร เมื่อ ณ วันจันท์รเดือนเจดขึ้นสิบค่ำยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนหนึ่งยังรุ่ง แล้วเชิญพระแก้วมรกฏแลพระบรมธาตุทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทรายประน้ำปริตรทั้งทางบกทางเรือ สมเดจพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศีลทั้งพระราชวงษานุวงษ์ที่มีกรมหากรมมิได้แลให้จัดซื้อปลาแลสัตว์สี่เท้าสองเท้าที่มีผู้จะฆ่าซื้อขายในท้องตลาดในจังหวัดกรุงเทพมหานครทรงปล่อย สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก

การทำพิธีกรรมสวดมนต์ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายในรัฐจารีต จึงเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงอำนาจของรัฐต่อประชาชน ผ่านนาฏกรรมพิธีหรือพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ อลังการ ซึ่งปลูกฝังให้ผู้คนเชื่อว่า การอยู่รอดปลอดภัยนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจเหนือตัวพวกเขาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผี พระ ต้นไม้ สิงสาราสัตว์ หรือพระราชา

การเปลี่ยนแปลงเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งสยามกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์ทรงมีพระบรมวินิจฉัยให้เลิกใช้พิธีการไล่ผี และทรงอธิบายว่าโรคนี้เกิดขึ้นด้วยดินฟ้าอากาศและความประพฤติที่อยู่กินของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวิญญาณจะขับไล่ได้

และเมื่อมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาเผยแพร่ความรู้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 พวกเขาก็ได้เอาทฤษฎีอายพิศม์เข้ามาเผยแพร่ ว่าโรคร้ายนั้นเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่สกปรก และเรียกร้องให้รัฐสยามจัดการด้วยระบบสุขาภิบาลในเมืองเกิดใหม่อย่างกรุงเทพฯ ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยถัดๆ มา จนมาถึงทุกวันนี้ที่เรามีระบบสาธารณสุขอย่างในปัจจุบัน

ในตอนนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่กับโรคระบาดโรคใหม่ หรือโควิด-19” ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ไปทั่วโลก

คนไทยรู้จักกับโรคระบาดนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังต่อสู้กับมันมาจนถึงกลางปี 2021 ในเวลานี้ ที่ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทีท่าหยุดยั้ง และเราเริ่มเห็นภาพของการรับมือไม่ไหวของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ภาพของคนนอนรอเตียง รอตรวจโควิด หรือแม้กระทั่ง เสียชีวิตคาบ้านพักหรือคาอกคนในครอบครัว ล้วนแล้วแต่สร้างความโศกเศร้าให้พวกเราทั้งสิ้น

ในวันนี้ วันที่เราต่างก็รู้ดีว่า ระบอบการปกครองแบบรัฐสภาต้องยกให้เสียงของประชาชนสำคัญที่สุด แถมโลกของเราก็พรั่งพร้อมไปด้วยความรู้ทางการแพทย์ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ

เราในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีอย่างถูกต้อง จึงย่อมคาดหวังให้ตนเองถูกปฏิบัติดูแลอย่างศิวิไลซ์ และย่อมกลัวการโดนปล่อยปละละเลย จนชีวิตกลายเป็นแค่เรื่องของเวรกรรมอย่างที่ราษฎรในยุครัฐโบราณต้องเจอ

อ้างอิง

  • Silpa-Mag. ยุครัฐไทย (โบราณ) ที่การเจ็บป่วยตายของประชาชนเป็นเวรกรรมสู่สมัยแห่งการปรับเปลี่ยน. https://bit.ly/3hGQZLb
  • Matichon fanpage. ติดโรคตายเป็นเรื่องของเวรกรรมโลกทัศน์ยุครัฐแบบจารีต. https://bit.ly/3ifF1Y7
  • The Momentum. สวดมนต์ไล่โรคระบาด : ประวัติศาสตร์รัฐไทยสมัยใหม่กับการจัดการโรคระบาด. https://bit.ly/3xNcRKw
  • วิเชิด ทวีกุล. ประวัติศาสตร์นิพนธ์ลำปางยุคจารีตถึงยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์. https://bit.ly/3xJRPg7
  • Waymagazine. กุลลดา เกษบุญชู มี้ด: สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จุดเริ่มต้นและการล่วงเลย. https://bit.ly/3B4AgJH