นักดาราศาสตร์เซ็ง รอบโลกมีดาวเทียมกับขยะอวกาศเยอะเกิน จนบดบังดวงดาวทั่วท้องฟ้า

2 Min
257 Views
03 Dec 2021

ตอนนี้ในอวกาศรอบๆ โลกของเรามี ‘ดาวเทียม’ ลอยเด่นคอยช่วยงานเราด้านการสื่อสาร บ้างก็ทำหน้าที่สังเกตการณ์ ปฏิบัติภารกิจลับ ตลอดจนช่วยนำทางให้เราเข้าซอยถูกบ้างผิดบ้าง มากกว่า 7,000 ดวง

ขณะเดียวกัน ‘บนนั้น’ ก็มีวัตถุที่ถูกปลดระวาง ถูกทิ้งให้ลอยเคว้งอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งก็กำลังเป็นปัญหาให้กับนักวิทยาศาสตร์ต้องคิดหาวิธีเก็บกวาดกันก่อนที่มันจะหล่นสู่โลกหรือหลุดวงโคจรไปชนดาวเทียมดวงอื่นๆ

แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ พวกเขากำลังรู้สึก ‘เซ็ง’ กับปริมาณดาวเทียมและขยะที่ลอยเด่นโดยท้าทายจนบดบังดวงดาวที่พวกเขากำลังศึกษา เป็นความรู้สึกแบบเดียวกับเวลาเราเปิดภาพถ่ายดู แล้วพบคนเดินตัดหน้ากล้องอะไรทำนองนั้น

ปัญหาของดาวเทียมและขยะอวกาศ

ยกตัวอย่างว่าหากนักดาราศาสตร์ต้องการภาพทางช้างเผือกแบบชัดๆ ก็มักมีดาวเทียมหรือขยะอวกาศลอยเข้ามาตีเนียนเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันปะปนอยู่ร่ำไป

หรือที่พบบ่อยเวลาถ่ายภาพวงโคจรของดวงดาว ก็มักมีแสงที่ไม่ได้รับเชิญพาดทับเส้นโค้งที่อุตส่าห์ตั้งกล้องรอไว้ครึ่งค่อนคืนมาเป็นของแถม

แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ดาวเทียมและขยะอวกาศจำนวนมากได้สะท้อนแสงแดดจนทำให้ท้องฟ้ากลางคืนมีความสว่างมากขึ้น และแสงที่สะท้อนก็ดันสว่างกว่าแสงดาวที่เราต้องการ กลบบังรัศมี ทำให้เรามองเห็นดาวเหล่านั้นยากยิ่งขึ้น

จากการศึกษาผลกระทบแสงสะท้อนของดาวเทียมพบว่า ฟ้ากลางคืนที่เราแหงนมองในตอนนี้สว่างกว่าอดีต 10 เปอร์เซ็นต์ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคมากแล้ว สำหรับนักดาราศาสตร์มือใหม่หรือสถาบันดวงดาวที่ไม่ได้มีเครื่องมือความละเอียดสูง

ในปี 2018 นักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างวิพากษ์บริษัทร็อกเก็ตแล็บของนิวซีแลนด์ ที่แอบปล่อยดาวเทียม ที่เรียกว่า “ดวงดาวแห่งมนุษยชาติ” ลักษณะเหมือนกับลูกบอลดิสโก้ โคจรไปรอบโลกและทำได้แค่สะท้อนแสงให้คนมอง ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากการพีอาร์ตัวเอง ที่เหลือก็มีแต่จะขัดขวางการสังเกตดวงดาวและวัตถุบนท้องฟ้าของนักดาราศาสตร์ไปวันๆ

ตามดัชนีของวัตถุที่ปล่อยสู่อวกาศ ซึ่งดูแลโดยสำนักงานกิจการอวกาศแห่งสหประชาชาติ ระบุถึงข้อมูลเมื่อช่วงสิ้นเดือนเมษายนว่า มีดาวเทียมจำนวน 7,389 ดวงในอวกาศ มากกว่าปี 2020 ร้อยละ 27.97 นำโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, SpaceX และ OneWeb

แต่ก่อนนักดาราศาสตร์มักมีปัญหาว่าเมืองใหญ่เปิดไฟมากไปจนแสงฟุ้งขึ้นฟ้า แต่เรื่องพวกนี้แก้ไขไม่ยาก ถ้าเมืองไม่ยอมปิดไฟ พวกเราก็ไปสร้างหอดูดาวในที่ไกลปืนเที่ยงแทนได้

แต่แสงที่เกิดจากดาวเทียมบนฟ้าไกล ก็คงทำอะไรได้ไม่มากกว่าการศึกษาผลกระทบและนำเรื่องนี้มาบอก สะท้อนเป็นเสียงกลับไปยังบริษัทนักส่งดาวเทียมทั้งหลายให้ช่วยจัดการดาวเทียมที่จะส่งขึ้นไปอีกมากในอนาคต และหาวิธีจัดการในส่วนที่หมดอายุให้หายไปจากอวกาศเสียที

อ้างอิง:

  • RAS. Satellites contribute significant light pollution to night skies. https://bit.ly/3waGi9D
  • Geospatial world. Causes for the growth in the number of satellites. https://bit.ly/2ZNRGfk
  • BBC. วงการดาราศาสตร์วิจารณ์สนั่น เอกชนปล่อยดาวเทียมสะท้อนแสงบดบังดาวบนท้องฟ้า. https://bbc.in/3EX7ig3