เราทุกคนล้วนมีเรื่องโกหกเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยจนไปถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่เราต้องการปิดบัง แท้จริงแล้วที่เราโกหกเพื่อคนอื่น หรือตัวเองกันแน่
มันอาจจะเป็นได้ทั้งสองอย่าง เพราะในบางเรื่องการโกหกจะช่วยให้ความสัมพันธ์ยังคงเดินหน้าต่อ แต่กับบางเรื่อง การโกหกอาจนำไปสู่ จุดแตกหักของความสัมพันธ์แทน
ยิ่งเราโตขึ้น เราจะรู้สึกว่าการโกหกเป็นเรื่องธรรมดาและชินกับมันไปเสียแล้ว เพราะถ้าให้เทียบกับการพูดตรงๆ แล้วทำร้ายคนอื่น สุดท้ายก็จบไม่ดี มันก็ดูคุ้มค่าที่จะโกหกใช่ไหมล่ะ
ความหวังดีในบางกรณี การโกหกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นการส่งเสริมให้คนบางคนกล้ามากขึ้น อย่างเช่น เพื่อนเราเพิ่งหัดทำขนมครั้งแรก แต่มันไม่ได้ดีตามที่ควรจะเป็น เราจะพูดออกไปว่า ‘มันห่วย’ ‘มันแย่’ ‘ไม่อร่อย’ แบบนี้หรือ? นั่นคงเป็นคำพูดที่ใจร้ายและบั่นทอนจิตใจคนฟังได้ดีที่เดียว แน่นอนว่าถ้าเราแคร์เขา เราจะไม่พูดสิ่งนั้นออกไป เราอาจจะบอกเขา ‘เจ๋งมากเลย’ ‘เก่งมากเพื่อน’ อะไรก็ว่าไปที่ทำให้คนรู้สึกอยากพัฒนาตัวเองต่อ
แต่เมื่อไหร่ที่เราโกหกเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิด นั่นเป็นการโกหกที่แย่มาก เพราะเราเลือกที่จะผลักคำลวงให้กับคนอื่นและสร้างความเจ็บปวด ยิ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงและเรารู้ว่ามันจะส่งผลไม่ดีในอนาคต นั่นไม่ควรทำ เพราะความรู้สึกสึกที่ถูกพังทลายมันง่าย แต่การจะประกอบความรู้สึกที่เสียไปขึ้นมาใหม่มันยาก ต้องมาคอยระแวงว่าเมื่อไหร่จะเจอแบบนั้นซ้ำอีกรอบ
เราโกหกเพื่อให้เขารู้สึกดี ไม่ใช่ปิดบังเพื่อให้เขามารู้ทีหลังแล้วรู้สึกแย่ หากลองคิดในมุมว่าถ้าเราเป็นคนที่โดน เราก็คงเสียใจมากๆ และไม่เชื่อใจใครง่ายๆ ต้องจมอยู่กับความทุกข์ ความระแวงเหมือนกัน
แม้ว่าการโกหกเรื่องเล็กน้อย มันจะดูไม่เป็นปัญหาอะไร แต่เมื่อเราโกหกไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะชิน แล้วใช้การโกหกไปกับหลายๆ เรื่องที่มันไม่ควร เพราะเราก็มองมันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว สิ่งไหนที่เราสามารถพูดความจริงได้เราก็ควรพูด อาจหาคำพูดที่ไม่ทำร้ายจิตใจคนฟังหรือการบอกดีๆ พร้อมช่วยเสนอทางแก้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก คนฟังจะไม่รู้สึกว่าเขาถูกทำร้ายและถูกทิ้งขว้างด้วยคำพูด
อ้างอิง
- Bustle. The Science Behind Why People Lie. https://bit.ly/3ueuF1M
- Forbes. Three Reasons Why White Lies Are The Worst Solutions To Your Problems. https://bit.ly/3jamHQX
- Psychology Today. What Is a White Lie?. https://bit.ly/3NSCaDG