จากคดีความหัวหน้า รปภ. ก่อเหตุข่มขืนลูกบ้านในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง สืบพบว่าผู้ก่อเหตุเคยมีประวัติคดีชำเราเด็กเมื่อปี 2560 ซึ่งตามเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ชี้ชัด หากเคยมีคดีความทางเพศตามกฎหมายอาญา ‘ไม่สามารถขอใบอนุญาต รปภ. ได้’ ตามลักษณะต้องห้าม จนเกิดเป็นคำถามว่าเพราะเหตุใดคอนโดดังกล่าวจึงว่าจ้างผู้มีประวัติคดีทางเพศมาก่อน
จากกรณีนายมนตรี ใหญ่กระโทก หัวหน้า รปภ. ของคอนโดมิเนียมย่านบางแค ก่อเหตุข่มขืนชำเราลูกบ้านเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา เป็นที่จับตาของสังคม เนื่องจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกลับกลายเป็นผู้ก่อเหตุเสียเอง โดยปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจยังอยู่ระหว่างการสืบสวนติดตามตัวและขออนุมัติหมายศาลเพื่อจับกุม ที่สำคัญคือเมื่อสืบประวัติต่อไปยังพบว่านายมนตรีได้เคยมีคดีชำเราเด็กที่จังหวัดสระแก้วเมื่อปี 2560
เรื่องนี้ทำให้สังคมกลับมาตั้งคำถามว่าคนที่เคยก่อคดีความลักษณะนี้สามารถเป็น รปภ. ได้หรือไม่?

security | alawi
อันที่จริงด้วยเงื่อนไขตามกฎหมายแล้ว คำตอบคือ ‘ไม่ได้’
เพราะการเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือ รปภ. นั้นไม่ใช่ว่าใครอยากจะเป็นก็สามารถเป็นได้ทันที เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องมีการลงทะเบียนละต้องได้รับ ‘ใบอนุญาต’ จากทางสถานีตำรวจอย่างชัดเจนโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขทางกฎหมาย และต้องได้รับใบอนุญาต 60 วันก่อนการทำงาน
ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ระบุว่าผู้ที่จะประกอบอาชีพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ ต้องเป็นคนไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ หรือชั้น ม.3 รวมทั้ง ต้องได้รับหนังสือรับรองว่า ได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย จากสถานฝึกอบรม ที่นายทะเบียนกลาง (ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล) เป็นผู้รับรองเท่านั้น
ประเด็นสำคัญคือผู้ที่เป็น รปภ. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือสำหรับคนที่เคยต้องโทษมาก่อนจะต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 3 ปีจึงจะสามารถขอรับใบอนุญาตได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานความผิดเกี่ยวกับ ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์ ยาเสพติด หรือ การพนัน แต่เงื่อนไขนี้ ‘ยกเว้นคดีความทางเพศ’ ตามกฎหมายอาญา
กล่าวคือ ถ้าหากว่าเคยก่อคดีทางเพศมา ไม่ว่าจะพ้นโทษมาแล้วเกิน 3 ปี หรือนานกว่านั้นก็ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตเป็น รปภ. ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

security | tanapatclean
ดังนั้นในกรณีล่าสุดที่หัวหน้า รปภ.ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุเคยมีประวัติก่อคดีทางเพศฐานคดีชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา แม้จะพ้นโทษมาเกิน 3 ปีแล้ว แต่ยังอยู่ในลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 อยู่อย่างชัดเจน
ทางด้านบริษัทรักษาความปลอดภัยที่นายมนตรีทำงาน ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่ามีการตรวจสอบของ รปภ.ในบริษัท โดยในวันที่สมัครงานนายมนตรีได้นำใบอนุญาต รปภ.7 มายื่นเป็นเอกสารร่วมด้วย และที่ผ่านมามีพฤติกรรมที่ดีไม่มีปัญหากับใคร ทำให้ทางบริษัทไม่ทราบว่านายมนตรีมีพฤติกรรมแบบนี้
จากประเด็นที่เกิดขึ้นนำไปสู่คำถามว่าการคัดกรองและตรวจสอบประวัติของบริษัทรักษาความปลอดภัยในประเทศไทยนั้นมีความเข้มงวดมากเพียงไร? และการปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบข้อมูลบุคคลในสังกัดอย่างละเอียด จนนำไปสู่การก่ออาชญากรรม ถือว่าบริษัทต้นทางมีความผิดด้วยหรือไม่?
อ้างอิง
- ไทยรัฐ. จ่อหมายจับ หน.รปภ.ใส่กุญแจมือลูกบ้าน ข่มขืนในคอนโด เอาผิดนิติบุคคลด้วย. https://bit.ly/3JH8g3b
- Khaosod. บริษัทแจงแล้ว! ช็อกรับรปภ.หื่นเข้าทำงาน เผยก่อนหน้าทำตัวดีไม่มีปัญหา–โทษบริษัทไม่ได้. https://bit.ly/3t64Q3U
- ไทยรัฐ. กฎหมายใหม่ รปภ. คุมเข้มอัพคุณภาพ. https://bit.ly/3F6cr56
- พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558. https://bit.ly/3JH8eZ7