ทำตัวแบบ ‘ลุง-ป้าข้างบ้าน’ ให้ถูกจังหวะ อาจช่วยชีวิตเด็กที่ถูกละเมิดได้

4 Min
529 Views
22 Sep 2023

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

“การเลี้ยงเด็กสักคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” (It Takes a Village to Raise a Child) เป็นสำนวนเก่าแก่ที่ว่ากันว่ามีรากเหง้าจากชุมชนในแอฟริกา แต่กลายเป็นสิ่งที่ได้ยินกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในยุคนี้ และหลายกรณีก็บ่งชี้ว่า คำกล่าวนี้ไม่ผิดจากความจริงนัก เพราะเหตุการณ์ที่เด็กถูกละเมิดหรือถูกละเลยจนส่งผลกระทบต่อการเติบโตและใช้ชีวิตของเด็กมีมาให้ได้ยินบ่อยๆ ล่าสุดในไทยก็มีกรณีพ่อแม่ ‘ฆ่าโบกปูน’ ลูกตัวเอง จนเกิดคำถามว่าคนรอบข้างจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหยุดยั้งเหตุการณ์เหล่านี้

คดีที่ ‘ส่องศักดิ์’ และ ‘สุนัน’ สองสามีภรรยาถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าสังหารและอำพรางศพลูกของตัวเองยังอยู่ระหว่างสอบสวนข้อมูลเพิ่มเติม แต่หลักฐานและคำให้การของพยานจำนวนมากบ่งชี้ว่าเด็กที่ตกเป็นเหยื่อไม่ได้มีแค่เด็กที่อยู่ในความดูแลของทั้งคู่ในปัจจุบัน แต่รวมถึงเด็กคนอื่นๆ ที่เคยอยู่ในความดูแลของส่องศักดิ์และอดีตภรรยาด้วย

เรื่องนี้สะเทือนใจใครหลายคน และมีคำถามเกิดขึ้นพร้อมกันในสื่อโซเชียลว่าเราต้องทำอย่างไรเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เด็กๆ ในสังคมถูกทำร้าย (ทั้งจาก ‘คนอื่น’ และ ‘พ่อแม่ผู้ปกครอง’)

เพราะในหลายสังคมมีค่านิยมและความเชื่อว่า “พ่อแม่มีสิทธิ์ในตัวลูก” ไม่ว่าจะดุด่าหรือลงโทษอย่างไร คนนอกครอบครัวก็ไม่ควรเข้าไปยุ่ง แต่เหตุการณ์ที่เด็กถูกละเมิดจำนวนมากบ่งชี้ว่าค่านิยมนี้ต้องเปลี่ยนให้ได้ และต้องมองมุมใหม่ว่าการสอดส่องดูแลของคนรอบข้าง อาจช่วยป้องกันไม่ให้เด็กถูกละเมิดหรือถูกทำร้ายได้ แม้บางครั้งอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นพฤติกรรม ‘จุ้นจ้าน’ แบบ ‘ป้าข้างบ้าน-ลุงข้างบ้าน’ ก็ตามที

จะแยกแยะอย่างไรว่าพฤติกรรมแบบไหนคือการล่วงละเมิดเด็ก?

มีคำอธิบายจาก SOS Thailand (มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์) ที่ย้ำว่าต่อให้เป็นพ่อแม่ ญาติมิตร ผู้ดูแล ครู เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเอกชน ตลอดจนเด็กๆ ดัวยกันเอง ถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้จะถือว่า ‘ละเมิด’ เพราะเป็นการกระทำที่ส่งผลด้านลบแก่เด็กหรือผู้ที่ถูกละเมิด ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. การละเมิดทางด้านร่างกาย (Physical Abuse) 
  2. การละเมิดทางเพศ (Sexual Abuse) 
  3. การละเมิดทางด้านวาจาและอารมณ์ (Verbal and Emotional Abuse) 
  4. การละเมิดปล่อยปละละเลย/เพิกเฉย (Neglect) 

ถ้ายกตัวอย่างแบบละเอียดจะเห็นว่า ‘การทำร้ายร่างกาย’ หมายถึง การใช้ความรุนแรงต่อเด็กโดยรวม เช่น การทุบ การตบ การสาดน้ำร้อนใส่ การใช้ไฟลวก หรือแม้แต่การตีเด็กโดยบอกว่าเป็นการลงโทษและสั่งสอนด้วยความหวังดี ก็ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้หลักผู้ใหญ่คนใดจะทำได้โดยไร้เงื่อนไขหรือไร้ความผิด เพราะต้องดูเป็นกรณีไปว่าการกระทำนั้น ‘เกินกว่าเหตุ’ หรือไม่

ส่วนการละเมิดทางเพศ หมายถึง การกระทำที่ไม่เหมาะสมทางเพศกับเด็ก เช่น การสัมผัสอวัยวะต่างๆ ที่ภายใต้ร่มผ้าด้วยวิธีการที่ใหม่เหมาะสม การบังคับให้เด็กสัมผัสอวัยวะเพศ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก การบังคับหรือล่อลวงเด็กให้มีกิจกรรมทางเพศ รวมถึงการเผยแพร่สื่ออนาจารให้กับเด็ก

ขณะที่การละเมิดทางด้านวาจาและอารมณ์ หมายถึง การใช้คำพูดหรือถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยาม รวมทั้งการนำข้อมูลที่เป็นความลับของเด็กมาเปิดเผย

แต่สิ่งที่สังเกตได้ยากที่สุด คือ การละเมิดด้วยการปล่อยปละละเลย ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับรายงานของ Vice สื่อออนไลน์ ที่รายงานข่าวการจับกุมสองสามีภรรยาตระกูลเทอร์พิน (Turpin Family) ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2018 โดยตำรวจได้บุกเข้าไปช่วยเหลือเด็ก 13 คนที่มักจะถูกขังด้วยการล่ามโซ่ในห้องใต้ดินอยู่เกือบจะตลอดเวลา และเด็กพยายามขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านเมื่อได้ออกไปข้างนอก

สื่ออเมริกันรายงานว่า เด็กๆ ตระกูลเทอร์พินถูกพาตัวออกไปนอกบ้านเป็นบางครั้ง แต่เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะพ่อแม่บอกว่ากำลังสอนแบบโฮมสคูล และเมื่อเด็กปรากฏตัวต่อสาธารณะก็ไม่ได้มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย แต่เพื่อนบ้านสังเกตว่าเด็กดูเหมือนขาดสารอาหาร ไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งยังมีท่าทีหวาดกลัวไม่กล้าสบตาผู้คน ซึ่งตรงกับข้อมูลของมูลนิธิโสสะ ที่บอกว่าการปล่อยปละละเลยคือพฤติกรรมที่พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กไม่สนใจหรือไม่กระทำในสิ่งที่ควรทำ 

ถ้าใครสังเกตเห็นเด็กในละแวกบ้าน หรือเด็กๆ ที่รู้จักหรือเคยพบหน้า มีพัฒนาการที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย เช่น อาจจะตัวเล็กหรือแคระแกร็นเกินไป มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือสุขอนามัยไม่ดี เช่น ฟันผุ สวมเสื้อผ้าไม่สะอาด นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่บ่งชี้ว่า เด็กอาจไม่ได้รับการใส่ใจจากผู้ปกครองเท่าที่ควร ถ้าสังเกตเห็นเด็กคนไหนที่ดูเข้าข่าย 1 ใน 4 ข้อ (หรือทั้งหมด) ที่ว่ามาแล้ว ก็ควรแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเข้าไปสอบสวนข้อเท็จจริง

พบเห็นเบาะแสเด็กถูกละเมิด ต้องทำยังไง

ข้อมูลจากเว็บไซต์มูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็กระบุว่า ถ้าพบเห็นเด็กถูกทำร้ายหรือถูกกระทำด้วยความรุนแรงในที่สาธารณะ ‘ให้รีบเข้าไปช่วยเหลือเด็กทันที’ เพื่อให้การทำร้ายนั้นหยุดลง และเด็กได้รับความปลอดภัย (แต่คนที่เข้าไปช่วยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองด้วย) 

ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม (สายด่วน 1300) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด (ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ตรงกับภูมิลำเนาของผู้แจ้งเบาะแสด้วย) หรือถ้าเป็นกรุงเทพฯ จะติดต่อไปที่เบอร์มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0 2412 1196 ก็ได้เช่นกัน

ผู้แจ้งข้อมูลต้องระบุให้ชัดเจนว่าเด็กที่ถูกทำร้ายเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนทำร้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะขอชื่อหรือเบอร์ติดต่อของผู้แจ้งเอาไว้ด้วย เผื่อกรณีที่ต้องการติดต่อกลับเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งตามหลักแล้วข้อมูลของผู้แจ้งจะต้องถูกปิดเป็นความลับเพื่อความปลอดภัย

และที่สำคัญ กรณีเจ้าหน้าที่หรือผู้ดูแลในมูลนิธิหรือหน่วยงานด้านการพิทักษ์เด็กเป็นฝ่ายละเมิดเด็กเสียเอง (เช่น กรณีอดีต สว. หรืออดีต ผอ.สำนักพุทธฯ ถูกตั้งข้อหาจากการซื้อประเวณีเด็ก 15 ปี หรือกรณีมีผู้นำคลิปเด็กถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิคุ้มครองเด็กมาเปิดเผย จนนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต) ก็เป็นเรื่องที่คนในสังคมก็ต้องช่วยกันติดตาม ทวงถามและเรียกร้องความคืบหน้าด้วยเช่นกัน เพราะผู้ที่ก่อเหตุประเภทนี้ไม่ควรได้กลับไปเกี่ยวข้องกับการดูแลหรือคุ้มครองเด็กอีก

อ้างอิง

  • Khaosod. ดอดมอบตัวแล้ว อดีตสว. นักการเมืองพรรคดัง คดีซื้อกามเด็กสาว 15. https://tinyurl.com/ywrp6rxh 
  • ThaiPBS. ไทม์ไลน์คดี “เอ็ม ฆ่าโบกปูนลูก”ขยายผลฆาตกรรม 4 ศพ. https://tinyurl.com/3x6asb5t 
  • Thairath. ปิดคดีบ้านพักเด็ก แจ้งข้อหา “ครูยุ่น-ภรรยา” ทำร้ายเด็ก บังคับใช้แรงงาน. https://tinyurl.com/4nppec29 
  • SOS Thailand. 4 ประเภทของการละเมิดสิทธิเด็ก. https://tinyurl.com/3msucdf9 
  • Thai Child Rights. เมื่อพบเห็นเด็กถูกกระทำด้วยความรุนแรง คุณจะช่วยอย่างไร? https://tinyurl.com/mua65va3 
  • Vice. How Do You Know if Your Neighbors Are Torturing Their Kids? https://tinyurl.com/2zz7dp9u