‘กสิกรไทย’ ทุ่ม 2.7 พันล้าน บุกตลาดเวียดนาม ตั้งเป้ายกระดับสู่ธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3
การเติบโตและขยายสาขาสู่ต่างประเทศ นับว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจหลากหลายประเภท รวมถึง ‘ธุรกิจธนาคาร’ ที่ต้องการเพิ่มฐานลูกค้า ต้องการขยายสาขา สร้างการเติบโต และที่สำคัญ การขยับขยายดังกล่าว ก็จะช่วยตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าของธนาคารมากขึ้นอีกด้วย
และในวันนี้ เราจะมาพูดถึงเรื่องราวของ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ (KBANK) ที่เมื่อไม่นานมานี้ พวกเขาได้ตอกย้ำความเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศไทย โดยการเดินหน้าขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศ ‘AEC+3’ (กลุ่มประเทศอาเซียน และ 3 ประเทศอย่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันกสิกรไทยนับเป็นธนาคารที่มีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่ม AEC+3 เกือบมากที่สุด
มีเครือข่ายครอบคลุมมากถึง 16 แห่ง ซึ่งรวมถึง ‘สาขานครโฮจิมินห์’ เป็นสาขาล่าสุด ทำให้ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีสถาบันทางการเงินที่เป็นพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก เครือข่ายสตาร์ทอัพในภูมิภาคที่ธนาคารลงทุน และพันธมิตรรวมมากกว่า 20 ราย ตลอดจนมีฐานลูกค้าในภูมิภาคกว่า 1.85 ล้านคน
นอกจากนี้ในอนาคตธนาคารกสิกรไทยยังตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2566 จะมีฐานลูกค้าบุคคลเวียดนาม 1.2 ล้านราย อีกทั้งจะกวาดยอดสินเชื่อ 22,000 ล้านบาทในเวียดนามอีกด้วย
ลุยหลังโรคระบาด เดินหน้าธุรกิจธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนยุคหลังโควิด-19 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก และยังโดดเด่นกับตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก จึงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
“รวมทั้งการขยายตัวของดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ธนาคารจึงเดินหน้าขยายบริการในภูมิภาค เพื่อเชื่อมต่อโอกาสให้แก่ธุรกิจไทย และส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการในประเทศท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน สินเชื่อได้สะดวก และครอบคลุมความต้องการในทุกพื้นที่”
เสริมแกร่งธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 ด้วยวิธีการชาเลนเจอร์แบงก์
โดยแผนธุรกิจธนาคารในภูมิภาค 3 ปีต่อจากนี้ จะเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เสริมทัพทีมงาน การลงทุนในสตาร์ทอัพ และเข้าซื้อกิจการในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ส่วนงบที่ใช้ลงทุนอยู่ที่ราว 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ผสานด้วยดีเอ็นเอแห่งชาเลนเจอร์แบงก์ ส่งมอบบริการบนดิจิทัลสู่ผู้ใช้งานในท้องถิ่นได้อย่างคล่องตัวสูง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3
กลยุทธ์ 3 จุดแข็ง ความสัมพันธ์ลูกค้า-พันธมิตร-เทคโนโลยี
ทั้งนี้ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยได้ขยายธุรกิจในตลาดภูมิภาค AEC+3 ด้วยยุทธศาสตร์ ‘Asset-Light Digital Banking Strategy’ ที่มุ่งเน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยมีกลยุทธ์การทำธุรกิจใน 3 แนวทาง ดังนี้
- รุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ (Aggressive Play) ทั้งลูกค้าที่เข้าไปลงทุน และลูกค้าท้องถิ่น
- ขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร (Mass Acquisition Play) โดยเน้นการให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อการทำธุรกรรมในระดับภูมิภาค ด้วยการเป็น Regional Payment Platform
- พัฒนาการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (Disruptive Play) โดยเฉพาะการให้สินเชื่อดิจิทัล โดยใช้ Alternative Data ซึ่งทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Underbanked เป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ใน AEC+3 ได้มากขึ้น เพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจ Banking-as-a-Service (Baas)
บุกปักธงในเวียดนาม ตลาดดาวเด่นแห่งอาเซียน
ด้าน พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวอีกว่า เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วที่สุดในอาเซียน เนื่องจากศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก
อีกทั้งมีนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมเป้าหมายในการเป็น ‘ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี’ แห่งใหม่ของเอเชีย ในขณะที่มีประชากรกว่า 100 ล้านคน มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย และพบว่าประชากรเวียดนามมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซื้อสินค้าออนไลน์
นี่จึงเป็นโอกาสใหม่ๆ ของธนาคารกสิกรไทยในการเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่นำ ‘ดิจิทัล โปรดักส์ โซลูชัน’ เต็มรูปแบบ เพื่อให้บริการลูกค้าทุกเซกเมนต์ ทั้งกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น และต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจบริการ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม และลูกค้าบุคคลและธุรกิจขนาดเล็ก ผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบุคคล และระบบการรับชำระเงิน
โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีของธนาคารในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้ง กับโมบายแบงกิ้งของไทย ไปต่อยอดการพัฒนาบริการให้แก่ลูกค้าในเวียดนาม ทั้งการใช้ ‘K PLUS Vietnam’ เป็นแกนหลักในการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้แก่ลูกค้าบุคคล เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าได้ทั่วประเทศ และการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดิจิทัล
ซึ่งเริ่มจาก ‘KBank Biz Loan’ ที่ให้สินเชื่อแก่ร้านค้าขนาดเล็ก โดยเน้นการเข้าถึงลูกค้าผ่านทางพันธมิตรและแพลตฟอร์มท้องถิ่นผ่านการลงทุนของ KASIKORN VISION ซึ่งเป็นบริษัททำหน้าที่ด้านการลงทุนของธนาคาร รวมถึงการตั้ง KBTG Vietnam เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการทั้งในเวียดนาม และในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี เรื่องราวดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า ธนาคารกสิกรไทยได้เดินหน้าเข้าสู่ตลาดของเวียดนาม ด้วยการบริการดิจิทัลที่เชื่อมต่อเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางธนาคาร และแพลตฟอร์มพันธมิตร
นับเป็นการตอกย้ำถึงยุทธศาสตร์ของธนาคารในการก้าวเป็น ‘ธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3’ อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยวิธีการ ‘ชาเลนเจอร์แบงก์’ ที่เน้นความคล่องตัวสูง และเข้าถึงผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี