1 Min

รู้จัก ‘จาเมส์ วู’ อาการขั้วตรงข้ามของ ‘เดจา วู’ เมื่อคุณลืมสิ่งที่คุ้นเคยไปชั่วขณะ

1 Min
20607 Views
02 Jul 2020

หลายคนน่าจะรู้จัก ‘เดจา วู’ อาการที่รู้สึก ‘คุ้นเคย’ หรือ ‘จำได้’ กับสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น จนเข้าใจว่า นี่คือลางบอกเหตุหรือเห็นอนาคต

แต่ถ้าเป็นอาการขั้วตรงข้าม เพราะดัน ‘จำไม่ได้’ ล่ะ คุณรู้จักไหม?

‘จาเมส์ วู’ (Jamais Vu) เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “ไม่เคยเห็น”

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จู่ๆ ก็รู้สึกไม่คุ้นเคยกับเรื่องที่ควรจะคุ้นเคย เช่น คุณกำลังมองหน้าเพื่อนสนิท แล้วก็รู้สึกว่าเพื่อนคนนี้เหมือนเป็นคนแปลกหน้าขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง

หรือเวลาที่เขียนตัวหนังสือด้วยคำง่ายๆ ที่เรารู้จัก แต่ชั่วขณะนั้นกลับรู้สึกว่า เหมือนจะเขียนไม่ถูก เพราะตัวอักษรดูไม่คุ้นตา เป็นต้น

อาการทั้ง ‘จาเมส์ วู’ และ ‘เดจา วู’ มีการอธิบายถึงสาเหตุไว้หลากหลายทฤษฎี แต่โดยหลักแล้ว กระบวนการทั้งจำได้และลืมนั้นเกิดขึ้นในสมอง เมื่อเซลล์ประสาทที่กระตุ้นไขสมองไม่สามารถประมวลผลได้อย่างราบรื่น ทำให้การจัดเรียงข้อมูลในสมองไม่เป็นระเบียบ แล้วพอกลับมาทำงานตามปกติก็พยายามดึงข้อมูลมาปะติดปะต่อกันภายหลัง (บางครั้งก็ต่อผิดจนเกิดเป็นอาการเดจา วู ที่คิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว)

ส่วนอีกทฤษฎีอธิบายว่า เป็นความผิดปกติของจุดกำเนิดกระแสไฟฟ้าในสมอง หรือตรงสมองกลีบขมับ (Temporal lobe epilepsy) ซึ่งจะส่งผลต่อ อารมณ์ พฤติกรรม และความทรงจำ เมื่อเกิดความผิดปกติก็ทำให้สมอง “สะดุด” อยู่ชั่วขณะหนึ่งนั่นเอง

แม้ว่าอาการ “ลืม” ไปชั่วขณะ จะดูเป็นเรื่องปกติ แค่ถ้าเกิดอาการจาเมส์ วู ในกลุ่มผู้ป่วยโรควิตกกังวลจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะความรู้สึก “ไม่คุ้นเคย” กับเรื่องต่างๆ จะไปเพิ่มความวิตกได้อย่างมาก

ลองจินตนาการว่า ถ้าหากวันหนึ่งคุณนั่งอยู่ในสวนหน้าบ้านตัวเอง จู่ๆ ก็รู้สึกเหมือนกับว่า “ที่นี่คือที่ไหน” และ “ฉันไม่ได้อยู่ที่นี่” ขึ้นมาชั่วขณะหนึ่งฟังดูเป็นเรื่องน่ากลัวไม่น้อย

แล้วคุณล่ะ เคยมีอาการจาเมส์ วู ที่อยู่ดีๆ ก็ลืมสิ่งที่คุ้นเคยไปชั่วขณะ บ้างรึเปล่า?

อ้างอิง: