คุยกับ ‘นุชนภางค์ ชุมดี’ หัวหน้าสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี สาขาเดียวในไทยที่ศึกษาเรื่องท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนเห็นพลังในประวัติศาสตร์เล็กๆ ของตัวเอง
เพราะประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ใบไม้ที่ร่วงหล่นและสลายหายไปเป็นสิ่งอื่น
แต่ประวัติศาสตร์คือการบันทึกเรื่องราวในห้วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงการหยั่งรากที่ลึกซึ้งของตัวเอง และสังคมที่อาศัยอยู่ ดังนั้นแม้แต่เศษเสี้ยวเล็กๆ ของประวัติศาสตร์จึงสำคัญมาก เพราะมันสามารถบอกเล่าถึงชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็นภาพใหญ่
บนสายธารประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ส่วนใหญ่มักถูกยึดครองโดยรัฐชาติ จนอาจทำให้เรื่องราวเล็กๆ ของชุมชนถูกกลืนกลายหายไป ยังมีสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (Local History) สาขาวิชาเล็กๆ ที่เพิ่งตั้งต้นเพียง 7 ปี ในรั้วคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
สาขาวิชาที่พยายาม Empower ให้ท้องถิ่นเล็กๆ ได้เห็นว่า เรื่องเล่าของตัวเองมีพลังมากกว่าที่คิด และเรื่องเล่าของคนธรรมดาในชุมชนธรรมดา ต่างมีความสลักสำคัญมากพอที่จะเป็นชิ้นส่วนหลักของการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของผืนแผ่นดิน เพราะข้อมูลจากทุกพื้นที่ที่มาประกอบกันจะทำให้คนเห็นถึงรายละเอียดของประวัติศาสตร์ทั้งชาติที่ถูกเชื่อมโยงกันอย่างมีมิติสลับซับซ้อน
และที่สำคัญที่สุด คือ การศึกษาที่ทำให้เราได้ค้นพบราก ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของตัวเอง
BrandThink สนทนากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุชนภางค์ ชุมดี หัวหน้าสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาวิชาที่มีเพียงแห่งเดียวในไทย ภายใต้คณะที่มีแห่งเดียวในประเทศ
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคืออะไร สนใจเรียนรู้เรื่องราวแบบไหน ศึกษาค้นคว้ากันด้วยวิธีแบบใด และสำคัญต่อสังคมไทยของเรามากแค่ไหน คำตอบของอาจารย์นุชนภางค์จะไขข้อสงสัยเหล่านี้เอง
อยากรู้ว่า จริงๆ แล้วความหมายของ ‘ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น’ คืออะไร
ความหมายแล้วแต่การให้คำอธิบายของอาจารย์แต่ละคน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว อย่างงานของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม หรืออาจารย์หลายๆ คนที่ทำการศึกษาในพื้นที่ที่เป็นท้องถิ่น รวมถึงอาจารย์ยงยุทธ ชูแว่น ผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยด้วย
ในมุมของเรา คือการศึกษาประวัติศาสตร์ เรื่องราวในอดีต แต่สเกลพื้นที่ศึกษา อาจเหลือแค่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะไม่ใช่การศึกษาประวัติศาสตร์ภาครัฐ หรือระดับชาติ ฉะนั้นสเกลจะโฟกัสเล็กลง นิยามสั้นๆ ว่าเป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่น ทั้งในด้านมิติสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง ซึ่งจะเป็นตัวที่ช่วยให้เข้าใจสังคมที่เราอยู่ เพราะสังคมที่เราอยู่กับความเป็นประวัติศาสตร์ชาติไม่ได้มองส่วนย่อยๆ อย่างชุมชนท้องถิ่น
ถ้าเช่นนั้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือประวัติศาสตร์กระแสรองหรือเปล่า
แต่เดิมจะเรียกประวัติศาสตร์ชาติว่าเป็นกระแสหลัก แต่ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะเป็นกระแสรอง
การเรียกชื่อเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จุดหนึ่งทำให้เห็นถึงสเกลพื้นที่เจาะจงลงไป หลายคนอาจมองว่าพื้นที่แคบไปหรือเปล่า อาจรู้สึกว่าพื้นที่เล็กเพราะเป็นเรื่องท้องถิ่น แต่ความจริงการรับรู้เรื่องประวัติศาสตร์เล็กๆ จะทำให้เข้าใจได้กว้างขึ้น เพราะมองหลายมิติในหลายๆ ท้องถิ่น ฉะนั้นการที่เราเข้าใจท้องถิ่นแต่ละที่ซึ่งมีความแตกต่างในตัวผู้คน วัฒนธรรม และประเพณี หรือชาติพันธ์ุ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจภาพรวมของสังคม
เมื่อนำมาปะติดปะต่อจะทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ชาติ เพราะเราเข้าใจชาติจากการมองจากภาพใหญ่เพื่อเข้าใจท้องถิ่นทั้งหมดไม่ได้ แต่ถ้ามองจากพื้นที่รายละเอียดข้างล่างร่วมกัน จะมองเห็นว่าชาตินั้นประกอบขึ้นจากท้องถิ่นใดบ้าง
แสดงว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้เราละเลยจนมองไม่เห็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่เล็กๆ เหล่านี้หรือเปล่า
เราอาจเข้าใจประวัติศาสตร์ที่มีจุดประสงค์เพื่อการสร้างสำนึกร่วมความเป็นชาติในไทย แต่นานวันเข้าความเป็นท้องถิ่นก็จะค่อยๆ เลือนหายไป ในขณะที่ปัจจุบัน เราอยู่ในโลกที่พยายามมองความแตกต่างหลากหลาย แต่เรากลับไม่ได้รู้จักคนกลุ่มอื่นๆ มากนัก เรารู้จักเขาในฐานะคนไทย แต่เราไม่เคยรู้ว่าในประเทศไทย มีคนกลุ่มไหนอาศัยอยู่บ้าง มีอยู่ไม่กี่คนที่พยายามจะเข้าใจคนท้องถิ่นที่มีอยู่หลากหลาย และมีอยู่ไม่กี่คนที่จะเข้าใจคนท้องถิ่นทั้งหมดได้
เราเลยคิดว่าการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งหลายคนน่าจะเริ่มเห็นถึงความสำคัญ เพราะว่าภาครัฐจะทำเรื่องการท่องเที่ยวก็ต้องสนใจท้องถิ่น ซึ่งเราจะเอาแค่แนวทางของภาครัฐหรือโครงการต่างๆ ไปโยนให้ท้องถิ่นเลยไม่ได้ คนที่จะนำสิ่งต่างๆ ไปหยิบยื่นให้ชุมชนต้องรู้จักเขาก่อน ว่าแนวนโยบายต่างๆ ที่จะเอาไปให้พวกเขา เขาพร้อมหรืออยากรับหรือไม่
ในมุมของเราการได้ศึกษาและเข้าใจท้องถิ่นจะทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลง แต่ละท้องที่ ซึ่งต่างกันไป มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน เราจะเห็นและเข้าใจถึงความแตกต่างของคนแต่ละคนแบบลงรายละเอียด
ตอนนี้ต่อให้เราบอกว่าท้องถิ่นเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าเราตระหนักในท้ายที่สุดว่าทุกวันนี้เรายังรู้จักประเทศนี้ไม่หมดเลย เพราะในระดับท้องถิ่นมันยิบย่อยมากกว่าที่คิด ในกรุงเทพฯ ถ้าเรามองในฐานะประวัติศาสตร์ชาติ ที่นี่ก็คือเมืองหลวง แต่ความจริงเมืองแห่งนี้มีความเป็นท้องถิ่น ตามย่าน ถนน ตรอก ซอกซอย แหล่งเรียนรู้ต่างๆ เหล่านี้คุณเคยรู้จักแล้วหรือยัง
เพราะฉะนั้นท้องถิ่นกรุงเทพฯ ถ้ามองในมุมศาสตร์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราจะเห็นกรุงเทพฯ อีกหลายมิติ ถ้าเรามองแค่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงมันอาจจบแค่เป็นเมืองที่มีรถไฟฟ้าและความเจริญทางวัตถุ
อย่างรอบรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ท่าช้างไปจนถึงท่าพระจันทร์ ทั้งนโยบายจากภาครัฐ การปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆ มีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงหมด อย่างท่าเตียนถูกพัฒนาเป็นย่านท่องเที่ยวจนเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือมองออกไปในย่านชุมชนเก่าในเกาะรัตนโกสินทร์ มีชุมชนที่ดำรงอยู่ด้วยอาชีพแบบดั้งเดิม แต่เราก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจความเป็นกรุงเทพฯ ในอีกหลายมุมที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน
ถ้าเราเข้าใจและพูดในมุมของความเป็นท้องถิ่น เราจะรู้ข้อจำกัดและรู้ศักยภาพของกรุงเทพฯ และจะเห็นว่าท้องถิ่นของกรุงเทพฯ ซอยย่อยออกมาได้เยอะมากในแต่ละย่าน ทั้งที่เป็นคนดั้งเดิมอยู่กันตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และคนที่อพยพเข้ามาใหม่
ตอนลงพื้นที่ชุมชนไปศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเจออะไรที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอจนรู้สึกเซอร์ไพรส์บ้างไหม
จริงๆ แทบทุกเรื่องเซอร์ไพรส์หมด เพราะท้องถิ่นแต่ละที่มีลักษณะเฉพาะ อย่างทำงานที่กรุงเทพฯ เราก็จะเห็นแต่ละท้องที่ เช่น ย่านมุสลิม เดินไปตามเส้นทางของกลุ่มศาสนสถาน เดินไปในย่านต่างวัฒนธรรม หรือเข้าไปในย่านตลาดต่างๆ ที่ซ่อนตัวเป็นสถานที่ลึกลับที่มีอยู่จำนวนมากเลย สิ่งนี้ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราได้เจอ
อย่างพื้นที่ที่เราเริ่มพานักศึกษาไป เช่น จังหวัดสมุทรสาคร จะได้เห็นชุดวัฒนธรรมที่ไม่เคยได้เจอมาก่อน เราเคยเรียนรู้ว่าที่สมุทรสาครมีคนมอญนะ แต่อาจพบว่ามอญที่นี่ไม่ได้เหมือนคนมอญที่อื่น ทำให้เราว้าวได้เหมือนกัน
อย่างงานชิ้นแรกๆ ที่เราทำ เราอาจเคยรับรู้เรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่บางกอกน้อย รู้เรื่องราวผ่านตัววรรณกรรม หรือผ่านเรื่องเล่ามากมายของคนในพื้นที่ แต่เมื่อไปทำเรื่องนี้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เป็นเรื่องราวอีกส่วน หรือไปที่จังหวัดกาญจนบุรีได้มาเรื่องราวหนึ่ง ฉะนั้นเรื่องเล่าที่ถูกเล่าผ่านมุมมองของท้องถิ่น ประสบการณ์ของชุมชนหรือผู้บอกเล่าจะทำให้เห็นข้อมูลที่แตกต่างกันได้
ตอนลงพื้นที่ชุมชนไปศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เจออะไรที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอจนรู้สึกเซอร์ไพรส์บ้างไหม
จริงๆ แทบทุกเรื่องเซอร์ไพรส์หมด เพราะท้องถิ่นแต่ละที่มีลักษณะเฉพาะ อย่างทำงานที่กรุงเทพฯ เราก็จะเห็นแต่ละท้องที่ เช่น ย่านมุสลิม เดินไปตามเส้นทางของกลุ่มศาสนสถาน เดินไปในย่านต่างวัฒนธรรม หรือเข้าไปในย่านตลาดต่างๆ ที่ซ่อนตัวเป็นสถานที่ลึกลับที่มีอยู่จำนวนมากเลย สิ่งนี้ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราได้เจอ
อย่างพื้นที่ที่เราเริ่มพานักศึกษาไป เช่น จังหวัดสมุทรสาคร จะได้เห็นชุดวัฒนธรรมที่ไม่เคยได้เจอมาก่อน เราเคยเรียนรู้ว่าที่สมุทรสาครมีคนมอญนะ แต่อาจพบว่ามอญที่นี่ไม่ได้เหมือนคนมอญที่อื่น ทำให้เราว้าวได้เหมือนกัน
อย่างงานชิ้นแรกๆ ที่เราทำ เราอาจเคยรับรู้เรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่บางกอกน้อย รู้เรื่องราวผ่านตัววรรณกรรม หรือผ่านเรื่องเล่ามากมายของคนในพื้นที่ แต่เมื่อไปทำเรื่องนี้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เป็นเรื่องราวอีกส่วน หรือไปที่จังหวัดกาญจนบุรีได้มาเรื่องราวหนึ่ง ฉะนั้นเรื่องเล่าที่ถูกเล่าผ่านมุมมองของท้องถิ่น ประสบการณ์ของชุมชนหรือผู้บอกเล่าจะทำให้เห็นข้อมูลที่แตกต่างกันได้
คุณเคยรับรู้ประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่เมื่อไปศึกษาหัวข้อเดียวกันในพื้นที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้วพบข้อเท็จจริงคนละแบบบ้างไหม
เคย อย่างเราเรียนประวัติศาสตร์ชาติ ชาติจะทำหน้าที่คัดสรรชุดความทรงจำให้คนรับรู้ เพื่อสำนึกในความเป็นคนไทย แต่เมื่อเราไปในท้องถิ่นจะมีเรื่องราวอื่นๆ เรื่องเล่าอาจจะเหมือนหรือแตกต่างก็ได้ อย่างประวัติศาสตร์ชาติที่รับรู้ชุดเดียวกัน แต่ละชุมชนอาจเล่าคนละแบบ
อย่างสุพรรณบุรีหรือพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ที่อยู่ร่วมกับประวัติศาสตร์ชาติ เขาจะมีชุดวีรบุรุษและชุดความทรงจำที่เขาดึงประวัติศาสตร์ชาติไปสร้างเรื่องราวของตัวเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ ทุกคนรู้จักพระนเรศวรฯ แต่ขณะเดียวกัน เราจะเห็นศาลพระนเรศวรฯ ในหลายๆ จังหวัด เขาจะมีเรื่องเล่าในท้องถิ่นเกี่ยวกับตัวพระนเรศวรฯ แตกต่างกันออกไป อย่างที่แม่ฮ่องสอนก็จะมีเรื่องราวพระนเรศวรฯ ของตัวเอง อาจจะอยู่ภายใต้โครงเรื่องใกล้ๆ กัน แต่การเล่าต่างกัน
สิ่งนี้หมายถึงการนำประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรฯ ไปเล่ารายละเอียดในเวอร์ชั่นของชุมชนตัวเองหรือเปล่า
เขาไม่ได้เล่ารายละเอียดเอง แต่บอกเล่าต่อๆ กันมา บางเรื่องเหมือนคล้ายกัน แต่บางเรื่องไม่ได้ตรงกัน แต่เราอาจทำความเข้าใจได้ว่าชุมชนในพื้นที่นั้นเกี่ยวข้องกับพระนเรศวรฯ ในแง่เส้นทางทัพจากอยุธยาไปยังภาคเหนือ อย่างเส้นที่เราไปเจอที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็จะมีเรื่องราวของพระนเรศวรฯ และมีศาลตั้งอยู่ เขาเล่าว่าพื้นที่ชุมชนอยู่ในเส้นทางการเดินทัพ เราไม่ได้ไปตัดสินว่าใช่หรือไม่ เพราะในปัจจุบัน ก็ไม่อาจยืนยันได้ชัดเจนว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นเส้นทางที่พระนเรศวรฯ เดินทางผ่านจริงๆ
เรามองกรณีแบบนี้เป็นการช่วงชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ได้ไหม
ในกรณีนี้อาจจะมองแบบนั้นได้ แต่ต้องมองว่าเขาเอาเรื่องราวไปทำอะไร อย่าลืมว่าที่ผ่านมาตัวท้องถิ่น เรื่องราวพวกนี้ไม่ได้ถูกเอามาช่วงชิงโดยตรง เพราะว่ามันเป็นเรื่องเล่าที่บอกต่อกันมานานแล้ว ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ฉะนั้นบางเรื่องถ้ามองในปัจจุบันอาจเป็นการช่วงชิง แต่การช่วงชิงก็แปลว่า ตัวรัฐไม่เคยได้เปิดโอกาสให้ชุมชนเล่าเรื่องราว
ถ้าเรามองในบริบทก่อนหน้า ช่วงก่อน 2520 รัฐไม่ค่อยได้เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีตัวตนเต็มที่ เพราะรัฐยังคงให้ความสำคัญกับการเป็นประวัติศาสตร์ชาติ ทำให้เรื่องของท้องถิ่นไม่ได้ปรากฏตัวนัก แต่เมื่อเริ่มค่อยๆ ปรากฏตัวหลัง 2520 และ 2540 เป็นต้นมา เราเข้าใจว่าเรื่องพวกนี้มีการบอกเล่าอยู่แล้วในชุมชนและท้องถิ่น แต่ขึ้นอยู่กับผู้ตีความว่า นี่คือการช่วงชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์หรือไม่
ปัจจุบันในมุมของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ความมุ่งหมายคือการทำให้เราได้เข้าใจความเป็นท้องถิ่น และเราเชื่อว่า ถ้าในท้องถิ่นได้มีสำนึกความเป็นท้องถิ่นขึ้นมา เขาก็จะมีพลังในการต่อรองหรือตอบรับ และตอบโต้ภาครัฐ เขาเลือกที่จะทำหรือไม่ทำตามรัฐก็ได้
เมื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้ปรากฏตัว จะทำให้เขาได้ประกาศว่า ตัวเองเป็นใครกันแน่ เขาเป็นคนมาจากที่ไหน เข้าใจความเป็นชาติพันธุ์ มีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างไร
ไม่น่าเชื่อว่าจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามารถพาเราไปไกลถึงประเด็นการเมืองได้เลย
ได้สิ สมมติว่าเดิมที นโยบายภาครัฐส่วนกลางส่งไปท้องถิ่นก็จะรับ จะทำอะไรก็ได้หมด แต่ปัจจุบันภาครัฐเองก็ต้องตระหนักถึงความจำเป็น ท้องถิ่นในทุกท้องที่ไม่ได้ต้องการสาธารณูปโภคเพียงอย่างเดียว แต่เขายังมีความต้องการเรื่องอื่นๆ ที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นเขาต้องการแสดงความต้องการ แสดงศักยภาพ และตัวตนของท้องถิ่นออกมาเพื่อให้มันสอดรับกับนโยบายของภาครัฐในแบบที่เขาต้องการด้วย
จากวิชาเล็กๆ ในหมวดวิชาประวัติศาสตร์ของคณะโบราณคดี ทำไมถึงได้พัฒนาจนกลายเป็นสาขาวิชาหลักของคณะในที่สุด
ต้องยกความดีความชอบให้ รศ.สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ อาจารย์เป็นผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาตั้งแต่ต้น อาจารย์พยายามที่จะสร้างวิชาขึ้นมา จากจุดนั้นก็ได้พัฒนามาเรื่อยๆ
จริงๆ ในวันที่หลักสูตรนี้ตั้งขึ้นมา อาจารย์ก็มีส่วนสำคัญต่อการผลักดัน ก่อนเกษียณอายุ อาจารย์เคยทำงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ทำงานในราชบุรี และสุพรรณบุรี ฉะนั้นจึงเป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มต้นการทำหลักสูตร อย่างเรามาทำงานที่นี่ก็เพื่อเปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาด้วย ก่อนหน้าที่จะเปิดก็วางแผนกันกว่า 10 ปี เริ่มจากการสร้างบุคลากรก่อน จนกระทั่งเริ่มทำหลักสูตร ถ้าวัดจากแค่ตัวเราก็ใช้เวลาเป็น 10 กว่าปี กว่าจะประสบความสำเร็จ เราเรียนจบที่คณะโบราณคดีช่วงปี 2540 จนเราเริ่มทำงานในฐานะอาจารย์ที่คณะโบราณคดีปี 2549 กว่าจะได้เปิดสาขานี้ขึ้นมาจริงๆ ก็ปี 2559
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นน่าสนุก น่าสนใจ และมีความสำคัญอย่างไร ทำไมคนเราจึงควรเรียนรู้เรื่องพวกนี้ด้วย
ถ้าในมุมของเรา ความสนุกของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือการทำงานภาคสนาม สิ่งสำคัญคือตัวชุมชน เพราะเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ เสน่ห์คือการได้เข้าไปทำความรู้จักผู้คน การได้ไปฟังประสบการณ์ชีวิตของคนอื่น เพราะแต่ละท้องถิ่นก็จะมีมุมมองของตัวเอง
เราอยากให้ชุมชนท้องถิ่นแต่ละที่ได้ปรากฏตัวออกมา ผ่านงานของนักศึกษาและคณาจารย์ สร้างให้มีพื้นที่เรื่องเล่าสำหรับท้องถิ่นนั้นๆ ทุกที่มีประวัติศาสตร์ของเขา ถ้าเราไม่เข้าไปบันทึกหลายเรื่องอาจจะหายไป เพราะว่าสังคมไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพื้นฐานเป็นสังคมที่ไม่ค่อยบันทึก เราจึงต้องเข้าไปขอข้อมูล ไม่อย่างนั้นข้อมูลจะหายไปพร้อมกับการจากไปของคน
บางท้องถิ่นเขาไม่ได้มองว่าต้องบันทึก เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่พอเราเข้าไปถาม เขาจะเริ่มตระหนักว่า เฮ้ย เรื่องของเขาสำคัญและมีประโยชน์
มองในแง่การทำข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้าง สาขาวิชานี้มีระเบียบวิธีการศึกษาอย่างไร
การทำงานอาจไม่ต่างไปจากสายสังคมศาสตร์ทั่วไป เราคิดคำถาม เก็บข้อมูล หาหลักฐาน นำมาวิเคราะห์ เป็นขั้นตอนปกติ แต่ว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ความสำคัญกับเรื่องของหลักฐานมาก เพราะเราเรียนรู้อดีตผ่านหลักฐาน
เดิมเราใช้แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ แต่เมื่อเป็นหลักฐานท้องถิ่น เราไม่รู้หรอกว่าเขาเก็บอะไรไว้บ้าง ความน่าสนใจของการศึกษาก็คือ เราจะหาหลักฐานอะไรจากชุมชนบ้าง เราสามารถใช้เอกสารเหมือนการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติได้ทั้งหมด แต่ในภาคสนามเราต้องการรู้จักหลักฐานในชุมชน
เบื้องต้นเราต้องรู้จักพื้นที่ก่อน ชุมชนที่เราศึกษาเป็นยังไง สำรวจสภาพแวดล้อมการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นแบบไหน ชาวบ้านอยู่กันอย่างไร ศูนย์กลางชุมชนอยู่ตรงไหน ใครมีบทบาทสูงสุดในชุมชน เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เรียกว่าบริบทของพื้นที่
เราขึ้นไปบ้านหลังหนึ่งก็อยากเห็นภาพถ่าย ซึ่งเป็นหลักฐานที่จะช่วยทำให้เข้าใจท้องถิ่นได้ ถ้ามีโอกาสก็ควรได้เห็นหลักฐานทุกชิ้น เพราะสามารถทำให้เข้าใจท้องถิ่นได้ และสิ่งที่สำคัญขั้นถัดมาคือคนต้นเรื่องหรือเจ้าของเรื่อง เราสนใจเรื่องอะไร ก็ไปหาคนต้นเรื่องคนนั้น เช่น ภาพรวมของท้องถิ่นอาจมาจากคนเฒ่าคนแก่ที่เห็นภาพการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เกิดจนปัจจุบัน พ่อแม่ของเขาเล่าอะไรให้ฟังบ้าง อพยพย้ายถิ่นมาจากไหน คำบอกเล่าของเขาจะเป็นอีกหลักฐานที่เอามาใช้
บางพื้นที่อาจไม่ได้มีหลักฐานครบทุกอย่าง เมื่อไม่ใช่รัฐ หลักฐานประเภทบันทึกจึงน้อย ไม่ใช่ทุกคนที่จะจดบันทึกความทรงจำ ทำให้ทุกที่มีหลักฐานแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน อย่างการทำสารนิพนธ์ นักศึกษาจะมาเล่าปัญหาและข้อจำกัดของหลักฐานที่เจอมาคนละแบบ เพราะท้องถิ่นมีปัญหาคนละชุดกัน
เท่าที่ผ่านมามีประเด็นการศึกษาท้องถิ่นแบบไหนของตัวผู้เรียนที่น่าสนใจบ้าง
รุ่นที่เพิ่งเรียนจบไปมีเพียง 3 รุ่นเท่านั้น เบื้องต้นเราอยากผลักดันให้เขาศึกษาพื้นที่ที่เขาอยู่ ลดข้อจำกัดของการศึกษาด้วยการเป็นคนใน ทุกอย่างจะง่ายขึ้น การทำงานพวกนี้มีกรอบ เช่น อย่างน้อยต้องไปศึกษา 1 ปี
อย่างไปทำงานพื้นที่อีสาน สำเนียง ถ้าไม่ใช่คนใน ภาษาจะเป็นข้อจำกัด เราจึงพยายามให้เขาทำพื้นที่ที่บ้าน เพราะมีคนรู้จักทำงานได้เข้าถึง อีกมุมคือผู้เรียนจะได้ตามหารากของตัวเองด้วย
แต่จะมีบ้างในกรณีนักศึกษาต่างจังหวัดอาจมีข้อจำกัดในการกลับไปทำงานที่บ้าน ก็สามารถทำในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ตัวเองสนใจ หรืออาจจะมีคนสนใจพื้นที่ใกล้เคียงบ้านตัวเอง เช่น พื้นที่ที่พ่อหรือแม่เขาเคยอยู่ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับตัวคนศึกษา
หลายๆ คนทำให้เราได้รู้จักหลายท้องถิ่นที่เราไม่เคยได้รู้จักมาก่อนเลย เพราะท้องถิ่นหมู่บ้านเรามีนับพันนับหมื่น อย่างล่าสุดนักศึกษาปี 2 พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่เราไม่เคยได้ยินเลย การเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยิ่งเรียนไปเรานึกว่าตัวเองจะรู้ทุกเรื่อง แต่ไม่เลยนะ ตอนนี้เปิดสาขามาจนจะมีเด็กรุ่นที่ 8 แล้ว เรายังมีท้องถิ่นอีกมากมายที่ยังไม่รู้จัก
ตัวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เมื่อศึกษาต้องมีกรอบของเวลา เวลาของเราอยู่ที่ 150 ปี ตรงนี้เราดูจากอะไร มันคือคน 4 ชั่วอายุคน จากรุ่นเราไปถึงรุ่นทวด บางที่ยังพอมีคนเล่าชุดความทรงจำได้ ทำให้มีหลากหลายช่วงเวลา แต่อาจจะไม่ได้ยาวนานเหมือนประวัติศาสตร์ชาติที่ยาวไปถึงสมัยสุโขทัย หรือชุดความรู้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะคนในพื้นที่ บางคนอยู่ไม่เกิน 200 ปี หรือหมู่บ้านอาจเพิ่งตั้ง ชุมชนส่วนใหญ่มีอายุแค่ 100 – 200 ปี แต่สำหรับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถือว่ายาวนานแล้วในแง่ความทรงจำต่างๆ ของคน
มีสิ่งหนึ่งที่เราจะบอกนักศึกษาคือ ท้องถิ่นแต่ละที่มีช่วงเวลาที่เกิดเรื่องราวต่างๆ ของตัวเอง ไม่ต้องศึกษาทั้งหมดแต่เลือกยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงมาศึกษาได้ หรือจะทำทั้งชุดก็ได้ จะทำในมิติสังคม วัฒนธรรม การเมือง หรือเศรษฐกิจก็ได้ มันมีเรื่องให้ทำเยอะมาก เพราะประเด็นเดียวก็ไม่ได้ทำให้เข้าใจท้องถิ่นทั้งหมด ต้องหาจิ๊กซอว์ไปเรื่อยๆ และท้องถิ่นก็เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของประเทศไทย มีอีกหลายจิ๊กซอว์ที่เรายังไม่เจอ
ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ประโยคที่คุณบอกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะทำให้คนเรียนได้เจอรากของตัวเองคืออะไร
เด็กคนหนึ่งทำงานในพื้นที่ท้องถิ่นบ้านเกิดตัวเองที่จังหวัดตรัง เขาถูกตั้งคำถามจากคนในชุมชนกลับมาว่าทำไมถึงทำวิจัยที่บ้าน ทั้งที่ตัวเองไม่เคยสนใจชุมชนมาก่อน เพราะตัวเขาเองออกจากบ้านมาเรียนในเมือง แต่เมื่อทำงานก็กลับไปทำที่บ้าน แรกๆ อาจจะมีปัญหา แต่เมื่อค่อยๆ ทำความรู้จัก จากที่ไม่พูดภาษาถิ่นก็กลับมาพูด คุยกันกับชุมชนได้รู้เรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ จนคนต้นเรื่องเปิดใจเอาของทุกอย่างในบ้านตัวเองมากองบนโต๊ะให้ดู นักศึกษาได้เห็นหลักฐานที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้งานของเขาโดดเด่นมากจากหลักฐานเหล่านี้
เรามีข้อสงสัยว่า คนเรียนจบสาขาวิชานี้ไปจะเอนจอยและนำเอาความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงอย่างไรได้บ้าง
คำถามนี้ยากสุด เพราะหลักสูตรเราใหม่มาก ตลาดแรงงานไม่รู้จักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรานึกก่อนเลยว่ายุคสมัยนี้ผู้เรียนเอนจอยอะไร แต่เท่าที่คุยกับเด็กที่จบไปทำงานแล้ว มีหลายคนบอกว่า หลายที่รับทำงาน เพราะเขาเคยลงภาคสนาม นักศึกษาดีใจมากที่เขาได้งานเพราะประสบการณ์นี้ สายงานของนักศึกษาไม่ได้จำเพาะว่าต้องทำอาชีพอะไร ยิ่งในสมัยนี้ที่ไม่ได้ตายตัวเรื่องอาชีพ มีคนไปเรียนต่อยอดด้านประวัติศาสตร์บ้าง ด้านการจัดการวัฒนธรรมบ้าง แต่ก็มีการทำงานที่หลากหลายด้วย ฝ แต่สิ่งที่เด็กของเราได้แน่นอนคือเขียนงานเป็น หาหลักฐานเป็น ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องได้ ประเมินหลักฐานได้ หาคอนเทนต์ได้ และออกภาคสนามเก่ง
ถ้าเข้ามาเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี จะต้องเจอกับวิชาอะไรกันบ้าง
วิชาที่แม้เแต่คนที่ไม่เคยมาเรียนและอยากเรียนกันมากคือวิชาตำนานไสยศาสตร์ โดย ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี
เป็นวิชาที่ถูกพูดถึงในหน้าสื่อเยอะมาก การสอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีหลายมิติ อย่างเรื่องตำนานประวัติศาสตร์ความเชื่อก็มี
แต่ตัวเริ่มต้นคือวิชาพื้นฐานแนวคิดวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ให้เข้าใจศาสตร์ตั้งแต่ปรัชญา มาจนถึงแนวคิดและวิธีการเรียนรู้ พอชั้นปีที่สูงขึ้นมาก็ต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิพนธ์เพื่อการวิจัย พร้อมกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคสนาม ค่อยๆ ไต่ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาเรื่อยๆ จนปีสุดท้ายทำสัมมนา และ Individual Study
ต้องออกภาคสนามในวิชาบังคับ 5 วัน แต่วิชาอื่นๆ ก็มีการลงพื้นที่หลายๆ วิชา เช่น มุสลิมในไทย จีนในไทย เพื่อออกไปทำความรู้จักกลุ่มคน หรือวิชากลุ่มภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน และภาคตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จะทำให้เขาเข้าใจทั้งเรื่องคนและพื้นที่ และสิ่งที่เพิ่มมาในหลักสูตรปรับปรุงใหม่คือการเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเชิงประยุกต์ทั้งหลาย เช่น การเขียนสารคดี การจัดการสารสนเทศ การจัดการพิพิธภัณฑ์ หรือการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม
ทั้งศาสตร์วิชา และตัวบุคลากรทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ผลิตออกมาจะไปเปลี่ยนแปลงสังคมไทยของเราอย่างไรบ้าง
ความตั้งใจคือการสร้างให้ชุมชนท้องถิ่นมีสำนึกและตัวตนขึ้นมา เขาจะตระหนักถึงความสำคัญ เมื่อเด็กๆ หันมาสนใจสิ่งเหล่านี้ คนในชุมชนก็จัรู้ว่าเรื่องของตัวเองสำคัญ นำไปสู่การอนุรักษ์ อาจดูโลกสวยแต่เป็นการทำให้เรื่องราวของเขายังอยู่ต่อไป
ทั้งสำนึกในวัฒนธรรม สำนึกในความเป็นชาติพันธ์ุของตัวเอง มันมีพลังมากนะ มันคือสำนึกของการมีส่วนร่วมในท้องถิ่น เมื่อมีคุณค่า เรื่องของมูลค่าก็ต่อยอดได้
ถ้าเรารู้ว่าอดีตของตัวเองเป็นใคร และปัจจุบันเรายืนอยู่บนพื้นฐานแบบไหน มันคือการเรียนรู้อดีต เพื่อเรียนรู้ปัจจุบัน และนำไปสู่การวางแผนอนาคต
การรู้จักท้องถิ่นคือการรู้จักตัวเอง เพราะคนเราอยู่โดยไร้รากไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวเองมาจากไหนไม่ได้ เวลาเราสอนวิชาแนวคิดทางประวัติศาสตร์อย่างแรกที่เราอยากให้ผู้เรียนรู้คือการรู้จักตัวเองก่อน
ส่วนสังคมจะได้อะไรจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ถ้าเราเริ่มจากการศึกษาจุดเล็กๆ ให้ดี แล้วจุดเล็กๆ ที่ดีมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สังคมใหญ่ก็จะดี เราเชื่ออย่างนั้นนะ
ได้ยินมาว่าช่วงเปิดสาขาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นครั้งแรกในปี 2559 มีคนมาเรียน 17 คน แต่รุ่นหลังๆ มีคนสมัครเข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง คุณคิดว่าทำไมคนถึงตัดสินใจมาเรียนศาสตร์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะตลาดงานดีขึ้น เรามาในจังหวะที่ดี ในช่วงเวลาที่สังคมให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คนยุคนี้กำลังกลับมาสำรวจที่มาที่ไปของเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต อีกเรื่องคือความรู้ในประวัติศาสตร์ชาติมันมีมากอยู่แล้ว คนอาจตั้งคำถามมากขึ้นว่า แล้วจะมีทางไหนอีกบ้างที่จะทำให้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ในแง่มุมอื่นๆ ได้อีก
เราคิดว่า เทรนด์พวกนี้กำลังมา การพัฒนาสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป อย่างตัวรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เปิดโอกาสให้คนเข้ามามีในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นของตัวเอง จุดนี้ก็มีส่วนให้คนในท้องถิ่นเริ่มสนใจเรื่องราวของตัวเองมากขึ้น และส่งผลมาถึงทุกวันนี้ด้วย
ซึ่งเมื่อคนท้องถิ่นตระหนักถึงพลังและศักยภาพของตัวเอง เขาก็สามารถงัดประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนธรรมดามาสู้กับอำนาจของประวัติศาสตร์กระแสหลักของรัฐด้วย
ในมุมของเราการงัดมาสู้กันแบบนี้ไม่ใช่เรื่องของการเอาชนะ แต่เป็นการสู้กันเพื่อให้เห็นภาพของชาติที่สมบูรณ์ เมื่อประวัติศาสตร์ชาติไม่ได้ทำให้เราเข้าใจทุกอย่างได้ทั้งหมด แต่เราเข้าใจทุกอย่างมากขึ้นด้วยประวัติศาสตร์ส่วนอื่นๆ อย่างเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อย หรือผู้คนกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มประวัติศาสตร์สามัญชนมันทำให้เราเข้าใจสังคมภาพรวมได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ต่อจากนี้ไปเรื่องราวของเส้นเวลาเพียงเส้นเดียวจะถูกแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ และกลายเป็นหลายๆ Universe และให้เราไปพบเจอ
ในอนาคตประวัติศาสตร์ชาติอาจถูกมองในมุมท้องถิ่นมากขึ้น เราจะเห็นความหลากหลายของคนมากขึ้น อย่างเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกลุ่มที่นำหน้าด้วยคำว่า ‘กบฏ’ ทั้งหลาย ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลจากรัฐชาติมาก่อน เรื่องเล่าพวกนี้ถูกเก็บซ่อนไว้ในชุมชนท้องถิ่นมานาน เมื่อถูกบอกว่าเป็นกบฏมันคือการบ่งบอกถึงความพ่ายแพ้สูญเสีย
แต่ในปัจจุบันถูกหยิบยกมาแสดงถึงพลังบางอย่างได้ การต่อสู้อาจไม่ใช่เพื่อเอาชนะ แต่เป็นเครื่องมือต่อรองกับภาครัฐได้ เพราะฉันมีตัวตนนะ ฉันมีชุดความทรงจำแบบนี้นะ ประวัติศาสตร์จึงไม่ได้มีเพียงการบอกเล่าเพียงชุดเดียวอีกต่อไป