คุยกับ ‘แอมเนสตี้ ประเทศไทย’ องค์กรที่หลายคนมองว่าโลกสวย แต่ไม่เคยช่วยอะไรเลย

8 Min
1146 Views
10 Mar 2023

‘เข้าข้างผู้ร้าย ไม่เห็นใจเหยื่อ’
‘รับโรฮิงญาไปอยู่บ้านตัวเองเลยไหม’
‘สร้างความแตกแยก จาบจ้วงเบื้องสูง’
‘แทรกแซงกิจการภายใน รับเงินต่างชาติ ทำร้ายประเทศตัวเอง’
ฯลฯ

นอกเหนือจากการเรียกร้อง ‘สิทธิมนุษยชน’ ในประเด็นต่างๆ แล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเกลียดชัง การก่นด่า สาปแช่ง ไปจนถึงการขับไล่ไสส่งให้ออกไปจากประเทศ มักจะเป็นของคู่กันกับองค์กรอย่าง ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ อยู่เสมอ ทั้งที่โดยหลักการแล้วนี่คือองค์กรอิสระที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานและยังเป็นสาธารณประโยชน์แก่คนทุกกลุ่มในสังคม ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร หรือสมาทานความเชื่อทางการเมืองแบบไหน

ทำไมบางคนจึงมอง ‘แอมเนสตี้’ ไปในทิศทางนั้น

BrandThink ชวน ‘นุช’ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มาพูดเกี่ยวกับตัวตนของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อคืออะไร และท่ามกลางกระแสก่นด่าและเกลียดชัง ทำไมพวกเขายังเลือกที่จะเดินหน้าต่ออย่างไม่ลดละ

ส่วนความรู้สึกของคุณที่มีต่อพวกเขาจะเป็นอย่างไร อ่านจนจบแล้ว พวกคุณจะรู้สึกกับองค์กรนี้แบบไหน พวกคุณคงต้องตอบคำถามเหล่านั้นด้วยตัวเอง

อยากให้เล่าถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และแอมเนสตี้ ประเทศไทยโดยสังเขป

‘ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนสากล’ หรือ ‘แอมเนสตี้’ เกิดมาจากคนธรรมดาที่รู้สึกทนต่อความอยุติธรรมไม่ได้ และเลือกลุกขึ้นมาเพื่อทำอะไรสักอย่าง ถ้าเทียบเป็นมนุษย์ คนๆ นี้ก็กำเนิดมาประมาณ 60 กว่าปีแล้ว

พวกเรายึดหลักตามปฏิญญาสากล เป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อปี ค.ศ. 1948 ซึ่งปฏิญญานั้นก็คือหลัก 30 ข้อที่ทุกคนพึงมี และพึงเคารพ ซึ่งทุกชาติต้องยึดถือไว้เป็นเกณฑ์ ก่อนจะไปประยุกต์และปรับใช้เป็นกฎหมายของแต่ละประเทศต่อๆ ไป

งานทุกอย่างเราทำเพื่อให้ทุกคนได้ใช้สิทธิ์ในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งหัวใจหลักของเราก็คือใครๆ ก็สามารถลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ได้

แอมเนสตี้เป็นที่รู้จักในเมืองไทย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากการรณรงค์ปลดปล่อย “นักโทษทางความคิด” มีจดหมายนับแสนฉบับจากคนทั่วโลกส่งมาถึงรัฐบาลไทยและสำนักราชเลขาธิการเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ดังกล่าว

จุดเริ่มต้นของคุณในเส้นทางนี้เริ่มต้นได้อย่างไร

ตอนเรายังเด็ก เราคิดว่าโลกมันมีสองโลก โลกหนึ่งก็คือโลกที่มีคนรวยมากๆ กับโลกหนึ่งที่มีคนลำบากมากๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เราเคยเห็นถ้าไม่มีการศึกษาเขาก็จะถูกมองว่าเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง แล้วเราเองอยู่ในครอบครัวที่เป็นข้าราชการ แล้วคนที่มีลูกหลานเป็นชาวนา หรือชาวนาที่มีลูกหลานเขาก็มักจะส่งลูกหลานเข้ามาเรียนในตัวเมือง แล้วก็จะบอกลูกเขาว่าให้เรียนสูงๆ จะได้ไม่ต้องเป็นชาวนาเหมือนเขาจะได้ไม่ต้องมาลำบาก ส่วนพ่อแม่ของเราก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะส่งให้เราเรียนในที่ที่ดี

จนวันที่เราได้ไปทำงานที่โรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ไปดูแลแขกที่อยู่ชั้น 7 ซึ่งเป็นชั้น VIP ทุกอย่างต้องดี ต้องสมบูรณ์ที่สุด ทำให้เราเริ่มคิดว่า ทำไมคนเรามันไม่เท่ากัน เราต้องถีบตัวเอง ทำงานให้ได้เงินเดือนสูงๆ หรอถึงจะมีสิทธิ์ไปอยู่ตรงนั้นได้ แล้วคนในครอบครัวเราล่ะ เขาเรียนไม่จบ เขาก็ต้องทำงานโรงงานแล้วมันแย่ตรงไหน การที่เขาเรียนไม่จบมันจะทำให้ความเป็นมนุษย์ของเขาแย่ลงหรอ

ก็เลยลองมาเป็นสมาชิกของแอมเนสตี้ เพราะต่อให้เราเลิกงาน แล้วก็ยังสามารถไปทำกิจกรรมได้ ยังสามารถเขียนจดหมายได้ หรือทำอะไรที่พอทำได้ แต่พอทำไปทำมา ทำให้เราได้มีโอกาสรู้จักกันมากขึ้น มันเป็นเหมือนชุมชน แอมเนสตี้มันเหมือนเรามีเพื่อน มีญาติพี่น้องที่คิดเหมือนกันกับเรา เราประทับใจในพลังใจของคนที่นี่ ภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง

ตอนแรกยังมีนโยบายที่ห้ามทำประเด็นในประเทศตัวเอง ทำให้ช่วงนั้นเรื่องหลักคือเรื่องในประเทศพม่า เกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ เรื่องแรงงาน และเรื่องการทรมาน ตอนนั้นจะมีองค์กรหนึ่งที่ออกรายงานอันหนึ่งที่สะเทือนใจมากชื่อว่า ‘License to Rape’ หรือ ‘ใบอนุญาตให้ข่มขืน’ ก็คือทหารของพม่าสามารถข่มขืนคนรัฐฉานหรือคนไทใหญ่ได้ เพราะถ้าผู้หญิงท้องก็จะได้เป็นเลือดของคนพม่าด้วย ซึ่งช่วงนั้นเหตุการณ์มันรุนแรงมาก แล้วก็พม่าเองก็มีนักโทษทางความคิดเยอะ แค่นักแสดงตลกเห็นต่างก็โดนจับแล้ว แอมเนสตี้ก็เรียกร้องช่วยจนนักโทษทางความคิดออกมาได้หลายคน

ทั้งที่ โดนว่า โดนด่า โดนไล่ แต่ทำไมคุณถึงยังเลือกที่จะทำอยู่

ปกติเวลาทำงาน หลายคนก็จะเกลียดวันจันทร์กันใช่ไหม แต่สำหรับเราคืออยากตื่นมาทำงานทุกวันเลย ทั้งๆ ที่มันเหนื่อยมาก หรือว่าโดนด่ามาก มันรู้สึกว่ามันยังไม่สำเร็จ ทำให้เราอยากจะทำต่อ

ในขณะที่เพื่อนที่เรียนด้วยกัน จะมีคนที่ทำงานในลักษณะนี้อยู่ประมาณ 1-2 คนเท่านั้นเอง เวลาไปเจอเพื่อนที่เขาเป็นเจ้าของกิจการ ผู้จัดการใหญ่ๆ เขาก็จะถามว่า ทำไมถึงไม่หางานที่มันเป็นกิจลักษณะมากกว่านี้ แล้วเราก็จะแบบการที่เราทำแบบนี้มันไม่เป็นกิจลักษณะหรอ (หัวเราะ) เราก็ไม่ได้คิดอะไร

มีคนมาถามว่าเราทำอยู่ตรงนี้มีแต่คนด่านะ ซึ่งการที่เรายังอยู่ได้เพราะเรารู้สึกว่ามันตอบโจทย์ในสิ่งที่มนุษย์พึงมี เพราะเรามีสิทธิ์ที่จะทำแบบนั้น และมันก็เป็นหลักการสากล เราไม่ได้ทำอะไรที่แปลกแยกเลยด้วยซ้ำ

เพราะการแสดงออกเป็นเรื่องที่ควรจะเป็นเรื่องปกติใช่ไหม

เรารู้ในคุณค่าของมนุษย์ สิทธิในการมีชีวิตอยู่มันสำคัญ สิทธิการแสดงออกสำคัญ และสิ่งที่เราทำอยู่เราทำเพื่ออะไร ถ้าเราโดนด่ามันก็ต้องมีความรู้สึกโมโหหรือเจ็บ แต่สิ่งที่เราดูก็คืออันไหนที่จะเป็นประโยชน์แก่องค์กร เช่น เขาด่าเยอะๆ เราก็มาดูว่ามันมีประเด็นไหนที่เป็นจุดอ่อนของเราจริงๆ เราก็จะนำเอามาปรับปรุง

ในประเด็นเรื่องของโทษประหารชีวิต มีคนมาท้วงว่าเราสื่อสารออกไปแบบไม่เห็นอกเห็นใจเหยื่อ เราจึงหันมาโฟกัสเรื่องการสื่อสารของเรา เราจะไม่ยึดหลักงานวิจัยอย่างเดียว เราต้องพูดถึงสิทธิการมีชีวิตอยู่ให้หนักและสำคัญมากขึ้น ให้เขาเข้าใจว่าชีวิตมันต้องไม่ใช่การแก้แค้นเพื่ออีกชีวิตหนึ่ง

เราก็รู้สึกว่าเราจะไปห้ามให้เขาคิดต่างไม่ได้ เรามีสิทธิ์ที่จะน้อยใจแต่เราก็ไปห้ามให้เขาคิดต่างไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันต้องมีพื้นที่ในการสื่อสารซึ่งกันและกัน และถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล

เราต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ ความเท่ากันก่อน ตัวเขาก็เป็นมนุษย์และมีศักดิ์ศรีเท่าเรา เขาก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นเหมือนกันกับเรา เราก็ไม่ชอบให้ใครมาปิดปาก ไม่อยากให้ใครมาห้าม เรามีสิทธิ์ที่จะเถียง เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเถียง

ที่เป็นห่วงมากที่สุดก็จะเป็นเรื่องของเพื่อนร่วมงาน ทั้งในเชิงทางกายภาพและจิตใจ มันจะมีบางคนที่แอบถ่ายออฟฟิศเรา เอาที่อยู่ของเราไปลง และบางช่วงที่ถ้าเรียก Grab หรือเรียกแท็กซี่ เราไม่กล้าบอกด้วยซ้ำว่ามาที่ออฟฟิศ เพราะเรารู้สึกว่าถูกคุกคามชีวิตอยู่

ในประเทศที่มีอารยะ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องธรรมดา การออกมาเรียกร้องหรือประท้วง มันเป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออก

ประชาชนต้องมีพื้นที่ตรงนี้ ไม่งั้นมันจะสร้างความแตกต่างได้อย่างไร ไม่งั้นเราจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไรถ้าไม่มีใครถกเถียงหรือนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมา วันพรุ่งนี้มันต้องเป็นวันของเขา เราก็ไม่ควรที่จะเป็นเต่าล้านปีมาฉุดรั้งไว้ เพราะว่าตอนนี้ลูกของเรายังเล็กอยู่ เราก็เห็นว่ามันมีอนาคตให้กับลูกเรา เราก็พยายามทำทุกอย่างให้วันข้างหน้ามันดีขึ้น แม้ว่าวันนี้มันจะมีความขุ่นมัว และเต็มไปด้วยขวากหนาม ถ้าทุกคนเชื่อในตัวเองว่าสักวันหนึ่งโลกมันจะเปลี่ยนแปลง มันก็จะก้าวไปได้

คิดยังไงกับคำว่า ‘องค์กรโลกสวย แต่ไม่เคยช่วยอะไรเลย’

ถ้ามองจากประเด็นเรื่องของโรฮิงญา คนในสังคมเรากลัว ‘ความเป็นอื่น’ กลัวความที่เขาไม่เหมือนเรา ซึ่งจริงๆ พวกเราเองต่างก็เคยเป็นคนนอกของอะไรบางอย่างกันมาทั้งนั้น เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา ถ้าเขาเลือกได้เขาก็คงไม่อยากจะหนีออกจากบ้าน เขาไม่ได้อยากดิ้นรนมาขอชีวิตจากคนอื่น และที่สำคัญเขาต้องการไปอยู่ประเทศที่เป็นมุสลิม ประเทศไทยเองไม่ยอมมีข้อผูกพันที่จะรับผู้ลี้ภัยอยู่แล้ว ซึ่งเราอาจจะเป็นแค่ทางผ่านให้เขา เราไม่จำเป็นที่จะต้องรับเขาเข้ามา แต่อย่างน้อยๆ ในแง่ของมนุษยธรรม ช่วงที่เขาเดินทางผ่านมา เราจะต้องเอื้ออำนวยให้เขาได้เข้าถึงสิทธิ์เรื่องของน้ำและอาหาร ซึ่งตอนนั้น เขาแทบจะไม่เหลือความเป็นมนุษย์แล้ว

ซึ่งมันไม่มีอะไรที่เป็นหลักฐานว่าชาวโรฮิงญาจะก่อให้เกิดปัญหา หรือว่ามันเกิดมาจากความคิดและอคติในใจของคุณที่ทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะรัฐที่มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองมีหน้าที่ในการเอื้ออำนวย และเราเองก็มีหน้าที่ในการติดตามว่ารัฐได้ทำตามสิ่งเหล่านั้นหรือไม่

แล้วคำว่า ‘เห็นใจผู้ร้าย แต่ไม่เห็นใจเหยื่อ’ ล่ะ

เราไม่ได้อ่อนข้อ หรือยกโทษให้กับผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ที่เป็นธรรม) แต่เราเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ / วิธีการลงโทษผู้กระทำความผิด
ลองนึกภาพว่า ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง คุณไม่ชอบอาชญากรรมที่ร้ายแรง แล้วทำไมคุณถึงเห็นด้วยกับการประหารชีวิต เพราะการประหารก็คือความรุนแรงเช่นกัน และการใช้รุนแรงในการแก้ปัญหามันจะช่วยระงับความรุนแรงได้จริงไหม มันก็ไม่ใช่

อยากให้พึงระลึกว่าโทษประหารชีวิตไม่ได้มีสำหรับตัดสินคดีอุกฉกรรจ์ ข่มขืน ฆ่า เท่านั้น สำหรับประเทศไทยโทษประหารมีฐานความผิดมากกว่า 60 ฐานคดี แม้กระทั่งยาเสพติดก็นำไปสู่โทษประหารได้ และในบางประเทศแถบตะวันออกกลาง ถ้าคุณมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่สามีหรือภรรยาของคุณ หรือในบางประเทศที่คุณเป็นชายรักชาย หญิงและหญิง ในประเทศที่เคร่งครัดมากๆ คุณก็จะโดนโทษประหารเช่นกัน แล้วแบบนี้คุณยังเห็นด้วยกับโทษประหารอยู่ไหม

เพราะฉะนั้น อย่างน้อยๆ เลยคือไม่เอาชีวิตเขา เราควรจัดการในแง่ขององค์รวมว่าจะทำยังไงไม่ให้เขาทำผิดอีกครั้ง ซึ่งมันมีวิธีทางออกได้หลายทาง และในหลายคนที่โดนโทษประหารมักจะเป็นคนจน ที่ไม่สามารถจ้างทนายดีๆ ได้ ซึ่งบางครั้งเขาอาจจะเป็นแค่แพะรับบาป แต่ก็แก้ไขไม่ได้แล้ว

เราเคยลงพื้นที่ไปกับสื่อ ไปพบกับครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิตที่โดนแทงแย่งโทรศัพท์มือถือไป

ซึ่งในคดีนี้มีผู้ทำความผิดตามที่ศาลตัดสิน 2 คน อีกคนยังจับตัวไม่ได้ แต่อีกคนโดนประหารชีวิตไปแล้ว แต่สำหรับครอบครัวเหยื่อเขารู้สึกว่าเขายังไม่ได้รับความยุติธรรมเลย

เพราะจริงๆ แล้วถ้าไปอยู่ในพื้นที่ เราจะรู้ว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้กระทำความผิด และเขารู้ว่าคนที่เป็นตัวต้นเหตุยังไม่ใช่คนที่โดนประหาร และมันอาจไม่ใช่แค่คดีลักทรัพย์ก็ได้

ทำให้ครอบครัวของเหยื่อรู้สึกว่าความยุติธรรมสำหรับเขามันยังมาไม่ถึง เขาอยากรู้ว่าผู้กระทำความผิดจริงๆ แล้วคือใคร ทำไปด้วยเหตุผลอะไร เขาอยากพูดคุยกับคนที่ทำแบบนั้นกับลูกเขา เขาอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

คุณมองปลายทางของสิ่งที่ทำอยู่นี้หรือเปล่า เพราะมันดูมืดมนอยู่

สำหรับปีนี้แอมเนสตี้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม เราทำงานและทำกิจกรรมทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่า เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง เรารณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ปลดปล่อยนักโทษทางความคิดทั่วโลก ที่ถูกจำคุกเพียงเพราะแสดงออกอย่างสงบในสิ่งที่พวกเขาเชื่อหรือเพื่อปกป้องสิทธินั้น พวกเราทำงานกับนักข่าว อาจารย์ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐบาล นักศึกษา และนักกิจกรรมทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่า พวกเขาจะสามารถพูด คิด และเขียน เพื่อธำรงความถูกต้อง ความยุติธรรม เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน

ซึ่งเราเห็นหนทาง เราเห็นบันไดที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น ในช่วงที่เราต่อสู้อยู่ อาจจะเป็นเรื่องของการดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน เป็นช่วงเวลาที่ได้ทบทวนสิ่งที่คิด สิ่งที่ทำ รวมถึงสิ่งที่เชื่อ และที่สำคัญก็คืออย่านิ่งเฉย แค่กดแชร์ แค่พูดถึง หรือแค่กระจายข่าวก็ช่วยได้แล้ว

โดยมันจะเปลี่ยนมากเปลี่ยนน้อยก็ขึ้นอยู่ที่คุณ ทุกๆ คนเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่อย่าลืมว่าทุกๆ คนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจฉุดให้มันถอยหลัง แอมเนสตี้เองมีสัญลักษณ์เป็นเทียน ซึ่งเราก็จะพยายามทำทุกอย่างให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับเห็นแสงที่อยู่ปลายอุโมงค์

ตอนนี้สังคมมันกำลังค่อยๆ เติบโต ค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องของโรฮิงญาครั้งแรกที่เราถูกโจมตี ผ่านมา 6 ปีคนเริ่มเอามาพูด ที่ ณ ตอนนั้นเราตกเป็นจำเลยสังคม ปวีณ (พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์) ตกเป็นจำเลยสังคม แยม ฐาปณีย์ (เอียดศรีชัย) ที่เข้าไปช่วยชาวโรฮิงญาตอนนั้นแทบจะไม่มีใครฟังเราเลยว่ามันมีการค้ามนุษย์ แต่พอวันหนึ่งสังคมมันคลี่คลาย คนค่อยๆ รับฟัง เราก็รู้สึกว่าวันนี้มันมาถึงแล้ว ถามว่ามันภูมิใจไหม มันก็แอบภูมิใจ แต่ดีใจมากกว่าที่สังคมเริ่มมองเห็นว่านี่มันเป็นปัญหา เหมือนเข้าใจแล้วว่า เมื่อ 6 ปีก่อน ทำไมเราต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงแทนคนเหล่านั้น