เนื้อทำจากห้องแล็บ… ทำได้ยังไงนะ? (Lab-grown meat)

4 Min
3818 Views
01 Nov 2022

จำได้ว่าในสมัยที่พวกเราเป็นเด็ก (ยุค 90) 

พวกเราเคยดูในหนังไซไฟ ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองในโลกอนาคต 

เช่น รถที่บินได้ ประตูวาร์ปไปที่ไหนก็ได้ สิ่งของ/อาหารที่ประดิษฐ์ได้โดยเครื่องจักรกล เครื่องเล่นเกมในโลกเสมือนจริง 

ปัจจุบันในปี 2022 นี้ ก็ดูเหมือนว่า หลาย ๆ อย่างที่ดูเหมือนจะเอื้อมไม่ถึงในสมัยก่อนนั้น กลายมาเป็นสิ่งของที่จับต้องได้กันหลายอย่างแล้ว 

โดยส่วนใหญ่นวัตกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์คิดค้น ก็จะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด 

ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ เรื่องอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อที่ทำจากพืช อาหารที่ปรับแต่งพันธุกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ 

สำหรับพวกเราแล้ว หนึ่งในนวัตกรรมทางอาหารที่น่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ คือ “เนื้อทำจากห้องแล็บ” 

เพราะในโลกยุคปัจจุบันที่ทรัพยากรสัตว์เริ่มมีจำนวนจำกัดมากขึ้น 

แล้วไหนจะเรื่องราวของการรณรงค์ต่อต้านการฆ่าสัตว์อีกด้วย 

งั้นวันนี้พวกเรา InfoStory ร่วมกับ Thinkster ขอพาเพื่อน ๆ ทุกท่านไปทำความรู้จักกับ “เนื้อทำจากห้องแล็บ” กันเลยดีกว่า !

 

[ Lab grown meat คืออะไร ? ]

เนื้อจากห้องแล็บ (Lab-grown meat) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อเนื้อสัตว์สังเคราะห์/เนื้อเทียม (Cultured meat) เป็นเนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยี “สเต็มเซลล์” วิศวกรรมชีวภาพและวัสดุชีวภาพ 

ว่าง่าย ๆ ว่า เจ้าเทคโนโลยีนี้ มันทำให้จากเซลล์เนื้อ 1 ชิ้น เติบโตกลายเป็นก้อนเนื้อที่มี ไขมัน กล้ามเนื้อและเนื้อแดง ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยโปรตีนและวิตามินต่าง ๆ เทียบเคียงกับเนื้อสัตว์จริง ๆ ได้อย่างครบถ้วน 

จุดที่ยังคงเป็นข้อโต้แย้งกันอยู่ คือ ในส่วนของ “ไขมัน” ที่นักวิทยาศาสตร์และนักโภชนาการ มีการออกมาแย้งบ้างว่า ไขมันของเนื้อเทียมยังไม่อาจเทียบเท่าได้กับไขมันจากเนื้อสัตว์จริง ๆ เนื่องด้วยหลายองค์ประกอบ เช่น อาหารที่สัตว์กินหรือระบบการย่อยต่าง ๆ ในร่างกายของสัตว์ เป็นต้น

 

 

[ เอ่อ ว่าแต่…ทำไมมนุษย์เพิ่งจะนึกนวัตกรรมแบบนี้ได้ในตอนนี้ละ ? ]

อันที่จริงแล้ว เนื้อที่ผลิตจากห้องแล็บ ไม่ได้เพิ่งมาถูกคิดค้นเอาในปัจจุบันนี้นะ..

หากแต่ว่า นวัตกรรมนี้ถูกเริ่มต้นทำการวิจัยมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1950 โดย คุณ “Willem van Eelen” นักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ ผู้ที่ต้องการหาทางแก้ไขวิกฤติขาดแคลนอาหาร หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

จนกระทั่งนวัตกรรมการผลิตกล้ามเนื้อสัตว์เทียมชิ้นแรกเพื่อให้มนุษย์บริโภค จะผลิตสำเร็จในช่วงปี 1991

ในปี 2013 เป็นปีแรกที่โลกได้รู้จักกับเบอร์เกอร์เนื้อที่ทำจากเนื้อเทียม (first cultured beef burger patty) ที่ถูกผลิตจากคุณ “Mark Post” แห่งมหาวิทยาลัย Maastricht

 

 

จากปี 1950 จนถึงปี 2013 เป็นระยะเวลาเกือบ 63 ปีมาแล้ว

หลาย ๆ สิ่งบนโลกก็เปลี่ยนแปลงและสูญหายไปหลายอย่าง

โดยเฉพาะต้นทุนของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด

รวมถึงภาวะโลกร้อน เหตุสงครามความขัดแย้งต่าง ๆ ทำให้มนุษย์เริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามที่มากขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า “เนื้อเทียม” ไม่ใช่นวัตกรรมทางอาหารที่เพิ่งจะมารู้จักกันในสมัยนี้ 

เพียงแต่ว่า “เพิ่งจะถูกให้ความสนใจ” มากขึ้น นั่นเอง

[ อนาคตอันใกล้ เนื้อจากห้องแล็บอาจเป็นหนึ่งอาหารยอดนิยมของชาวกรุงเทพ ]

เท่าที่พวกเราค้นหาและรวบรวมเรื่องราวของเนื้อจากห้องแล็บมาเนี่ย 

ในปัจจุบันยังไม่อาจพูดได้ว่า นวัตกรรมทางอาหารนี้กำลังจะมาแทนที่เนื้อสัตว์จริง ๆ ได้ 

เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตเนื้อเทียมยังมีราคาค่อนข้างสูงมาก 

แต่ในอนาคตอันใกล้ เมื่อเหล่าบริษัทสตาร์ตอัปและนายทุนรายใหญ่เริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น (เพราะสุดท้ายแล้ว กลุ่มนักธุรกิจล้วนต้องหาช่องทางในการทำธุรกิจกันทั้งนั้น ใครมาจับจองก่อน ก็ได้เป็นผู้นำก่อน) 

สำหรับพวกเราแล้ว ขอคาดเดาว่า เนื้อจากห้องแล็บอาจเป็นหนึ่งอาหารยอดนิยม ที่จะเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพ ภายใน 10 ปีข้างหน้า (เผลอ ๆ อาจจะไม่ถึงด้วยนะ) 

เหตุผลที่ทำให้พวกเราเชื่อแบบนี้ ก็เพราะว่าหลาย ๆ ประเทศเริ่มนำนวัตกรรมการผลิตเนื้อเทียมมาใช้งานบ้างแล้ว 

ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ เพื่อนบ้านของเรา ที่เป็นชาติแรกของโลกอนุญาตขาย “เนื้อไก่” จากห้องแล็บ โดยให้อนุญาตกับแบรนด์ “Eat Just” จากสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตนักเก็ต “ชิกเกน ไบต์” ที่ทำจากเนื้อเทียมและจำหน่ายให้บริโภคภายในประเทศสิงคโปร์ได้

 

 

 

(หรือแบรนด์ฟาสต์ฟู๊ดหลาย ๆ เจ้า เช่น KFC Mcdonald เขาก็เริ่มมีการวิจัยถึงการใช้งานเจ้าเนื้อเทียมกันแล้วนะ)

The Good Food Institute (GFI) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชและเซลล์แทนผลิตภัณฑ์จากสัตว์

ก็ออกมาเผยการคาดการณ์ว่า ในปี 2030 เนี่ย เทรนด์การบริโภคเนื้อเทียมหรือเนื้อจากห้องแล็บ จะกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลกในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของดร.เจนภพ จากศูนย์ Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปี 2564) ที่เผยว่า เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่ผลิตโดยคนไทย ได้รับกระแสตอบรับดีและกำลังเป็นที่จับตามองในอนาคตอีกไม่ไกลของชาวต่างชาติ ที่จะเข้ามาร่วมลงทุน

 

 

ซึ่งภายในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นและลิ้มลองผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงชุดแรก และจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ ตามมา เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และผู้บริโภคชาวไทยที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น

[ Lab grown meat vs Plant Based meat ความแตกต่างที่ไม่ได้มีความเหมือน ? ] 

 

 

ปิดท้ายโพสนี้กันเรื่องราวความแตกต่างสั้น ๆ ของ เนื้อที่ทำจากห้องแล็บ (Lab grown meat) กับ เนื้อที่ทำจากพืช (Plant Based meat) 

มาเริ่มกันที่ความเหมือนกันของเนื้อทั้ง 2 แบบคือ 

– เป็นเนื้อที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์

– มีจุดประสงค์ที่จะลดภาวะโลกร้อนและเพิ่มทางเลือกในการบริโภคอาหารให้กับมุนษย์

– ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาหาร “Future Food” และถูกเรียกว่าเป็นกลุ่ม “เนื้อเทียม” 

สำหรับความแตกต่าง ยกตัวอย่างเช่น 

– Lab grown meat ไม่ได้เป็นเนื้อวีแกน เพราะผลิตจากเซลล์ของเนื้อสัตว์จริง ๆ ในขณะที่ Plant Based meat ทำมาจากพืชจึงถูกจัดอยู่ในประเภทของอาหารวีแกน (ตรงนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะเข้าใจผิดกัน)

–  Lab grown meat ใช้กระบวนการเพราะเลี้ยงและการให้อาหารต่อเซลล์ของเนื้อสัตว์ ในขณะที่ Plant Based meat มีการนำเทคโนโลยี 3D Printing เข้ามาช่วยขึ้นรูปโปรตีนสร้างส่วนของกล้ามเนื้อของเนื้อเทียม เป็นต้น

 

 

พอหอมปากหอมคอกันไปเป็นที่เรียบร้อย 

ถึงแม้ว่ามนุษย์จะสามารถประดิษฐ์เจ้าเนื้อเทียมนี้ออกมาดี มีคุณภาพและความอร่อยใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง ๆ มากเท่าไรก็ตาม…

แต่สำหรับพวกเราแล้ว 

ความท้าทายสำคัญของเนื้อสัตว์ชนิดใหม่นี้ ก็คือความต้องการของตัวมนุษย์เองนี่ละ

เพราะความยึดติดของมนุษย์ ความคิดที่จะต้องเสพทุกอย่างให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่าย 

ความตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดที่น้อยลง แทนที่ด้วยความเห็นแก่ตัวที่เพิ่มขึ้น 

สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นวัตกรรมเนื้อจากห้องแล็บ..

เป็นได้เพียงแค่นวัตกรรมที่เอาไว้เชยชมถึงความชาญฉลาดของมนุษย์ ก็เป็นได้…