4 Min

‘อิบติฮัจ มูฮัมหมัด’ นักกีฬาฟันดาบที่สวมฮิญาบคนแรกของสหรัฐฯ กับการพากีฬาก้าวข้ามอคติเชื้อชาติและศาสนา

4 Min
205 Views
18 Oct 2023

เดือนเมษายน ปี 2016 ‘อิบติฮัจ มูฮัมหมัด’ (Ibtihaj Muhammad) นักกีฬาฟันดาบหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกาเคยทวีตข้อความว่า ถูกชายคนหนึ่งเดินตามในแมนฮัตตัน เพียงเพราะเขาสงสัยว่าเธออาจเป็นผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม แถมชายคนนั้นยังถามด้วยว่า “เธอจะระเบิดอะไรหรือเปล่า” 

ซึ่งนั่นเป็นเหตุการณ์ก่อนที่โลกจะรู้จักเธอในฐานะนักกีฬาฟันดาบหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่สวมฮิญาบเข้าแข่งโอลิมปิกปี 2016 ที่ริโอเดจาเนโร และคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันฟันดาบประเภททีมหญิง ทั้งยังเป็นนักกีฬาอเมริกันมุสลิมคนแรกที่มีเหรียญโอลิมปิกคล้องคอ

ก่อนต่อมาจะกลายเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ มุสลิมในอเมริกา และนักกีฬาที่สวมฮิญาบลงแข่งอีกหลายคน

อิบติฮัจ มูฮัมหมัด เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 1985 ครอบครัวเธออาศัยอยู่ในนิวเจอร์ซีย์ มีพื้นเพเป็นชาวแอฟริกันอเมริกันที่หันมานับถือศาสนาอิสลาม

อิบติฮัจเป็นคนชอบเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก มีกีฬาหลายประเภทที่เคยฝึกหัด ทั้งว่ายน้ำ เทนนิส ซอฟต์บอล กรีฑา และวอลเลย์บอล แต่ทุกๆ การฝึกซ้อมกลับชวนให้เธอรู้สึกถึงความแตกต่าง เสมือนว่าเธอไม่เคยได้อยู่ใน ‘ทีม’ เพียงเพราะยูนิฟอร์มที่ต้องสวมฮิญาบได้กลายเป็นความแปลกแยกชวนให้เด็กสาวรู้สึกอึดอัดอยู่ภายใน

จนกระทั่งอิบติฮัจได้พบกีฬาฟันดาบ ที่เครื่องแบบการแข่งขันละม้ายคล้ายกันหมด ทั้งมีหมวกป้องกันครอบศีรษะ กลายเป็นความกลมกลืนที่ลดความแตกต่างจากการสวมฮิญาบลงได้

เธอรู้สึกว่ามันช่วยลดแรงเสียดทานในการตั้งคำถาม และอคติทางเชื้อชาติ ศาสนา ได้เป็นอย่างดี 

แต่ในโลกของกีฬาที่เป็นมากกว่าการแข่งขัน ก็ยังมีแรงกดดันอื่นๆ เช่น การห้ามนักกีฬาสวมฮิญาบเพราะมันอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถใช้ร่างกายได้อย่างเต็มที่เข้ามาเป็นเงื่อนไขกำหนดให้นักกีฬาต้องทำตัวอย่างไรหรือสวมใส่ยูนิฟอร์มแบบไหน 

แต่สิ่งนี้ก็กลับสร้างสตอรี่ให้ชีวิตของเธอต้องมีความพยายามมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ทางศาสนาไม่ใช่ข้อกำจัดของการเล่นกีฬาแต่อย่างใด 

อาคี สเปนเซอร์-เอล (Akhi Spencer-El) โค้ชกีฬาฟันดาบทีมชาติสหรัฐฯ เคยอธิบายตัวตนของอิบติฮัจไว้ว่า ‘เธอเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและเต็มไปด้วยความกระหายในชัยชนะ’ ซึ่งถือเป็นบุคลิกที่นักกีฬาฟันดาบพึงมีเป็นพื้นฐาน รวมถึงยังกล่าวชื่นชมตัวเธอว่ามีวินัยในการฝึกซ้อมเป็นอย่างมาก

แล้วผลตอบแทนก็เกิดขึ้นเมื่อเธอได้รับโอกาสเป็นตัวแทนทีมชาติลงแข่งขันกีฬาฟันดาบหญิงหลายรายการ แม้จะไม่เคยได้รับเกียรติยศสูงสุดในฐานะผู้ชนะเลิศ แต่ดีกรีของเธอก็ถือว่าไม่ด้อยไปกว่าใครๆ

ในปี 2017 หลังจบโอลิมปิกที่ริโอเดจาเนโร เธอมีตำแหน่งเป็นนักฟันดาบเซเบอร์อันดับ 2 ของสหรัฐฯ และมีแรงกิงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก

เธอเคยให้สัมภาษณ์กับช่อง NPR ว่า เธอชอบกลับมานั่งวิเคราะห์หาข้อผิดพลาดและความพ่ายแพ้ของตัวเองอยู่เสมอ

แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่ยากกว่าการเอาชนะคู่แข่งขัน อาจเป็นการเอาชนะใจตัวเอง

อิบติฮัจเพิ่งเปิดใจกับสำนักข่าวอัลจาซีรา (Aljazeera) ในปีนี้ว่า สิ่งที่ยากที่สุดในเส้นทางนักกีฬา คือการเอาชนะภาวะซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล ที่เกิดขึ้นจากแรงกดดันภายนอกของคนที่มองเธอด้วยอคติของเชื้อชาติและศาสนา และมองว่าชาวมุสลิมไม่ใช่คนอเมริกัน

แต่กระนั้นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อิบติฮัจยังคงกัดฟันสู้อย่างไม่ยอมแพ้ ก็คือตอนที่เธอได้ตัดสินใจเลือกเรียนวิชาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเรื่องราวแอฟริกันอเมริกันในรั้วมหาวิทยาลัย แทนการเลือกเรียนแพทย์อันเป็นเป้าหมายเดิม

กาลนั้นทำให้เธอได้รู้จักกับนักเบสบอลแอฟริกันอเมริกันอย่างแจ็คกี โรบินสัน (Jackie Robinson) นักมวยนามสนั่นโลกอย่าง มูฮัมหมัด อาลี (Muhammad Ali) รวมถึง อัลเธีย กิบสัน (Althea Gibson) นักเทนนิสผิวดำคนแรกที่ก้าวข้ามอดคติทางเชื้อชาติในฐานะนักกีฬาระดับนานาชาติขึ้นมาได้ เหล่านี้คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอไม่ยอมแพ้ 

“คุณต้องมองข้ามช่วงเวลาเหล่านั้นไป ทั้งที่ไม่ควรเป็นเช่นนั้น จริงๆ ฉันไม่สามารถปล่อยให้สิ่งเหล่านี้มากระทบฉันและรั้งฉันไว้ เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางของฉัน ฉันเลือกที่จะมองโลกในแง่ดี และฉันพยายามเป็นผู้นำทุกวันด้วยความรัก”

และการได้เห็นแบบอย่างตรงนั้นก็ทำให้เธอมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่อยากส่งต่อสิ่งนั้นไปยังคนต่อๆ ไป 

หลังได้รับเหรียญทองแดงในกีฬาโอลิมปิก อิบติฮัจก้าวเข้ามาสู่บทบาทของผู้ส่งต่อเรื่องราวแรงบันดาลใจเหมือนอย่างที่เธอเคยได้รับมาก่อน จนอาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาหนึ่งเธอเป็นเหมือนกับ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ มากกว่าการเป็น ‘นักกีฬา’ เสียอีก

อิบติฮัจได้รับเชิญไปพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมมุสลิมในสหรัฐฯ หลายแห่ง โดยเฉพาะในโรงเรียนต่างๆ ที่เหล่าเยาวชนรู้สึกถึงความแปลกแยกในสังคมที่อยู่ ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูต Empowering Women and Girls ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ทำงานกับ Special Olympics เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กผู้หญิงและผู้หญิงในกีฬา

เพราะสุดท้าย ภาพฝันของเธออาจไม่ใช่การเป็นแชมป์ฟันดาบ ดังที่เธอเคยบอกว่า เธออาจไม่ใช่ผู้หญิงมุสลิมคนแรกที่สวมฮิญาบเพื่อเป็นตัวแทนของทีมสหรัฐอเมริกา แต่เธอหวังว่าเธอจะไม่ใช่คนสุดท้าย 

หมายเหตุ: ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปารีสในปี 2024 ทางผู้จัดได้ออกมาแถลงว่า ห้ามนักกีฬาหญิงสวมใส่ฮิญาบในการแข่งขัน เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาใดๆ ระหว่างการแข่งขัน

ต่อเรื่องนี้ สหพันธ์กีฬาอิสลาม (ISSF) ได้ทำหนังสือขอให้มีการปรับปรุงกฎข้อนี้ใหม่ เพราะเกรงว่าจะเกิดการกีดกัน จนนักกีฬาบางคนไม่สามารถลงแข่งขันได้ 

โดยแถลงการณ์ของ ISSF ระบุว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถือเป็นประวัติศาสตร์ที่เฉลิมฉลองความหลากหลาย ความสามัคคี และความเป็นเลิศด้านกีฬา แต่ด้วยการดำเนินการห้ามสวมฮิญาบสำหรับนักกีฬา มันคือการไม่ยอมรับและการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อจิตวิญญาณของโอลิมปิก

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรในอนาคต ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไป

อ้างอิง