2 Min

นอนกลางวันแล้วเห็นภาพหลอน ฝีมือของ ‘ผีอำ’ หรือมโนไปเอง

2 Min
1282 Views
26 Jul 2021

เคยตื่นจากฝันแล้วอยากจะลุกขึ้นมาทำงานที่คั่งค้าง แต่ทว่าขยับแขนขาไม่ได้ราวกับเป็นอัมพาตหรือเปล่า?

หรือไม่ก็มองไปรอบๆ เห็นเหมือนคนมายืนปลายเตียง ไหนจะเสียงแหลมที่แว่วในหูอีก ถึงตรงนี้หลายคนสบถกับตัวเองในใจว่าสงสัยคงโดนผีอำเสียแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าวิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องนี้ได้

เราเรียกสภาวะดังกล่าวว่า ‘Sleep Paralysis’ ที่มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับ ‘Hypnagogic Hallucinations’ ซึ่งเป็นภาวะที่สมองและร่างกายอยู่ในระยะกึ่งหลับกึ่งตื่นและสร้างภาพวัตถุหรือรูปร่างคนขึ้นมา

อาการของ ‘Hypnagogic Hallucinations’ คือการมองเห็นภาพหลอนที่สมจริงมาก ๆ ทั้งในแง่ของรูปร่าง กลิ่น รส เสียง บางกรณีอาจทำให้ตกใจตื่นเลยทีเดียว บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนมีวัตถุหรือคนมากดทับ ซึ่งอันที่จริงเป็นเพียงจินตนาการที่สร้างโดยสมองเท่านั้น

ส่วน ‘Sleep Paralysis’ มักจะรวมถึงการขยับเขยื้อนร่างกายไม่ได้เหมือนกล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกเหมือนอยากพูดแต่ไม่มีเสียงด้วย ไม่ใช่แค่เพียงเห็นภาพหลอนอย่างเดียว 

งานวิจัยเผยว่า แม้สาเหตุอาจจะมาจากหลายปัจจัย แต่ส่วนมากแล้วพบว่ามาจากความเหนื่อยล้าแต่ละวัน ความเครียดและความวิตกกังวลที่ทำให้สมองส่วนที่ควบคุมจิตสำนึกยังตื่นอยู่ระหว่างที่ร่างกายหลับ

นอกจากนั้น ตารางการนอนที่ผิดปกติ เช่น ภาวะเจ็ตแล็ก พฤติกรรมนอนไม่พอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนอนผิดเวลา ผล็อยหลับระหว่างวันก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของสภาวะนี้ได้เช่นกัน 

แม้อาการ ‘Hypnagogic Hallucinations’ และ ‘Sleep Paralysis’ จะไม่ได้ก่ออันตรายอะไรกับร่างกายโดยตรง แต่หากเกิดขึ้นบ่อยอาจทำให้เรานอนหลับไม่สนิท เกิดความเครียด การตกใจตื่นทันทีทันใดก็ไม่ดีต่อระบบประสาทเท่าไรนัก

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเมื่อรู้ว่าตนเองคล้ายจะอยู่ในสภาวะนี้ให้ตั้งสติ สงบจิตใจ และนึกไว้เสมอว่าภาพตรงหน้าไม่ใช่ของจริง กลิ่นและเสียงในตอนนี้เป็นเพียงจินตนาการของสมองเท่านั้น เมื่อจิตใจผ่อนคลาย กล้ามเนื้อก็จะตึงน้อยลง สักพักจะสามารถตื่นตามปกติได้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กน้อยจะช่วยลดสภาวะคล้ายผีอำนี้ได้ เช่นการนอนหลับให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียดก่อนนอน เปลี่ยนท่านอนเป็นตะแคงข้างแทนนอนหงาย 

หลายคนติดนิสัยเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้จินตนาการเรื่องต่าง ๆ ระหว่างฝันได้ หากลองเปลี่ยนมาทำสมาธิหรือเว้นระยะการเล่นโซเชียลมีเดียสักชั่วโมงก่อนนอนจะช่วยได้มาก

การดูแลตัวเองที่ง่ายที่สุดท่ามกลางสภาพสังคมที่ตึงเครียดคือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

เพราะฉะนั้นหากอาการรุนแรงขึ้น อย่ากลัวที่จะปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยต่อไป

อ้างอิง