3 Min

รู้ไหม จิงโจ้ออสเตรเลียอยู่บนสุดห่วงโซ่อาหาร ทำให้มันขยายพันธุ์มหาศาลจนต้องล่าเพื่อคุมประชากร

3 Min
3835 Views
19 Sep 2022

ในบรรดาสัตว์ประจำชาติของประเทศต่างๆ ในโลก คงไม่มีประเทศไหนที่จะมีสัตว์ประจำชาติได้เหมาะสมเท่าจิงโจ้ของออสเตรเลีย เพราะนอกจากพวกมันจะดูเท่และน่ารักแล้ว มันยังเป็นสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศนี้ประเทศเดียวจริงๆ ไม่ต้องไปแย่งเคลมกับประเทศอื่นว่าฉันจะเอาสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ประจำชาติ

และหากว่ากันตามจำนวน จริงๆ ออสเตรเลียน่าจะถูกเรียกว่าเป็นประเทศของจิงโจ้มากกว่า เพราะประเทศนี้มีจิงโจ้มากกว่าคนจริงๆ (คนออสเตรเลียมีประมาณ 25 ล้านคน แต่จิงโจ้ที่กระโดดไปมาในประเทศมีอยู่ประมาณ 40-50 ล้านตัว)

และเนื่องจากจิงโจ้มันมีเยอะจริงๆ เยอะจนต้องฆ่าทิ้งเป็นล้านตัวต่อปีเพื่อควบคุมประชากร ซึ่งการฆ่าทิ้งก็ไม่ได้ฆ่าเฉยๆ เพราะเนื้อของจิงโจ้เป็นสินค้าส่งออกไปยังยุโรป และหนังของมันก็เหนียวมากจนเอาไปทำรองเท้าได้ ซึ่งพวกรองเท้าสตั๊ดของนักฟุตบอลไม่น้อยก็ใช้หนังจิงโจ้ทำ

แต่ทำไมประชากรจิงโจ้จึงเยอะขนาดนี้ จริงๆ มันมีที่มาที่ไป

คือในตอนแรก ทวีปออสเตรเลียมีจิ้งโจ้มากมายอยู่แล้ว และมันก็เป็นสัตว์ที่คนพื้นเมืองอะบอริจินล่ากินมาตลอด 40,000 ปี ซึ่งพอคนยุโรปเข้าไป คนยุโรปก็กินตาม

และเมื่อคนยุโรปเข้าไป พวกเขาก็เริ่มทำปศุสัตว์ หรือทำฟาร์มสัตว์ โดยเลี้ยงวัวเป็นหลัก ซึ่งเมื่อมนุษย์เริ่มเลี้ยงสัตว์ สัตว์นักล่าตามธรรมชาติที่ไม่เคยเป็นปัญหามาก่อนอย่างหมาดิงโก้’ (หน้าตาเหมือนหมาบ้านๆ นี่แหละ แค่เป็นสัตว์ป่า) ก็เริ่มเจอปัญหาทันที

เพราะหมาดิงโก้นั้นมีบทบาทสำคัญในการคุมจำนวนประชากรจิงโจ้ เพราะมันเป็นสัตว์ตามธรรมชาติชนิดเดียวในออสเตรเลียที่กินจิงโจ้ได้ (ดูจากขนาดตัวพวกหมาดิงโก้ก็น่าจะล่าพวกลูกจิงโจ้ที่เพิ่งออกจากกระเป๋าหน้าท้อง) และพอประชากรหมาดิงโก้ลดลงจากการล่าของมนุษย์ในฐานะภัยของการทำปศุสัตว์ สิ่งที่ตามมาก็คือ ประชากรจิ้งโจ้เพิ่มขึ้นรัวๆ

โดยปกติจิงโจ้จะมีลูกได้ประมาณปีละ 1 ตัวเท่านั้น ซึ่งลูกของมันก็จะอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องอันโด่งดังประมาณ 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง ก่อนจะออกมา ซึ่งออกมาสักพักก็อยู่ในวัยสืบพันธุ์เลย เพราะอายุแค่ 2 ปีจริงโจ้ก็พร้อมจะมีลูกได้แล้ว

ทีนี้ลองคิดง่ายๆ ว่าสมมติประชากรจิงโจ้มีประมาณ 50 ล้านตัว เป็นตัวผู้ครึ่งหนึ่ง ตัวเมียอีกครึ่งหนึ่ง คือ 25 ล้านตัว และมี 20 ล้านตัวในวัยเจริญพันธุ์ ทุกตัวมีลูกปีละตัว ดังนั้น ประชากรจิงโจ้ก็น่าจะเพิ่มมาได้ปีละ 20 ล้านตัว หรือปีๆ หนึ่งจิงโจ้เพิ่มมาเกือบเท่าประชากรมนุษย์ของออสเตรเลียนั่นเลย

ซึ่งก็คงจะเดาได้ไม่ยากว่า จะเกิดปัญหาสภาพแวดล้อมทันที พืชต่างๆ ยันต้นหญ้าก็จะโดนกินหมด (จิงโจ้กินหลากหลายมาก ตั้งแต่หญ้ายันผลไม้) แต่สำหรับออสเตรเลียประเทศที่เลี้ยงวัวมากมายการลดลงของทุ่งหญ้านั่นหมายถึงการที่วัวไม่มีหญ้ากินและนั่นกระทบกับเศรษฐกิจมากๆ

หรือพูดง่ายๆ ว่าหากปล่อยให้จิงโจ้ขยายพันธุ์ไปเรื่อย เราอาจไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเนื้อออสเตรเลียตามร้านปิ้งย่างและชาบู เพราะมันจะทำให้ออสเตรเลียเลี้ยงวัวไม่ได้

นั่นจึงทำให้รัฐบาลออสเตรเลีย ไฟเขียวให้เหล่านักล่าไปล่าจิงโจ้ได้ แม้การล่าจิงโจ้มันก็ทำให้จิงโจ้บางสายพันธุ์เกือบสูญพันธุ์ เพราะจิงโจ้มีหลายสายพันธุ์มาก (มีเกิน 70 สายพันธุ์) มีตั้งแต่ตัวเล็กไปถึงตัวใหญ่ และการไฟเขียวแบบไม่คุมเลยจะทำให้พวกสายพันธุ์ตัวเล็กๆ มีปัญหา สุดท้ายรัฐบาลออสเตรเลียก็เลยออกระเบียบว่าล่าได้แค่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งคือพวกตัวใหญ่ๆ หมด เพราะพวกนี้คือพวกขยายพันธุ์เร็วและกินเยอะจริงๆ โดยสายพันธุ์หลักที่ถูกล่าคือจิงโจ้แดง ซึ่งคือสายพันธุ์ตัวใหญ่สุดที่เราคุ้นกันนั่นแหละ

โดยระเบียบการล่าก็ออกมาชัดเจน รัฐจะมีโควต้าการล่าของแต่ละปี (จะอยู่ราว 10-20 ล้านตัว) ซึ่งนักล่าก็ต้องฝึกมาอย่างดี ให้ฆ่าจิงโจ้อย่างมีมนุษยธรรมที่สุด ต้องยิงหัวเฮ้ดช็อตตายในทีเดียว และถ้าดันไปฆ่าตัวที่มีลูก ก็ต้องฆ่าลูกตาม เพราะหากปล่อยไว้ลูกก็จะอดน้ำอดอาหารตายแน่ๆ ซึ่งเขาก็กำหนดว่า ต้องทุบหัวลูกให้ตายในทีเดียวเหมือนกัน        

ทั้งหมดอาจฟังดูโหดสำหรับคนที่คิดว่าจิงโจ้เป็นสัตว์น่ารัก แต่อย่างน้อยๆ ทางรัฐบาลออสเตรเลียและสมาคมอุตสาหกรรมเนื้อจิงโจ้ก็คิดตรงกันในแบบนั้น และแม้ว่าฝ่ายปกป้องสิทธิสัตว์จะโจมตีแค่ไหน การล่าจิงโจ้ก็ยากจะหมดไป

ซึ่งเรื่องตลกร้ายก็คือในภาวะโลกร้อนที่คนโจมตีเนื้อวัวกันมากๆว่าเป็นต้นตอของโลกร้อนไม่ว่านั่นจะเป็นการต้องลดพื้นที่ป่าเพื่อเลี้ยงวัวหรือการปล่อยก๊าซมีเธนของวัวฝ่ายที่สนับสนุนเนื้อจิงโจ้ก็เลยได้ทีพูดว่าการไปล่าจิงโจ้มากินนี่ทำให้โลกร้อนน้อยกว่าการเลี้ยงวัวแน่ๆ

และนี่ก็คงเป็นจะตลกร้ายจริงๆ นั่นแหละ เพราะในขณะที่ในโลกนี้น่าจะไม่มีชาติไหนมีอุตสาหกรรมล่าสัตว์ป่ามากินอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว คนออสเตรเลียกลับล่าสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์ประจำชาติมากิน เพราะมันดันขยายประชากรเยอะเกินไป ถ้าไม่ล่ามากินก็น่าจะปั่นป่วนตั้งแต่ระบบนิเวศยันระบบเศรษฐกิจ

อ้างอิง