‘บ้านควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก แต่กลับไม่ใช่สำหรับทุกคนเสมอไป’ By ตามใจนักจิตวิทยา

7 Min
1549 Views
17 Jun 2022

ในวันที่เด็กทุกคนลืมตาดูโลก พวกเขาไม่ใช่ผ้าขาวอย่างที่ผู้ใหญ่คิด เด็กแต่ละคนมีตัวตนของตัวเอง ติดตัวมาด้วย เพียงเพื่อรอเวลาที่เขาเติบโตและค้นพบมัน ‘เด็กทุกคนจึงเกิดมาเพื่อเป็นตัวของตัวเอง’ 

อย่างไรก็ตาม ‘ตัวตน’ ที่เด็กเป็นต้องไม่ทำให้ตัวเขาหรือใครเดือดร้อน พ่อแม่และผู้ใหญ่จึงมีหน้าที่เติมเต็มความรักอันปราศจากเงื่อนไข ให้การดูแลและสอนพวกเขาในสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ได้แก่ การสอนให้ช่วยเหลือตัวเองตามวัยและวินัยต่างๆ เพื่อช่วยให้พวกเขามีรากฐานทางกายใจที่มั่นคง พร้อมที่จะเติบโตเบ่งบานเป็นตัวเองต่อไป หน้าที่หลักของผู้ใหญ่จึงไม่ใช่การกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เด็กเป็น แต่เป็นการยอมรับและเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เป็นตัวของตัวเอง 

‘พ่อแม่’ ถือเป็นสภาพแวดล้อมแรกและเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลูก หากสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ การยอมรับ และการสนับสนุน ต้นทุนชีวิตของเด็กคนนี้มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว ในทางกลับกันหากสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยความรุนแรง การละเมิดสิทธิในกันและกัน การทำร้าย การทอดทิ้ง การกดดันที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง แต่ปราศจากความรักและความเข้าใจ ชีวิตของเด็กคนดังกล่าวได้ขาดทุนตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตเสียแล้ว 

บ้านควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

เด็กทุกคนต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัย และเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ถ้าบ้านของเขามีพ่อแม่ที่รัก และเข้าใจ เด็กจะอยากกลับบ้าน ในทางกลับกัน ถ้าบ้านร้อนเป็นไฟ กลับมาก็โดนบ่น โดนด่า โดนกดดัน โดนจับผิด หรือบ้านที่เต็มไปด้วยการทำร้ายทางกาย วาจา ใจ ตลอดเวลา พ่อแม่ทะเลาะกัน หรือแค่คุยกันไม่กี่คำก็ทะเลาะกันเสียแล้ว ถ้าบ้านเป็นเช่นนี้เด็กหรือผู้ใหญ่คนไหนก็ไม่อยากกลับบ้าน 

หากลูกยังอยู่ในวัยเยาว์และอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ เราควรปรับเปลี่ยนก่อนจะสายเกินไป สัญญาณที่บ่งบอกว่า ‘บ้านหรือตัวเราไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของลูก’ 

(1) เมื่อมีปัญหา ลูกเลือกที่จะปิดบังหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นก่อนที่จะเป็นเรา 

(2) เมื่ออยู่บ้าน ลูกมักจะเก็บตัวอยู่ในห้องของตัวเองหรือหลีกเลี่ยงที่จะเจอเรา 

(3) เมื่ออยู่นอกบ้านหรืออยู่กับคนอื่นลูกดูมีความสุขมากกว่าอยู่บ้านกับเรา 

(4) เมื่อพูดคุยกับลูก ลูกเลือกที่จะเงียบมากกว่าถามคำถามหรือเสนอความคิดเห็น แต่เมื่อลูกคุยกับคนอื่นลูกกล้าพูดและกล้าแสดงความคิดเห็น 

(5) เมื่อไปที่ไหนหรือเลิกเรียนแล้ว ลูกไม่อยากกลับบ้านทันที และพยายามใช้เวลาอยู่นอกบ้านให้นานที่สุด 

คำถาม: พ่อแม่ควรทำอย่างไรดีเพื่อให้ลูกรู้สึกดีกับที่บ้านมากขึ้น? 

คำตอบ: พ่อแม่ควรเป็นบ้านที่ปลอดภัยทางกายใจให้กับลูกเสียก่อน 

บ้านในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึง ‘สถานที่’ หากแต่คือ ‘บุคคลหรือพ่อแม่ที่เขาไว้วางใจได้’ 

พ่อแม่ที่ลูกไว้วางใจได้ คือ บ้านที่พักใจสำหรับลูก

แต่บ้านสำหรับเด็กบางคน อาจจะไม่ได้มีทั้งพ่อและแม่ แต่มีเพียงผู้ใหญ่เพียงคนเดียวก็สามารถเติมเต็มใจให้กับเขาได้เช่นกัน หากผู้ใหญ่คนนั้นสามารถเติมเต็มความรักที่ปราศจากเงื่อนไข และปัจจัยทั้งสี่ให้กับเด็กน้อยได้ 

สำหรับเด็กเล็กๆ อาจจะต้องการบ้านที่เขาสามารถดูแลและตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐาน กินอิ่ม นอนหลับ สอนสิ่งต่างๆ ให้กับเขาได้ แต่เมื่อเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่น พวกเขาต้องการบ้านที่เขาสามารถวางหัวใจที่เหนื่อยล้าลงเพื่อพักผ่อนให้เต็มที่ และกลับไปเผชิญโลกภายนอกต่อไป 

พ่อแม่สามารถเป็น ‘บ้านที่ปลอดภัย’ ให้กับลูกได้ โดยเริ่มจาก 

ข้อที่ 1 ให้การรับฟัง ไม่ปฏิเสธลูกเพียงเพราะเขาเห็นไม่ตรงกับเรา 
พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับทุกๆ เรื่องที่ลูกพูด แต่ขอให้เรารับฟังด้วยใจที่เป็นกลาง ฟังลูกให้จบ และแบ่งปันความคิดเห็นในมุมมองของเรา โดยงดใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุผล อย่างไรก็ตาม หากวันนั้นเราทั้งคู่ไม่พร้อม การยังไม่พูดอะไรออกไปทันทีอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะและทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกัน 

ข้อที่ 2 ให้การยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น ไม่ตัดสินตัวตนของเขา 
เด็กทุกคนเกิดมาแตกต่างกัน ข้อเท็จจริงประการนี้เป็นจริงเสมอ และลูกเกิดมาเพื่อเป็นตัวเขาเอง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือการสร้างสายสัมพันธ์กับลูก สอนสิ่งต่างๆ ที่สำคัญให้กับเขา ได้แก่ การช่วยเหลือตัวเองตามวัย การดูแลรับผิดชอบหน้าที่ที่สำคัญ และเมื่อลูกทำผิดพลาดเราจะสอนให้เขารับผิดชอบต่อการกระทำเสมอ เมื่อเวลามาถึงพ่อแม่ต้องปล่อยให้ลูกเติบโตไปตามทางที่เขาเลือกเดิน 

ข้อที่ 3 ให้ความรักและการสนับสนุนทางใจ ไม่กดดันลูกและนำความคาดหวังของเราไปใส่ในตัวเขา 
หากปัจจัยสี่คือสิ่งที่ช่วยมนุษย์ดำรงชีวิตต่อไปได้ ความรักที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตคงเป็นปัจจัยที่ห้าที่ช่วยให้ชีวิตมีคุณค่าและความหมายสำหรับเราทุกคน ลูกต้องการความรักจากพ่อแม่เสมอ เราสามารถมอบความรักให้กับลูกผ่านการสัมผัสด้วยความรัก เช่น การกอด การให้กำลังใจ และความห่วงใย 

ข้อที่ 4 ให้อภัยและการสอน ไม่ผลักไสลูกออกไปในวันที่เขาทำผิดพลาด 
ในวันที่ลูกทำผิด พ่อแม่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ให้การสอนสั่งและให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่การลงโทษอย่างรุนแรงเพื่อให้เขากลัวและถอยหนีจากเราไกลออกไป เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดในสภาวะที่ปราศจากความหวาดกลัว แค่เพียงเขาทำผิด ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เด็กๆ มักจะตกใจและกังวลมากๆ ว่าพ่อแม่จะรู้สึกอย่างไร หากเราเข้าไปอย่างสงบและให้ความช่วยเหลือก่อนที่จะสั่งสอน เด็กๆ จะเรียนรู้ว่าเขาสามารถขอความช่วยเหลือจากเราได้ และเมื่อเขาทำผิดพลาด เขาควรแก้ปัญหาและรับผิดชอบอย่างไร 

ข้อที่ 5 ให้ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ไม่ดูถูกศักยภาพของลูกด้วยการคิดและตัดสินใจแทนเขา
ในวันที่ลูกพร้อมจะก้าวสู่โลกกว้าง พ่อแม่จะทำหน้าที่เป็นบ้านที่ปลอดภัยและรอการกลับมาพักใจของลูกเสมอ วันใดที่ลูกเหนื่อยล้าและต้องการกำลังใจ เมื่อเขาหันกลับมา พ่อแม่จะอยู่ตรงนั้นเพื่อเขาเสมอ แม้วันนั้นตัวของเราอาจจะไม่ได้อยู่ติดกับตัวลูก แต่ความรักของเราจะอยู่ติดตัวเขาไปทุกหนแห่ง 

พ่อแม่กับลูกวัยรุ่น

ถ้าเราไม่รู้จะเริ่มต้นกับลูกวัยรุ่นอย่างไร ง่ายที่สุดคือ เวลาลูกกลับบ้านมา ให้ถามเขาว่า “หิวไหม กินข้าวยังลูก?”  

“กินน้ำก่อนไหม?”  

“อยากกินอะไรไหมลูก?”  

และ “เหนื่อยไหมลูกวันนี้?” 

แม้จะทำเช่นนี้แล้วลูกยังไม่เปิดใจกับเรา ไม่ต้องกังวล เพราะสายสัมพันธ์ที่สร้างใหม่ต้องใช้เวลาทั้งนั้น และเมื่อเขาเปิดใจ ฟังเขาให้มาก ตัดสินเขาให้น้อยลง ถ้าเขาทำผิดให้ช่วยเขาก่อนจะทำโทษเขา เพราะสิ่งที่เด็กทุกคนกลัวที่สุดคือ การทำให้พ่อแม่ผิดหวังในตัวเขา 

ค่อยๆ สร้างบ้านที่ปลอดภัยทางกายใจให้กับลูก ด้วยการเป็นบ้านที่อบอุ่นให้กับเขา ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นมากกว่าพยายามเปลี่ยนตัวตนของเขา 

มองเห็นสิ่งดีในตัวลูกมากกว่าสิ่งที่ไม่ดี 

ชมให้มากกว่าตำหนิ 

กอดให้มากกว่าผลักไส 

และฟังให้มากกว่าบ่น 

เมื่อพ่อแม่ทำเช่นนี้สม่ำเสมอ การกระทำของเราจะเป็นเครื่องยืนยันให้กับลูกวัยรุ่นของเราเองว่า ‘พ่อแม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขาได้’ เมื่อนั้นลูกจะเปิดใจให้กับเราเข้าไปหาเขาอย่างสนิทใจ 

ในวันที่ใจไม่ไหวขอเพียงใครสักคนที่เข้าใจ

หัวใจสำคัญของพื้นที่ปลอดภัย คือ การมีใครสักคนที่เขาไว้ใจอยู่เคียงข้างอย่างยอมรับและเข้าใจ ทั้งนี้ตัวช่วยที่สามารถเป็นภาชนะรองรับอารมณ์เด็กๆ ได้ดีที่สุด คือ ใครสักคนที่เขาไว้ใจ และใครคนนั้นพร้อมที่จะเคียงข้างเขาอย่างเข้าใจ เด็กๆ จะสามารถระบายความรู้สึกออกมาได้อย่างหมดใจ 

“บ้านอาจจะไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคนในการพูดหรือแสดงความรู้สึกออกมาได้” 

เราบางคนอาจจะเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่พูดถึงความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อกันและกันมาก่อน จนทำให้การพูดว่า ‘ตัวเองรู้สึกอย่างไร’ กลายเป็นเรื่องแปลกหรือสิ่งต้องห้ามภายในครอบครัว 

ดังนั้นเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ เข้าไปอยู่ท่ามกลางคนอื่นๆ เราจึงชินชาที่จะไม่พูดความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองเช่นกัน เพื่อรักษามารยาท เพื่อรักษาบรรยากาศ และเพื่อรักษาความสัมพันธ์ 

ในบางครั้งการเก็บความรู้สึกทางลบเอาไว้กับตัวเอง กลับทำร้ายตัวเราอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งความกดดัน ความเครียด ความเศร้าที่ต้องเก็บเอาไว้คนเดียว ส่งผลให้เราป่วยใจโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นเราควรหาพื้นที่ปลอดภัยที่เราจะสามารถพูดสิ่งที่รู้สึกออกไป ให้ใจเราเบาลง และฟื้นตัวกลับไปเผชิญชีวิตอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตามหากเราไม่สามารถมีพื้นที่ปลอดภัยของเราได้ การมองหาความช่วยเหลือจากใครสักคน ที่อยู่นอกวงโคจรชีวิตของเรา เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักบำบัดต่างๆ อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะการเล่าเรื่องส่วนตัวให้กับบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตของเราจะทำให้เราได้รับการมองเห็นที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ และตัวเราเองก็สบายใจด้วยที่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่รับฟังเรื่องราวของเรา เพราะบางครั้งคนใกล้ตัวของเราอาจจะมีเรื่องราวมากมายในชีวิตที่ต้องรับมือม่ต่างจากเรา 

การที่เรารู้สึกเศร้า โกรธ เหงา และอื่นๆ ไม่ได้แปลว่า ‘เราอ่อนแอ’ 

แต่การที่เรามีความรู้สึกเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ‘เราเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา’ เท่านั้นเอง อย่าลืมขอความช่วยเหลือในวันที่ใจไม่ไหวและโอบกอดตัวเองในวันที่เหนื่อยล้า 

เรียนรู้ที่จะโอบกอดตัวเองก่อน

แม้ว่าบ้านอาจจะไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเรา และแม้ว่าเราจะหันไปทางใดแล้วไม่เจอใคร บางครั้งตัวเราเองสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับตัวเองก่อนได้ โดยเริ่มต้นง่ายๆ จากการยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น และโอบกอดทุกๆ สิ่งที่เป็นเรา ทั้งด้านดีและไม่ดี เพราะทั้งหมดทั้งมวลจะนำไปสู่การยอมรับ และการมองเห็นตัวเองอย่างชัดเจน เมื่อนั้นเราจะมองเห็นทางออกสำหรับตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น 

วิธีปลอบประโลมตัวเองที่ช่วยเยียวยาจิตใจ และบรรเทาความเจ็บปวดของร่างกาย คือ ‘การกอดตัวเอง’ 

‘ท่ากอดผีเสื้อ (Butterfly Hug)’ เป็นหนึ่งในเทคนิคจากวิธี EMDR (Eye Movement  Desensitization and Reprocessing) ที่นักบำบัดใช้เพื่อบำบัดจิตใจของผู้ที่รับการบำบัดที่ได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจจากเรื่องในอดีต มีความทรงจำอันแสนเจ็บปวดที่สร้างบาดแผลทางใจให้บุคคลโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว นอกจากนี้ท่ากอดผีเสื้อช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้อีกด้วย (Artigas & Jarero, 2014) 

ขั้นตอนการทำท่ากอดผีเสื้อ (Butterfly Hug) 

ขั้นที่ 1 – ยกแขนทั้งสองข้างไขว้กัน มือขวาวางบนบ่าซ้าย มือซ้ายวางบนบ่าขวา 

ขั้นที่ 2 – หายใจเข้าและออกช้าๆ ระหว่างที่ทำท่ากอดนี้ 

ขั้นที่ 3 – ยกมือขึ้นตบที่หัวไหล่ทั้งสองข้างเบาๆ เหมือนผีเสื้อกำลังกระพือปีก จะเคาะช้าๆ หรือเร็วๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้กอดเอง 

ขั้นที่ 4 – ระหว่างที่ตบไปที่บ่า ให้เราทำจิตใจให้นิ่งสงบ นึกถึงสิ่งดีๆ ที่ทำให้เรามีความสุข หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง 

ขั้นที่ 5 – เราสามารถทำท่ากอดผีเสื้อตามระยะเวลาที่ต้องการ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 3-4 นาทีต่อครั้ง และควรทำทุกวันต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้สึกดีๆ มาเสริมสร้างจิตใจให้แข็งแกร่ง 

การกอดนี้สามารถช่วยให้ผู้กอดรับรู้ได้ถึงความรักจากตัวเอง ซึ่งช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ คุณค่าจากการได้สัมผัสตัวเองด้วยรัก เปรียบเสมือนการเริ่มต้นรักและใจดีกับตัวเอง 

สุดท้าย แม้ว่าวันนี้บ้านอาจจะไม่ได้ปลอดภัยสำหรับเรา แต่เราสามารถเลือกที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเราเองกับผู้อื่นได้ โดยเริ่มต้นจากการรักและยอมรับตัวเอง แม้จะฟังดูง่าย แต่เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยทั้ง ‘พลังกาย’ ‘พลังใจ’ และที่ขาดไม่ได้คือ ‘เวลา’ ดังนั้นไม่ต้องรีบร้อนแต่อย่างใด ค่อยๆ เรียนรู้ และเติบโตไปพร้อมกับหัวใจของเราที่ค่อยๆ เยียวยาตัวเอง 

แต่อย่าลืมว่า หากวันใดเราไม่ไหว อย่าลืมที่จะขอความช่วยเหลือ อย่าฝืนทนจนใจของเราเจ็บป่วยเรื้อรัง เพราะยิ่งเรารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ใจที่ป่วยยิ่งมีโอกาสหายดีมากขึ้นเท่านั้น 

อ้างอิง: 

  • Artigas, L., & Jarero, I. (2014). The butterfly hug. Implementing EMDR early mental health interventions for man-made and natural disasters, 127-130.