รู้จักการ “ตีหม้อประท้วง” จากยุโรปยุคกลางสู่การประท้วงในพม่าและไทย

4 Min
623 Views
10 Feb 2021

Select Paragraph To Read

  • Charivari: ตีหม้อแสดงความไม่พอใจของชุมชนต่อคนในชุมชน
  • จาก Charivari สู่ Cacelorazo: การเปลี่ยนเป้าการตีหม้อจากคนในชุมชนเป็นรัฐ
  • Cacelorazo ยุคปัจจุบัน

หากใครติดตามข่าวการประท้วงในโลก เราก็คงจะคุ้นเคยกับการ “ตีหม้อประท้วง” กันมาบ้าง ซึ่งการ “ตีหม้อประท้วง” ที่เด่นที่สุดในปี 2021 ก็คงหนีไม่พ้นการประท้วงของชาวพม่าภายหลังรัฐประหารในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งชาวไทยก็เอาการประท้วงแบบนี้มาใช้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021

สำหรับชาวไทย การประท้วงแบบนี้น่าจะละม้ายการตีฆ้องร้องป่าว “ไล่ราหู” ในอดีต ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรใหม่ เป็นวิธีการในท้องถิ่นที่เรามีอยู่แล้ว แต่มองอีกมุมหนึ่ง การ “ตีหม้อ” ในฐานะของการ “ประท้วง” นั้น จริงๆ มีประวัติยาวนานมากๆ ในโลกตะวันตก

ซึ่งเราจะมาเล่าให้ฟังกัน…

Charivari: ตีหม้อแสดงความไม่พอใจของชุมชนต่อคนในชุมชน

การแสดงความไม่พอใจของชาวบ้านด้วยการ “ตีหม้อ” มีมายาวนานมากๆ ในโลกตะวันตก ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นก็มีคำเรียกต่างๆ กัน แต่พฤติกรรมแบบนี้ ‘คำกลาง’ ในทางประวัติศาสตร์มักจะใช้คำฝรั่งเศสว่า Charivari ซึ่งรากศัพท์มาจากคำลาตินของชาวบ้านว่า Calibaria ซึ่งแปลตรงๆ ก็แปลว่า “ตีหม้อ” นั่นเอง

ถามว่าทำไมต้อง “ตีหม้อ” หลักๆ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่หม้อ แต่ประเด็นคือ เวลาจะประท้วงอะไร ก็ต้อง “ส่งเสียงดัง” เพื่อให้สิ่งที่ถูกประท้วงเป็นที่สนใจ และในสมัยก่อน ยุคที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องขยายเสียง สังคมชาวนาไม่มีอุปกรณ์อะไรที่สร้างเสียงดังๆ ได้นอกจากเครื่องครัว และนี่คือเหตุผลที่หม้อถูกยกมาตี เพราะมันเป็นของที่ตีแล้วสร้างเสียงที่ดังได้มากที่สุดเท่าที่ชาวนาจะหาได้ในบ้าน

ในยุโรปยุคกลางถึงสมัยใหม่ตอนต้น (คือก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส) เวลาชาวบ้านจะแสดงความไม่พอใจคนในชุมชน ชาวบ้านจะรวมตัวกันแห่ “ตีหม้อ” ที่หน้าบ้านของคนที่ทำให้ชุมชนไม่พอใจ ซึ่งโดยทั่วไปคนที่โดนมักจะเป็นคนที่เป็นชู้ หรือหม้ายที่แต่งงานใหม่เร็วเกินไป (ซึ่งสมัยนั้นถือว่า “ผิดธรรมเนียม”) รวมไปถึงคนที่มีพฤติกรรมที่ “เห็นแก่ตัว” ต่างๆ ที่เพื่อนร่วมชุมชนทนไม่ไหว

ภาพวาดแสดง Charivari จากศตวรรษที่ 14 | Wikipedia

พฤติกรรมแบบนี้มีทั่วยุโรปตะวันตก และก็ข้ามไปที่ทวีปอเมริกาตั้งแต่เหนือจรดใต้ด้วย ซึ่งวัฒนธรรมนี้ขยายตัวไปพร้อมๆ กับคนขาวและอาณานิคม แต่ในช่วงแรก นี่เป็นการประท้วงที่จำกัดใช้เฉพาะกับคนในชุมชนที่มีพฤติกรรมที่สมาชิกคนอื่นๆ รับไม่ได้เท่านั้น คนยุคนั้นไม่ได้ “ตีหม้อ” ประท้วงรัฐ

จาก Charivari สู่ Cacelorazo: การเปลี่ยนเป้าการตีหม้อจากคนในชุมชนเป็นรัฐ

ชาติแรกที่เปลี่ยนเป้าของ Charivari จากคนในชุมชนเป็นรัฐก็หนีไม่พ้นชาติที่เป็น “เจ้าพ่อแห่งการประท้วง” อย่างฝรั่งเศส โดยในช่วงทศวรรษที่ 1830 การตีหม้อถูกใช้เพื่อต่อต้านพระเจ้าหลุยส์ฟีลิปที่ 1 ภายหลังที่ฝรั่งเศสกลับมาปกครองระบอบกษัตริย์

ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นอะไรที่ “ฝรั่งเศส” มากในช่วงแรกๆ เพราะมีแต่คนฝรั่งเศสที่ประท้วงแบบนี้ ขนาดในช่วงปลายอาณานิคมฝรั่งเศสของแอลจีเรีย ช่วงปี 1961 คนยังประท้วงด้วยวิธีการนี้เลย โดยในตอนนั้น ฝ่ายที่ทำแบบนี้คือฝ่ายนิยมฝรั่งเศสที่ต่อต้านการเป็นเอกราชของแอลจีเรีย และเหตุการณ์ในช่วงนั้นก็ถูกขนานนามว่า “ค่ำคืนแห่งเสียงหม้อ” (Nights of the Pots)

หลังจากนั้น การ “ตีหม้อประท้วง” ก็หายไปจากฝรั่งเศส และไปโผล่ในชิลี โดยผู้ประท้วงแรกๆ คือนักกิจกรรมผู้หญิงฝ่ายขวาที่จัดการ “ตีหม้อ” ประท้วงรัฐบาลฝ่ายซ้ายของประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อาเยนเด้ของชิลี ในปี 1971 ซึ่งในครั้งนั้น การตีหม้อเปล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ว่า “พวกกูไม่มีจะกินแล้ว”

อย่างไรก็ดี หลังจากที่อาเยนเด้โดนรัฐประหาร รัฐบาลทหารของออกุสโต้ ปิโนเชต์ ก็กลับมาโดนประชาชนฝ่ายซ้าย “ตีหม้อ” เพื่อทำการขับไล่ และก็เรียกได้ว่าการ “ตีหม้อประท้วง” ในยุคสมัยใหม่นี่คือผลผลิตของวัฒนธรรมการเมืองของชิลีนั่นเอง

คำว่า Cacelorazo นี่เป็นผลผลิตจากชิลีเลย โดยคำว่า Cacelora เป็นคำที่คนชิลีเรียกหม้อสตูว์ ส่วนคำห้อยท้ายว่า –azo นั้นแปลว่า “ตี” ซึ่งก็ตรงกับรากของคำนี้ในยุคก่อนเป๊ะๆ ไม่ว่าจะเป็น Chavilari ในภาษาฝรั่งเศส หรือ Calibaria ในภาษาละติน ซึ่งจะบอกว่าคำว่า Cacelorazo คือภาษาสเปนก็ไม่เชิง เพราะในสเปนจะเรียกว่า Cacerorada

Cacelorazo ยุคปัจจุบัน

หลังจากที่ชิลีใช้การ “ตีหม้อ” ไล่เผด็จการ ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาก็ทำตาม โดยมันเป็นการประท้วงที่ไม่แปลกอะไรเลยในลาตินอเมริกาช่วงศตวรรษที่ 21 แบบเห็นกันได้เกลื่อนกลาด ซึ่งที่เราไม่คุ้นเคย ก็เพราะเราไม่ได้รู้ข่าวการเมืองลาตินอเมริกาที่มักไม่ปรากฏตามหน้าสื่อในโลกภาษาอังกฤษเท่าไร

การประท้วงตีหม้อที่อาร์เจนตินาในปี 2001 | Wikipedia

ไม่นานมานี้ การตีหม้อก็ปรากฏในวิกฤติการเมืองบราซิล เวเนซุเอลา เอกวาดอร์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากของคนอเมริกาใต้ หรือในโลกภาษาสเปน และนี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมนี้ย้อนกลับมาถูกใช้ในประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าอย่างสเปนด้วย เพราะในยุโรปเองน่าจะมีแต่สเปนที่ยังคน “ตีหม้อประท้วง” โดยประท้วงล่าสุดคือในช่วงปี 2020 ที่ประชาชนออกมาตีหม้อประท้วงให้อดีตกษัตริย์ทำการ “บริจาค” เงินให้รัฐบาลเพื่อสู้กับโรคโควิด-19

และถ้าถามว่าในเอเชีย ถ้าไม่ใช่พม่า เคยมีการตีหม้อประท้วงมาก่อนหรือไม่ คำตอบคือ “เคยมี”

เพราะคนฟิลิปปินส์ก็เคยใช้การประท้วงแบบนี้กับประธานาธิบดีมาร์กอสมาแล้วในช่วง 1970’s ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะฟิลิปปินส์ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของโลกภาษาสเปนมายาวนาน เนื่องจากเป็นอาณานิคมของสเปนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ถึงปลายศตวรรษที่ 19

แต่ถ้าถามว่านอกโลกภาษาสเปนและโลกที่ใกล้ชิดกับโลกภาษาสเปนนั้น ในเอเชียเคยมีการประท้วงแบบนี้หรือไม่ คำตอบก็คือ “คงไม่มี”

และการ “ตีหม้อ” ประท้วงรัฐประหารในพม่าก็อาจเรียกได้ว่าเป็น ครั้งแรกๆ ของการประท้วงแบบนี้ในเอเชีย ถ้าไม่นับฟิลิปปินส์

ซึ่งถามว่าเขาคิดอะไรอยู่ตอนเลือกวิธีประท้วงแบบนี้? คำตอบบางส่วนอาจไม่ใช่แค่เรื่องวัฒนธรรมการเมืองเท่ากับความเหมาะสมด้านวัตถุ เพราะอย่างน้อยๆ การประท้วงแบบ “ตีหม้อ” แบบนี้จะเวิร์ค มันก็ต้องใช้ “อุปกรณ์ที่มีอยู่ทุกบ้าน” ซึ่งในเคสพม่า ที่ยังไม่เข้าสู่วิถีสมัยใหม่นัก ทุกบ้านต้องทำกับข้าวกินเอง การนัดกัน “ตีหม้อ” นี่ก็น่าจะเวิร์ค เพราะหม้อเป็นสิ่งที่มีทุกบ้าน

แต่ในทางกลับกัน ลองนึกถึงสภาพของสังคมที่คนต้องอยู่ในห้องเล็กๆ ซึ่งบางทีไม่มีครัวแบบฮ่องกงและเกาหลีใต้ การนัดกัน “ตีหม้อ” อาจไม่เวิร์คเท่าไร เพราะ “หม้อ” ไม่ใช่สิ่งที่มีทุกบ้านแน่ๆ

และอย่างน้อยๆ เหล่าคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในห้องพักรูหนูนั้นกลับบ้านไปก็คงไม่มี “หม้อ” ให้ตี

อ้างอิง: