3 Min

ผูกขาด กฎหมายเอื้อนายทุน? จากโลกสุรา สู่ดินแดนกัญชาเสรี ที่ไม่เสรี

3 Min
1040 Views
03 May 2021

กัญชา…ถ้าหากพูดถึงพืชชนิดนี้ คุณคิดถึงอะไร?

ตลอดระยะเวลายาวนาน ‘กัญชา’ เป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศไทยมานานตั้งแต่กฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับแรกบังคับใช้ในปีพ.ศ. 2522 สังคมมองกัญชาเป็นผู้ร้ายมานานแม้ว่าในทางหนึ่งกัญชาจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ที่มีหลักฐานยืนยันเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้กฎหมายได้ปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ รวมถึงในปีที่แล้วก็ได้มีการประกาศให้กัญชาหลายส่วนไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด

การอนุญาตให้พืชและผลิตภัณฑ์จากกัญชาถูกใช้ทางการแพทย์ไปจนถึงการปลดล็อกให้ส่วนประกอบหลายส่วนไม่ถูกนับเป็นยาเสพติด จะมีส่วนทำให้ตลาดกัญชาเติบโตในเชิงพาณิชย์ อาจเรียกได้ว่านับหนึ่งและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกมากเลยด้วยซ้ำ

แต่การปลดล็อกก็มาพร้อมเงื่อนไข เพราะการครอบครองหรือปลูกกัญชาเองนั้นจะต้องเป็นผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศเท่านั้น

โรงปลูกกัญชา

โรงปลูกกัญชา | caribbeanlifenews

คำถามคือถ้าหากอยากเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกต้นกัญชาเพื่อเชิงพาณิชย์ต้องมีเงื่อนไขอย่างไร?

เงื่อนไขเหล่านั้นจะนำไปสู่การ ‘ผูกขาด’ มันจะกลายเป็นเงื่อนไขฉบับเอื้อนายทุนเหมือนกฎหมายสุรารึเปล่า?

ดังนั้นการที่สินค้าเหล่านี้จะถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขที่ไม่ค่อยเป็นธรรมต่อรายเล็กๆ แต่เอื้อให้ตลาดของรายใหญ่ที่มีทุนทรัพย์มากกว่ากลายเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ได้ให้ความสนใจสักเท่าไหร่นัก เพราะเชื่อกันอยู่แล้วว่าการปลูกกัญชา หรือการบ่มเหล้าเบียร์เองมันเป็นเรื่องสมควรจะถูกควบคุม

ด้วยเพราะมายาคติในสังคมของกัญชาและสุรามีความคล้ายคลึงกัน คนที่ไม่ได้เข้าคลุกคลีจะมองว่ามันเป็นสิ่งที่ ‘ไร้ศีลธรรมอันดี’ ในสังคม

แต่แน่ใจได้อย่างไรว่าการควบคุมเหล่านั้นมันจะไม่ได้เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้ใคร และจำกัดการเติบโตของคนตัวเล็กๆ

หากเราดูตัวอย่างจากกฎหมายสุรา เราจะพบว่า แม้ว่าในปัจจุบันตลาดคราฟต์เบียร์ไทยจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ประกอบการรายเล็กจะผลิตเบียร์ที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งออกมาจำหน่ายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเงื่อนไขที่เกี่ยวกับเบียร์ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีใบอนุญาต ซึ่งมี 2 รูปแบบคือ

  1. ใบอนุญาตโรงต้มเบียร์ขนาดใหญ่ (Macrobrewery) ซึ่งต้องมีเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท และต้องผลิตเบียร์ได้เกิน 10 ล้านลิตรต่อปี
  2. ใบอนุญาตโรงต้มเบียร์ขนาดเล็ก (Microbrewery) สำหรับผู้ประกอบการ ‘รายย่อย’ ซึ่งตามกฎต้องมีเงินทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ผลิตเบียร์มากกว่า 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี
ทำไมคราฟต์เบียร์ไทยเติบโตไม่ไหวใต้กฎหมายสุรา

ทำไมคราฟต์เบียร์ไทยเติบโตไม่ไหวใต้กฎหมายสุรา | BrandThink

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ความเป็นไปได้เดียวที่จะเป็นผู้ผลิตเบียร์ในประเทศไทยคือต้องมี ‘ทุนหนา’ ประมาณหนึ่งเพื่อให้เข้าเงื่อนไขอย่างถูกต้อง

ส่วนรายเล็กๆ ที่ไม่สามารถผลิตอย่างถูกต้องในประเทศไทยได้ ก็ต้องใช้วิธีลงทุนไปผลิตในต่างประเทศและส่งกลับมาขายในประเทศไทยด้วยภาษีสินค้าจากต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง เช่นเดียวกับคราฟต์เบียร์ ‘ศิวิไลซ์’ ที่คนไทยต้องเข้าไปผลิตในประเทศเวียดนาม และได้รับรางวัลจากงานประกวดเบียร์ในนามของประเทศเวียดนาม

ด้วยระบบระเบียบในประเทศทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่ากฎหมายเหล่านี้ ‘สมเหตุสมผล’ ดีแล้วหรือไม่ เพราะความเป็นไปได้ในการแข่งขันทางธุรกิจตามเงื่อนไขนั้นเป็นไปได้ยากมาก เราจึงเป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นผู้เล่นในตลาดสุราเพียงแค่ไม่กี่รายเท่านั้นที่มีส่วนแบ่งการตลาด

และคำถามที่หลายคนสงสัย คือการผูกขาดตลาดให้กับเจ้าใหญ่ทุนหนาผ่านเงื่อนไขทางกฎหมายนี้เกิดขึ้นกับกัญชาไหม?

เช่นเดียวกับสุรา กัญชาเป็นสิ่งที่หลายคนในสังคมมองว่าไม่ควรเปิดให้เสรีการค้า แต่ตลาดการค้าของกัญชาใหญ่กว่าตลาดของคราฟต์เบียร์มาก เนื่องจากมันถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ทางการแพทย์ เภสัชกรรม ไปจนถึงอาหาร ที่ปัจจุบันก็เริ่มมีร้านค้าจำนวนมากที่ใช้ใบ-ก้าน ของกัญชามาเป็นส่วนประกอบ

ใบกัญชา

ใบกัญชา | transcode-v2

แต่สำหรับการปลูกในเชิงพาณิชย์เพื่อส่งไปรองรับตลาดเหล่านั้น ผู้ปลูกจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองและปลูกเพื่อส่งเข้าตลาด ไม่ว่าจะสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการแพทย์ หรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ โดยในกฎหมายยังไม่ได้กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนว่า ‘ใคร’ สามารถปลูกได้บ้าง แต่ที่แน่นอนตอนนี้ยังไม่ใช่ ‘ทุกคน’ อย่างแน่นอน และคงไม่ได้เป็น ‘ดินแดนกัญชาเสรี’ อย่างที่มีการพูดไว้ก่อนปรับกฎหมาย

การผูกขาดไม่ได้แปลว่ามีเจ้าเดียวหรือเป็นไปตามกฎหมายที่ถือส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าครึ่งเสมอไป แต่บางครั้งการผูกขาดก็อาจมาในรูปแบบเงื่อนไขกฎหมายที่ส่งให้คนเฉพาะกลุ่มได้รับประโยชน์ หยุดชะงักความเคลื่อนไหว และโอกาสของคนตัวเล็กๆ จะได้เติบโต

กัญชาและคราฟต์เบียร์เป็นเรื่องราวที่เรามองเห็นได้ชัดเจนในสังคม แต่สิ่งสำคัญก็คือ มีอะไรอีกบ้างที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เอื้อให้กับใครบางคน ผ่านกฎหมายที่สร้างด้วยคนบางกลุ่ม โดยที่เราเผลอมองข้ามไป?

ติดตามสารคดี Highland จาก BrandThink Cinema ที่จะพาคุณหามองลึกลงไปในมายาคติกัญชากับคราฟต์เบียร์ และกฎหมายที่ไม่ได้สร้างไว้เพื่อประชาชน วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 นี้ ทาง BrandThink.me