รู้จัก ‘Green2Get’ แอปพลิเคชันที่ช่วยจัดการขยะในมือได้ครบถ้วนทุกกระบวนการ
เชื่อว่าหากใครกำลังคิดอยากแยกขยะ อาจจะพบกับปัญหาชวนให้ขบคิดต่อมาว่า ควรจะแยกอย่างไร ผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนคือขยะอะไร พลาสติกที่ถืออยู่ในมือเป็นพลาสติกประเภทไหน แยกแล้วจะเอาไปทิ้ง ไปขาย หรือไปมอบให้ที่ไหนดี ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องชวนรำคาญใจ และพาลให้ใครหลายคนล้มเลิกความคิดที่อยากแยกขยะมานักต่อนัก (ไม่นับว่า อาจมีอาการขาดวินัยไปบ้าง)
เพื่อให้เรื่องกังวลนั้นหมดไป วันนี้ BrandThink จึงอยากแนะนำแอปพลิเคชันที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านแอปที่ชื่อ Green2Get
Green2Get เป็นแอปพลิเคชันฝีมือคนไทย สร้างขึ้นโดยแฟนเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” เพจด้านสิ่งแวดล้อมที่คอยแนะแนวเรื่องการแยกและรีไซเคิลขยะชนิดต่างๆ ด้วยวิธีการแบบง่ายๆ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำตามได้ ซึ่งตัวแอปพลิเคชันก็เหมือนการนำความรู้ที่เพจเคยบอกเล่ามาใส่ลงไปในสมาร์ตโฟน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้สืบค้นข้อมูลการแยกขยะกันได้ง่ายขึ้น
ในแอป Green2Get จะช่วยแก้ปัญหาให้กับคนที่อยากแยกขยะ (แต่ไม่รู้ต้องทำยังไง) ไว้ด้วยกัน 3 ด้านใหญ่ๆ ประกอบด้วย
- What – สินค้าหรือขยะที่เรามีมันคืออะไร มีวัสดุอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง ซึ่งวิธีใช้ก็แสนง่าย เพียงสแกนบาร์โค้ดของสิ่งนั้น แอปก็จะแจ้งให้เราทราบถึงส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่เรื่องต่อไป
- How – วิธีจัดการขยะชิ้นที่เราเพิ่งสแกน ว่าต้องจัดการกับมันอย่างไรบ้าง ต้องแกะต้องเก็บอย่างไร แยกส่วนแบบไหน ขยี้ขยำ ฉีกกระชากอย่างไร ก่อนจะนำไปสู่ขั้นตอนที่สาม
- Who & Where – มีใครที่รับซื้อขยะเหล่านั้น ซึ่งในแอปจะแสดงรายชื่อผู้รับซื้อขยะ โรงงานที่รับรีไซเคิล ทั้งช่องทางการติดต่อเบอร์โทรและไลน์ พิกัดที่ตั้ง และแยกประเภทโรงงานมาให้แบบเสร็จสรรพ รวมถึงวิธีการขนส่งที่มีทั้งต้องไปส่งเองถึงที่ หรือใช้บริการส่งพัสดุ และสถานขอรับบริจาคเพื่อนำไปสร้างประโยชน์ในด้านอื่นๆ

ขยะพลาสติก | pxhere
จุดเด่นอย่างหนึ่งของแอปพลิเคชันนี้ คือเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มวิธีการคัดแยกขยะแต่ละชิ้นเข้าไปได้เอง ถ้าหากเรามีไอเดียการแยกขยะนอกเหนือจากวิธีที่ถูกระบุไว้ หรือถ้าขยะชิ้นนั้นยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในฐานข้อมูล ก็สามารถเขียนบรรยาย ถ่ายภาพอัปโหลดข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งผู้พัฒนาแอปตั้งใจให้พื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือนช่องทางแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างคนอยากแยกขยะให้ได้เข้ามาพูดคุยกัน ส่วนหากใครกังวลว่าข้อมูลที่เพื่อนเขียนไว้ดูไม่น่าเชื่อถือ เราก็สามารถเช็กรายละเอียดได้จากโรงงานที่รับซื้อขยะได้โดยตรงอีกทาง
ที่สำคัญทางแอปยังเปิดให้ผู้รับซื้อขยะ โรงงาน หรือองค์กรที่ต้องการขยะไปรีไซเคิล สามารถมาลงทะเบียนกับแอปได้ เพื่อใช้ช่องทางนี้เป็นสื่อกลางในการแจ้งรายละเอียดสิ่งของที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเอง ก็สามารถมาร่วมลงทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของแอปเพื่อร่วมแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ว่าในอนาคตข้างหน้าของเหล่านี้จะกลายเป็นขยะประเภทไหน
Green2Get มีให้ดาวน์โหลดทั้งระบบ iOS และ Android สามารถเข้าไปดาวน์โหลดและดูวิธีการใช้งานเบื้องต้นได้ที่ https://green2get.com/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/Green2Get/
อย่างไรก็ตาม (ในความเห็นของผู้เขียนที่โหลดมาใช้) แอปนี้ถือเป็นแอปที่ค่อนข้างใหม่ ยังมีข้อมูลในฐานไม่มากนัก ข้าวของหลายชิ้นที่ทดลองสแกนไปยังไม่มีข้อมูลปรากฏ ทำให้รู้สึกขัดใจอยู่เล็กๆ (สำหรับคนที่ไม่ค่อยจะมีความรู้เรื่องการแยกขยะสักเท่าไร) แต่ก็ไม่ขอกล่าวโทษผู้พัฒนาแอปในกรณีนี้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันมีมากมายหลายหลาก การจะบรรจุฐานข้อมูลทั้งหมดจากการสแกนบาร์โค้ด เป็นเรื่องที่ทำให้เสร็จสรรพทั้งหมดโดยไวได้ไม่ง่ายนัก
เชื่อว่าในอนาคต หากแอปนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีผู้ใช้ทั้งบุคคลทั่วไป โรงงานห้างร้าน มาช่วยเติมข้อมูลต่างๆ ในฟังก์ชัน What – How – Who & Where ที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ Green2Get จะเป็นคำตอบการแก้ไขปัญหาขยะได้อย่างเป็นรูปธรรม ยั่งยืน และเห็นผลได้ชัดกว่าการตั้งชื่อแอปลงท้ายด้วยคำว่า “ชนะ” อย่างแน่นอน

pxhere
อ้างอิง
- ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป. https://bit.ly/3yzACXd