4 Min

ราคาทองคำพุ่งขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์ ทำไมเป็นสัญญาณหายนะทางเศรษฐกิจ และควรซื้อทองมาเก็บหรือไม่?

4 Min
2257 Views
17 Nov 2021

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะงักงัน สิ่งที่โดดเด่นสุดๆ ในโลกของการเงินการลงทุนกลับเป็น ‘ทองคำ’ ที่ราคาไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนราคาทองคำในตลาดโลกขึ้นแต่จุดสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ออนซ์ละ 2,000 เหรียญสหรัฐ

ภาพสะท้อนที่ชัดเจนคือราคาทองเมืองไทยขึ้นไปเกือบบาทละ 30,000 บาท ซึ่งก็สูงที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน

ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นสูงขนาดนี้ หลายคนคงอยากลงทุนในทองคำกันไม่น้อย? และถ้าใครต้องการลงทุน ไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะๆ ไปซื้อทองจริงๆ หรือ ‘ตั๋วทอง’ ที่ร้านทองก็ได้ เพราะเราสามารถลงทุนในกองทุนรวมทองคำได้ แทบทุก บลจ.ต่างมีกองทุนประเภทนี้ และบาง บลจ.ก็ซื้อผ่านแอปของธนาคารที่เป็นเจ้าของได้ เรียกว่าสะดวกสบาย ซื้อ-ขายง่าย ไม่ต้องมาพะวงว่าทองคำเป็นชิ้นๆ จะหายไปไหน เพราะเราไม่ได้มีทองรูปพรรณอยู่ในมือที่คนจะมาขโมยได้

แต่ก่อนจะคิดลงทุน โปรดอ่านบทความนี้กันก่อน เพราะถ้าไม่รู้ที่มาที่ไปว่าทำไมราคาทองคำขึ้นถึงไม่ใช่เรื่องดี ก็ยังไม่ควรจะ ‘คิดสั้น’ ไปลงทุน

1.

ในอดีตกาลนานมา มนุษย์มักจะถือทองคำในมือ เพราะถือกันว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่เป็น ‘สื่อการแลกเปลี่ยนสากล’ และ ‘มูลค่าไม่ลดลง’ มายาวนาน

อย่างไรก็ดี จะสังเกตว่ามนุษย์ไม่ได้ถือเพราะทองมีมูลค่าเพิ่ม และในอดีตก็ไม่มีใครมา ‘เก็งกำไร’ กับทองคำกันเป็นล่ำเป็นสัน

ดังนั้น ราคาทองโดยทั่วไปจะค่อนข้างเสถียร ไม่แกว่งเหมือนสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ

แต่ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ราคาทองในช่วงปี 2008-2011 จะพบว่าราคาทองคำจะขึ้นต่อเนื่องยาวๆ เป็นเท่าตัว (ขึ้นมาจากจุดต่ำสุดประมาณออนซ์ละ 800 เหรียญสหรัฐจนไปสุดที่ประมาณ 1,700 เหรียญสหรัฐ)

และภาวะแบบนี้น่าจะเรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของตลาดการเงิน

คำถามคือ…ทำไม?

เพราะในปี 2008 โลกต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลกเป็นครั้งแรกอย่างยาวนาน และนี่เป็นวิกฤติครั้งแรกที่ระบบการเงินโลกเชื่อมถึงกันขนาดนี้

แล้ว ‘ทองคำ’ เกี่ยวอะไร?

2.

ในภาวะปกติที่เศรษฐกิจเติบโตหรือ ‘ตลาดขาขึ้น’ หลักการพื้นฐานของการลงทุนคือ การลงทุนใน ‘หุ้น’ เป็นหลัก

เพราะนั่นคือสินทรัพย์ที่ทวีมูลค่าเร็วที่สุด อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นที่ 7-8% ต่อปี ส่วนจะเลือกลงทุนในหุ้นตัวไหนกลุ่มไหน ก็แล้วแต่ทักษะและความถนัดของนักลงทุนแต่ละคน

ขณะเดียวกันในภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ ‘ตลาดขาลง’ ก็มีหลักการเช่นกันว่า ถ้าถดถอยแค่ในประเทศ ก็ควรจะเอาเงินย้ายไปลงทุนใน ‘หุ้น’ ประเทศอื่นที่ยังเป็น ‘ตลาดขาขึ้น’

แต่ถ้าเศรษฐกิจถดถอยทั้งโลกอย่างไม่มีกำหนด ก็ควรจะถอนเงินจากหุ้นไปลงทุนในสิ่งอื่นที่มูลค่าไม่ลดลงในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ตามจารีตการลงทุน ‘สิ่งอื่นๆ’ ที่ว่าคือ ‘พันธบัตร’ และ ‘เงินสด’ เพราะถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่จะ ‘มูลค่าไม่ลดลง’ ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าจะถดถอยรุนแรงก็ตาม

ทีนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แม้แต่พันธบัตรรัฐบาลและเงินสดก็ไม่ได้ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เพราะความเสี่ยงอย่างหนึ่งคือ ถ้ารัฐบาลไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุน ก็จะใช้เงินจำนวนมากอัดไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเหล่านี้ล้วนจะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา

ดังนั้น การเก็บเงินสดไว้ในบัญชีธนาคาร ดอกเบี้ยที่จะได้ลดลงไม่พอ มูลค่ายังก็จะลดเพราะเงินเฟ้ออีก

ส่วนถ้าซื้อพันธบัตร มูลค่าก็จะลด เพราะเงินเฟ้ออีกเช่นกัน เนื่องจาก ‘ดอกเบี้ย’ จากพันธบัตรต่างๆ นั้นคงที่ ไม่ได้ปรับขึ้นตามเงินเฟ้อ (อันนี้อธิบายง่ายๆ นะครับ)

ดังนั้น นักลงทุนก็เลยต้องปวดหัว เพราะทำตาม ‘หลักการ’ ที่สอนกันทั่วไปตอนเศรษฐกิจขาลงไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถรักษามูลค่าสินทรัพย์เอาไว้ได้

พูดง่ายๆ คือ ถ้าเจอวิกฤติเศรษฐกิจจริงๆ ขายหุ้นทิ้งหมด ถือเงินสดไว้ มูลค่าสินทรัพย์ของเราก็ลดลงอยู่ดี

ปัญหาคือทำอย่างไร มูลค่าสินทรัพย์ถึงจะไม่ลดลง? คำตอบคือ ‘ทองคำ’

3.

ทองคำเป็นสินค้าที่ถือว่า ถ้าถือไว้ ‘มูลค่าจะไม่ลดลง’

ในช่วงปี 2008 นักลงทุนจำนวนมากต้องการซื้อทองคำ ทั้งๆ ที่ปริมาณทองคำไม่ได้เพิ่มขึ้นในระดับเดียวกัน ทว่าราคาทองคำก็เพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา ตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป

เราจะเห็นว่า ในช่วงปี 2011 ซึ่งเป็นช่วงที่คนเชื่อว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกน่าจะจบลงแล้ว และตลาดหุ้นก็น่าจะอยู่ในภาวะ ‘ตลาดขาขึ้น’ ตามปกติ คนก็เลยแห่กันทิ้งทองคำกลับมาลงทุนในหุ้น

จากนั้นราคาทองคำก็ตกลงจากจุดสูงสุดที่ประมาณออนซ์ละ 1,700 เหรียญสหรัฐ แกว่งไปมาที่ประมาณออนซ์ละ 1,100-1,200 เหรียญสหรัฐยาวนานเกือบ 10 ปี

จนกระทั่งกลางปี 2019 ราคาทองคำพุ่งทะลุแนวต้าน และผ่านมาหนึ่งปีหรือปี 2020 ก็พุ่งทะลุราคาที่ทำเอาไว้ในปี 2011 โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าจะหยุดเมื่อไหร่

คนที่ติดตามข่าวจะเห็นว่า ราคาทองคำเริ่มขึ้นผิดปกติมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 หรือตั้งแต่ปี 2019 แล้ว ซึ่งในเวลานั้น ไม่มีใครคิดว่าเศรษฐกิจโลกจะดี อเมริกากับจีนทำ ‘สงครามการค้า’ ส่งผลให้ตลาดขาขึ้นที่ขึ้นมาหลายปีต้องชะงัก

นักลงทุนมองว่า สักพักตลาดน่าจะเป็นขาลงแล้ว ก็เลยเริ่มหันมาซื้อทองคำ แต่สุดท้าย สิ่งที่มา ‘ปิดเกมส์’ จริงๆ ว่าตลาดขาลงแน่ๆ ในระดับเศรษฐกิจถดถอยคือโควิด-19 และส่งผลให้ราคาทองพุ่งอย่างต่อเนื่อง

นี่เป็นสัญญาณว่าโลกสิ้นหวังแล้ว นักลงทุนไม่คิดว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะดีจนทำให้หุ้นขึ้นมาได้ในเร็วๆ นี้ และไม่คิดว่าพันธบัตรหรือเงินสดจะเป็นทางออก เพราะรัฐบาลทั่วโลกต่างปั๊มเงินสู้โควิด-19 กันอย่างบ้าคลั่งจนอาจนำมาสู่ ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ หนักๆ

ดังนั้น คนก็เลยแห่กันไปซื้อทองคำที่ดูเหมือนจะเป็น ‘ทางออกสุดท้าย’ ในการลงทุน จนราคาทองคำพุ่งขึ้นสูง

4.

การลงทุนใน ‘ทองคำ’ น่าสนใจแค่ไหน?

บอกตามตรงว่า น่าสนใจ และการลงทุนในทองคำแบบ ‘มีความรู้ทางการเงิน’ ก็เป็นสิ่งที่เข้าท่า แต่จะไม่เข้าท่าแน่นอน ถ้าเห็นทองราคาขึ้น แล้วเอาเงินทั้งหมดที่มีไปซื้อทอง โดยไม่จับตาดูอย่างละเอียด

เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ ราคาทองคำจะไม่ขึ้นไปตลอด สักพักราคาจะต้องแกว่งลงตามปกติ ลงแล้วก็อาจจะขึ้นต่อได้อีก

ถามว่าควรจะซื้อทองคำหรือไม่?

คำตอบคือ “ซื้อไปเถอะ” ถ้าคุณมีเป้าชัดเจนว่าจะขายเมื่อราคาทองคำขึ้นไปเท่าไหร่ และมี ‘แผนสอง’ ชัดเจน ถ้าซื้อไปราคาดันตก คุณจะยอมขายเพื่อ ‘ตัดขาดทุน’ (cut loss) ที่ราคาเท่าไร

นี่เป็นสิ่งพื้นฐานที่นักลงทุนต้องมี มิเช่นนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ คุณจะซื้อทองคำไปจนราคาขึ้นสักพัก แล้วราคาลง จากนั้นถ้าคุณจะ ‘หวัง’ ว่าราคาจะขึ้นต่อ แต่ไม่ขึ้น แถมยังลงอีก และลงไปเรื่อยๆ จนจากที่ได้กำไร จะกลายเป็นขาดทุน

และกว่าคุณจะยอมขาย ก็ขาดทุนย่อยยับเสียแล้ว

นี่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับ ‘นักลงทุนมือใหม่’ ที่แห่ซื้อสินทรัพย์ที่ราคาพุ่งโดยไม่คิดถึง ‘จังหวะขาย’ มานักต่อนักแล้ว

อ้างอิง