2 Min

รู้จัก ‘โรซ่า ปาร์ค’ สาวผิวดำผู้ไม่ยอมลุกให้คนขาวนั้งบนรถบัส สู่การปฏิวัติกฎหมายความเท่าเทียมทางสีผิว

2 Min
709 Views
03 Jul 2020

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 แม้ระบบทาสจะถูกยกเลิกไปแล้วในสหรัฐอเมริกา แต่การแบ่งแยกชนชั้นทางเชื้อชาติยังคงอยู่

ร้านอาหาร ร้านค้า ห้องน้ำสาธารณะ แม้แต่ก๊อกดื่มน้ำ ถูกแบ่งเป็นของ “คนขาว” และ “คนดำ” โดยห้ามใช้ร่วมกันเด็ดขาด

ทว่าการแบ่งแยกดังกล่าวก็มาถึงจุดเปลี่ยนในปี 1955 เมื่อหญิงชาวแอฟริกัน-อเมริกัน โรซ่า ปาร์ค (Rosa Park) ที่อยู่อาศัยในเมือง Montgomery รัฐ Alabama เอ่ยปฏิเสธไม่ยอมลุกให้ชายผิวขาวคนหนึ่งนั่งบนรถบัส

คำปฏิเสธสั้นๆ นั้นได้กลายเป็นชนวนที่นำมาสู่สุนทรพจน์ “ผมมีความฝัน” ของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และความสำเร็จครั้งใหญ่ในการผ่านกฎหมายสิทธิพลเมือง (Civil right)

คำถามคือ ทำไมคำปฏิเสธของ โรซ่า ปาร์ค ถึงส่งผลสะเทือนมากขนาดนี้?

หลังจาก โรซ่า ปาร์ค ปฏิเสธไม่ลุกให้คนขาวนั่งบนรถบัส เธอก็ถูกจับกุม เพราะในสมัยนั้นรถบัสแบ่งที่นั่งชัดเจนว่า ด้านหน้าเป็นที่นั่งของคนขาว ส่วนคนดำจะต้องนั่งข้างหลัง

เมื่อคนขาวบอกให้ โรซ่า ปาร์ค ลุกจากที่นั่งของคนขาว แต่เธอปฏิเสธ เรื่องราวจึงบานปลาย และจบลงด้วยการเรียกตำรวจ

โรซ่า ปาร์ค ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ และยืนยันว่าเธอไม่ได้ทำผิด สิ่งทีาผิดคือกฎการแบ่งแยกพวกนี้ต่างหาก

“หลายคนมักพูดว่า ฉันไม่ยอมยกเก้าอี้ให้เขาเพราะว่าวันนั้นฉันเหนื่อย เลยอยากนั่ง แต่มันไม่เป็นความจริง” โรซ่า ปาร์ค เล่าย้อนถึงเหตุการณ์วันนั้นในปี 1992 หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไป 37 ปี

“ร่างกายฉันไม่ได้เหนื่อยล้ากว่าวันอื่นๆ เพราะตอนนั้นฉันอายุแค่ 42 ยังไม่ได้แก่ขนาดจะไร้เรี่ยวแรง แต่ฉันเหนื่อย เหนื่อยที่จะต้องยอม…”

นี่ไม่ใช่การ “ดื้อแพ่ง” ครั้งแรกของโรซ่า ก่อนหน้านี้เธอและกลุ่มเพื่อนเคยไปเข้าคิวปะปนในแถวคนขาว เพื่อเรียกร้องว่าพวกเธอมาต่อคิวก่อน และเธอเองก็มีปัญหาเรื่องที่นั่งกับคนขับรถบัสมาหลายครั้ง

หลังจาก โรซ่า ปาร์ค ถูกจับกุมตัว ชาวแอฟริกัน-อเมริกันในเมืองก็ออกมาเคลื่อนไหว ภายใต้ ขบวนการบอยคอตไม่ขึ้นรถบัส (Montgomery Bus Boycott) โดยมี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นหนึ่งในแกนนำ

สำหรับชาวอเมริกันที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย การตัดสินใจไม่ขึ้นรถบัส นับเป็นเรื่องยากลำบากมาก แต่เกือบ 1 ปีที่ขบวนการนี้เคลื่อนไหว คนแอฟริกัน-อเมริกันซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน กลับพร้อมใจกันไม่ใช้บริการรถบัสเลยแม้แต่คนเดียว

จนในที่สุด ปีถัดมา ศาลสูงสุดตัดสินให้การแบ่งแยกสีผิวบนรถประจำทาง เป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หลังการเรียกร้องครั้งนั้นจบลงด้วยความสำเร็จ จากผู้หญิงธรรมดา โรซ่า ปาร์ค ได้รับการเรียกขานเป็น ผู้ให้กำเนิดขบวนการเพื่อสิทธิพลเมือง (the mother of the civil rights movement)

แต่ชีวิตที่ถูกสปอตไลท์สาดจับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะโรซ่า ปาร์ค และบรรดาแกนนำถูกคุกคาม ข่มขู่จากกลุ่มคนที่เห็นต่าง

สุดท้าย โรซ่า ปาร์ค ต้องย้ายไปอยู่ที่รัฐ Michigan ทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นรัฐที่มีปัญหาเรื่องการเหยียดผิวน้อยกว่า

ถึงกระนั้น โรซ่า ปาร์ค ก็ไม่เคยลดละในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับคนแอฟริกัน-อเมริกัน

เหตุการณ์บนรถประจำทางครั้งนั้น และการเรียกร้องยาวนานหลายปี ในที่สุดก็นำมาสู่การออกกฎหมายสิทธิพลเมือง (Civil right act) ในปี 1964 ที่ระบุว่า การเลือกปฏิบัติกับคน “ผิวไม่ขาว” คือเรื่องผิดกฎหมาย

50 กว่าปีผ่านไป จาก โรซ่า ปาร์ค สู่กรณีการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟรอยด์ จนนำมาสู่กระแส #BlackLivesMatter เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมให้แก่คนผิวดำ แสดงให้เราเห็นแล้วว่า แม้จะบัญญัติเป็นกฎหมาย แต่การเลือกปฏิบัติเพราะสีผิวยังคงอยู่

วันนี้เสียงเรียกร้องยังคงดังก้อง
เสียงนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือไม่
เราคงต้องรอดูกันต่อไป.

อ้างอิง: