3 Min

เยอรมนีกำลังลดอายุ ‘ผู้มีสิทธิ์ไปเลือกตั้ง’ ลงให้เหลือเพียง 16 ปี แต่เราเคยสงสัยไหม ว่าทำไมคนจะไปเลือกตั้งต้องอายุขั้นต่ำ 18?

3 Min
234 Views
20 May 2024

ในการเลือกตั้งสภายุโรปที่กำลังจะมาถึงในเดือนมิถุนายน 2024 นี้ เยอรมนีได้ทำสิ่งที่เกินคาดในสายตาหลายฝ่าย ซึ่งมันคือการลดอายุคนที่จะไปลงคะแนน ให้เหลือเพียง 16 ปี ซึ่งถ้าคนไม่คุ้นกับประเด็นเรื่องลดอายุคนมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งได้ ก็คงแปลกใจ แต่จริงๆ แล้วมันมีเกือบสิบประเทศที่อายุเลือกตั้งปัจจุบันเป็น 16 ปีอยู่แล้ว ในยุโรป ชาติเพื่อนบ้านของเยอรมนีอย่างออสเตรียคนอายุ 16 ปี มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ และก็มีชาติยุโรปเล็กๆ อีกนิดหน่อยที่ปรับให้คนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอายุ 16 ปี อย่าง มอลตา เอสโตเนีย สกอตแลนด์ และเวลส์ ส่วนอีกซีกโลก ชาติลาตินอเมริกาอย่าง บราซิล อาร์เจนตินา นิคารากัว และเอกวาดอร์ ก็ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่บุกเบิกการลดอายุผู้มีสิทธิ์ไปเลือกตั้ง

ดังนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก และจะทำความเข้าใจเราอาจต้องย้อนไปดูไอเดียว่าใครมีสิทธิ์เลือกตั้งบ้าง

ถ้าคนรู้ประวัติศาสตร์ เกณฑ์ของการมีสิทธิ์เลือกตั้งดั้งเดิมไม่ใช่เรื่องอายุ แต่เป็นเรื่องของการถือครองที่ดินและจ่ายภาษี ดังนั้นผู้ชายทุกคนไม่ได้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วยซ้ำใน ‘ประชาธิปไตย’ ยุคแรกๆ ช่วงศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ดี ก็มีการขยายให้ ‘ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่’ ทั้งหมดมีสิทธิ์นี้ และต่อมาก็ขยายรวมถึงผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย หรือพูดง่ายๆ เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 19 ไอเดียที่ว่าผู้ใหญ่ทุกคนต้องมีสิทธิ์เลือกตั้งก็เป็นเรื่องปกติมาตรฐานชาติเจริญแล้วในยุคนั้น

อย่างไรก็ดี ไอเดียของผู้ใหญ่ในอดีตก็ต่างจากทุกวันนี้ และเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก็เป็น 21 ปี ซึ่งเกณฑ์นี้ก็อยู่มาจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยไม่มีการถกเถียงอะไรมากมาย เหมือนที่ทุกวันนี้คนทั่วไปในโลกก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่คนอายุ 18 ปีในชาติประชาธิปไตย มีสิทธิ์เลือกตั้ง และถ้าเห็นชาติไหนมีเกณฑ์อายุมากกว่านี้ก็ออกจะแปลกๆ

ชาติแรกที่ลดอายุคนมีสิทธิ์เลือกตั้งจาก 21 ปี มาเป็น 18 ปี คือ เชกโกสโลวาเกีย และไม่นานก็เริ่มมีชาติอื่นทำตาม โดยลดเหลือ 20 ปีบ้าง 18 ปีบ้าง

ชาติที่ทรงพลังสุดที่ลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง คือ สหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐอเมริกาก็แก้รัฐธรรมนูญ (เป็นครั้งที่ 26) ในปี 1971 เพื่อลดอายุผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้เหลือ 18 ปี และเหตุผลของเขาก็เรียบง่ายและทรงพลังมากๆ เพราะในช่วงสงครามเวียดนาม อเมริกาได้เกณฑ์คนอายุ 18 ปี ไปรบมากมาย เลยทำให้คนตั้งคำถามว่าถ้าคนอายุ 18 ปี แก่มากพอจะถูกเกณฑ์ไปรบได้ ทำไมพวกเขาถึงยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งจนถึงอายุ 21 ปี? และการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจึงเกิดขึ้นเพื่อความสอดคล้องที่ว่านี้แหละ

เกณฑ์ 18 ปี ก็เป็นเกณฑ์อยู่มายาวๆ จนถึงปัจจุบัน แต่แนวคิดจะลดลงไปกว่านั้นก็ค่อยๆ ผุดขึ้น โดยชาติกลุ่มแรกที่ลดอายุคือพวกชาติลาตินอเมริกา ที่เริ่มมีไอเดียลดอายุผู้มีสิทธิ์ไปเลือกตั้งลงเหลือ 16 ปี ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ก่อนที่ออสเตรียจะเป็นชาติแรกในสหภาพยุโรปที่ลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงมาเหลือ 16 ปี และชาติเล็กๆ อื่นๆ ก็เริ่มลดตาม โดยก็ต้องเข้าใจก่อนว่าชาติที่ใช้ระบบสหพันธรัฐ ปกติการลดอายุเลือกตั้งจะเกิดในระดับการเลือกตั้งระดับรัฐก่อน แล้วระดับประเทศถึงตามมา และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดในเยอรมนี คือตอนแรกคนอายุ 16 ปี สามารถไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ในบางรัฐก่อน จนล่าสุดปีนี้ก็สามารถเลือกตัวแทนจากเยอรมนีไปนั่งในสภายุโรปได้ในที่สุดซึ่งถามว่าชาติอื่นๆ ทำไมไม่ปรับตาม คำตอบคือการลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลทางการเมืองแน่ๆ และนักการเมืองก็ต่อต้านมาก ทั้งๆ ที่ทั่วโลกก็มีองค์กรที่เกิดมาเพื่อรณรงค์ลดอายุคนมีสิทธิ์ไปเลือกตั้งโดยเฉพาะมากมาย ชาติใหญ่ๆ ส่วนมากมีการพยายามรณรงค์ลดอายุผู้มีสิทธิ์ไปเลือกตั้งกันทั้งนั้น แต่พอนักการเมืองไม่รับลูกต่อ มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น

ทั้งนี้ก็อย่าคิดง่ายๆ ว่าถ้าลดอายุผู้มีสิทธิ์ลงเลือกตั้งแล้ว ‘พรรคก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่’ จะชนะง่ายขึ้น เพราะ ‘ฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัด’ ก็เล็งหาเสียงกับเด็กรุ่นใหม่ไว้เหมือนกัน เช่นในเยอรมนี พรรคที่ป๊อปสุดบนแพลตฟอร์ม TikTok เป็นพรรคขวาจัด และพวกเขาก็จงใจทำการตลาดบนแพลตฟอร์มนี้เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ

ดังนั้นก็จงอย่าคิดง่ายๆ ว่า ‘เวลาอยู่ข้างเรา’ อะไรแบบนี้ เพราะขั้วการเมืองก็สามารถพลิกจากซ้ายจัดไปขวาจัดได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้ามีฝั่งหนึ่งฝั่งใดทำอะไรผิดพลาดออกไป คนรุ่นต่อไปก็พร้อมจะพลิกไปอีกขั้วได้ไม่ยาก

อ้างอิง

  • The Conversation. Germany lowers voting age to 16 for the European elections – but is it playing into the far right’s hands? https://shorturl.at/corDW