2 Min

จริงหรือไม่? กินผักและผลไม้อบกรอบเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน

2 Min
6190 Views
21 Oct 2021

ในช่วงที่ผ่านมา นับว่ามีการพูดถึงกันอย่างมาก สำหรับ ‘ผักและผลไม้อบกรอบ’ ซึ่งหลายๆ คนก็ทนต่อกระแสที่มาแรงในโลกโซเชียลไม่ไหว จนต้องสั่งมาลองกินเป็นขนมขบเคี้ยวเพลินๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่า บางคนอาจจะไม่ชอบกินผัก ผลไม้ แต่พอนำมาแปรรูปแล้วกินได้ รวมถึงมีรสชาติอร่อย และที่สำคัญหลายเจ้าที่ขายนั้นมักจะอ้างถึงความน่าสนใจว่า กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน เพราะไร้น้ำมัน!

แล้วจริงหรือไม่? ที่กินผักและผลไม้อบกรอบเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน

ซึ่งจากข้อมูล นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่า ผักผลไม้รวมอบกรอบ 100 กรัม มีพลังงาน 542 กิโลแคลอรี, มีคาร์โบไฮเดรต 56 กรัม, โปรตีน 1.7 กรัม อีกทั้งมีไขมันถึง 35 กรัม และมีโซเดียม 395 มิลลิกรัม

โดยผักผลไม้อบกรอบที่ขายกันส่วนใหญ่นั้น 1 ซองจะมี 250 กรัม นั่นหมายถึง หากเรากินทีเดียวหมดทั้งซอง เราจะได้พลังงานอยู่ที่ 1355 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับการกินไข่ต้มจำนวนกว่า 18 ฟองเลยทีเดียว ทั้งนี้คาดว่า ผักผลไม้รวมอบกรอบมีไขมัน ที่มาจากกระบวนการอบที่ต้องอาศัยน้ำมันในการทำให้กรอบ แต่ผักผลไม้อบกรอบบางเจ้าอาจใช้กระบวนการอบแห้งแบบเยือกแข็ง (Freeze dried) ที่ไม่ได้ใส่น้ำมันเป็นส่วนประกอบได้เหมือนกัน

ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานผักผลไม้อบกรอบมากเกินไปในแต่ละวัน เนื่องจากอาจได้รับพลังงานมากเกินไปได้ โดยเฉพาะผักและผลไม้ชนิดที่ให้พลังงานสูง อีกทั้งไม่ควรรับประทานผักผลไม้อบกรอบที่มีปริมาณเกลือ น้ำตาล หรือผงปรุงรสมากๆ ให้สังเกตได้จากฉลากโภชนาการข้างบรรจุภัณฑ์

ทั้งนี้แท้จริง ผักผลไม้อบกรอบนั้นก็มีประโยชน์เช่นกัน หากกินในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากผักผลไม้อบกรอบส่วนใหญ่คุณค่าทางโภชนาการยังเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน และแร่ธาตุบางตัว เช่น ธาตุเหล็กแคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ซึ่งที่มีอยู่มากที่สุดคือ ไฟเบอร์ เป็นเส้นใยอาหารเป็นส่วนที่ซึมซับเอาสารพิษที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ออกจากร่างกาย

อย่างไรก็ดีจึงควรมีวิธีเลือกรับประทานผักและผลไม้อบกรอบให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ดังนี้

  1. ควรเลือกซื้อผักและผลไม้อบกรอบที่แปรรูปด้วยการแช่เยือกแข็ง หรือทอดแบบสุญญากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำมันตกค้างจากการทอด
  2. ควรเลือกซื้อผักและผลไม้อบกรอบที่มีฉลากแสดงคุณค่าทางโภชนาการ และผ่านการรับรองจากอย.
  3. เลือกชนิดผักและผลไม้อบกรอบที่ให้พลังงานต่ำ และมีเส้นใยอาหารสูง เช่น ผักใบเขียว บรอกโคลี แคร์รอต หรือกระเจี๊ยบเขียว
  4. ควรรับประทานผักและผลไม้อบกรอบหลากหลายชนิด เน้นผักหลากสี เพื่อให้ได้สารอาหารหลากหลายร่วมกับรับประทานอาหารหลักให้เพียงพอ โดยเฉพาะโปรตีน เช่น โยเกิร์ตไขมันต่ำ นมไขมันต่ำ หรือถั่วต่างๆ

สุดท้ายการกินผักผลไม้อบกรอบ ไม่ว่าจะมีการแปรรูปในรูปแบบไหนก็ตาม ก็ควรอยู่ในปริมาณที่พอดี เหมาะสม ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีไขมันเกินไป และแน่นอนว่าไม่ควรเลือกกินแค่ผักผลไม้อบกรอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะผักผลไม้สดๆ ก็ยังให้คุณค่าทางโภชนาการกับร่างกายเหมือนเดิม

อ้างอิง

  • Facebook. นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์. https://bit.ly/3AfJaSS
  • chulalongkornhospital. ผศ. นพ.นริศร ลักขณานุรักษ์. https://bit.ly/2YswCL9