5 Min

อะไรคือแฟรนไชส์ร้านราเมงที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น? และมันสอนอะไรเรา?

5 Min
1082 Views
20 Nov 2021

‘ราเมง’ คืออาหารมหาชนของคนญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ในญี่ปุ่นไม่มีร้านอาหารชนิดไหนมากไปกว่าร้านราเมง ซึ่งจากการประเมินของทางการญี่ปุ่น ในญี่ปุ่นมีร้านราเมงอยู่ทั่วประเทศอย่างต่ำๆ 30,000 ร้าน

ซึ่งอาหารชนิดนี้ก็เรียกได้ว่าฮิตข้ามประเทศจริงๆ เพราะประเทศอื่นๆ รวมทั้งบ้านเราในช่วงหลังๆ ก็มีร้านราเมงใหม่ๆ มาเปิดเต็มไปหมด

แต่เคยสงสัยกันมั้ยครับว่าร้านราเมงแบรนด์อะไรที่มีเยอะที่สุดในญี่ปุ่น? แล้วมันใหญ่ขนาดมาเปิดสาขาที่บ้านเรากันมั้ย?

จริงๆ คำถามที่ว่าร้านราเมงแฟรนไชส์อะไรที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเป็นคำถามที่ถามง่ายแต่ตอบยาก เพราะเอาแค่ว่าจะนับร้านอะไรเป็นร้านราเมงบ้างก็ไม่ใช่สิ่งที่จะไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะร้านอาหารในญี่ปุ่นจำนวนมากที่เป็นร้านอาหารชนิดอื่นแต่ก็มีราเมงขาย บางคนก็ไม่นับเป็นร้านราเมง เพราะพระเอกของร้านไม่ใช่ราเมง ซึ่งเราก็จะใช้แนวทางนี้นะครับ ดังนั้น เราก็จะไม่รวมร้านอย่าง ‘Gyoza Osho’ ที่เป็นแฟรนไชส์ใหญ่โตมโหฬารในญี่ปุ่นที่เน้นขายอาหารจีนสไตล์ญี่ปุ่นมาด้วย

ถ้าเอาตามนี้ ราเมงแฟรนไชส์อันดับ 1 ของญี่ปุ่นก็น่าจะเป็น ‘Ramen Kourakuen’ อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งเจ้านี้เป็นราเมงจากจังหวัด Fukushima หลักๆ ขายราเมงน้ำใสใส่โชยุสไตล์ภูมิภาคคันโต เรียกได้ว่าเป็นราเมงที่ครองตั้งแต่แถบภาคกลางไปยันตอนเหนือของเกาะฮอนชู มีขายทุกจังหวัด ซึ่งจริงๆ คนไทยก็มีโอกาสได้ลิ้มลองในไทยแล้วนะครับเพราะเขามีสาขามาเปิดที่ Gateway เอกมัย

ส่วนอันดับ 2 คือแฟรนไชส์ราเมงจากจังหวัด Saitama นามว่า ‘Ramen Hidakaya’ เจ้านี้คนไทยอาจไม่คุ้นเท่าไรเพราะยังไม่มีสาขาในไทย แต่ไปเดินโตเกียวนี่ยังไงก็เจอครับ (แค่อาจอ่านป้ายไม่ออก) เรียกได้ว่าเป็นราเมงราคาถูกขวัญใจคนโตเกียวเลย เพราะมันมีแค่ในโตเกียวอย่างเดียวก็เกิน 200 สาขาแล้ว

ทางด้านอันดับ 3 เป็นราเมงจากจังหวัด Nagoya นามว่า ‘Sugakiya’ อันนี้ไม่มีสาขาในเมืองไทยแน่ๆ และคนไทยที่ไม่ได้ไปแถวๆ Nagoya และจังหวัดรอบๆ อาจไม่คุ้นเท่าไร เพราะไม่มีสาขาในโตเกียว แต่จริงๆ ฐานมันอยู่แถบ Nagoya ครับ เรียกได้ว่าเดิน Nagaya ไปทางไหนก็เจอ และจริงๆ นี่ถือเป็นราเมงแฟรนไชส์ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นเลย คือขยายแฟรนไชส์มาตั้งแต่ปี 1969 และแฟรนไชส์นี้เป็นเจ้าแรกๆ ที่เริ่มผลิต ‘ผงน้ำซุปสำเร็จรูป’

นี่แหละครับราเมงที่สาขาเยอะที่สุดในญี่ปุ่น อยากจะให้ตั้งข้อสังเกตว่าในบรรดาร้านทั้งหมดนี้ มีลักษณะร่วมกันคือ สินค้าหลักของมันเป็นราเมงน้ำใสใส่โชยุราคาถูกสุดๆ นะครับ และถึงหลายๆ ร้านจะมีสาขากระจายไปหลายจังหวัด แต่ไม่มีร้านใดเลยที่จะมีสาขากระจายลงมาถึงทางตอนใต้ของญี่ปุ่น (ด้วยสาเหตุอะไร รออีกแป๊บครับ เดี๋ยวเล่าให้ฟัง)

ต่อมา เราไม่อยากจะเรียกเป็นอันดับครับ เพราะถือว่าจำนวนร้านใกล้เคียงกันมากและลำดับอาจเปลี่ยนได้ตลอด ซึ่งก็คือ ‘Rairaitei’ จากจังหวัด Shiga ‘Tenkaiippin’ จากจังหวัด Kyoto และ ‘Kegatsu Ramen Arashi’ จาก Tokyo

สิ่งที่เหมือนกันของราเมงแฟรนไชส์เหล่านี้ก็คือ ราคามันจะอัปขึ้นมาจากพวกแฟรนไชสที่เปิดเยอะๆ ข้างต้นทั้งหมดเลยอีกราวๆ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ คือร้านเหล่านี้มันไม่ใช่ ‘ของถูกสุดๆ’ อีกแล้ว และราเมงเหล่านี้ทั้งหมดจะไม่ใช่ราเมงน้ำใสเหมือนราเมงมหาชนอีกแล้ว แต่จะเป็นราเมงน้ำข้นแบบหลากสไตล์ ตั้งแต่แบบที่มันหมูลอยเต็มน้ำซุปแบบ Rairaitei เป็นซุปไขกระดูกไก่แบบข้นอย่าง Tenkaiippin หรือซุปไขกระดูกหมูข้นคลั่กแบบ Kegatsu Ramen Arashi ซึ่งสไตล์นี้โดยทั่วไปคนไทยจะชอบกันมากกว่าน้ำใส

ถ้าคอราเมงฟังแล้วหิวแบบเซ็งๆ ว่าราเมงเหล่านี้ไม่มีในไทย จริงๆ มันมีนะครับ เพราะร้าน Chabuton ที่เปิดตามห้างใน กทม. ไปทั่วแล้วตอนนี้ ก็คือร้านในสังกัดของ Kegatsu Ramen Arashi นี่แหละครับ

ก็เรียกได้ว่าร้านที่ว่ามาทั้งหมด คือบรรดาร้านราเมงที่มีสาขามากที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งเราก็โชคดีอยู่บ้างครับที่บางร้านมีสาขาเปิดในไทยด้วยทำให้เราไปต้องบินไปกินใกลถึงญี่ปุ่น

อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจสงสัยนะครับ ว่า เอ… อีกหลายๆ ร้านที่เปิดในไทยหลายสาขานี่ เอาจริงๆ มันมีที่ญี่ปุ่นเยอะมั้ย? คนญี่ปุ่นกินกันมั้ย? เดี๋ยวเราจะคลายสงสัยให้ครับ โดยไล่ไปแต่ละร้านแฟรนไชส์ราเมงที่ดังๆ ในเมืองไทย

พูดถึงร้านราเมงที่ดังในไทย แน่นอนว่าคนไทยจำนวนมากต้องนึกถึง ‘Hachiban’ ซึ่งจริงๆ Hachiban ก็สาขาเยอะครับ แต่มันไปกระจุกกันแถวบ้านเกิดมันที่จังหวัด Ishikawa และจังหวัดใกล้เคียง ใครเคยไป Tokyo หรือ Osaka แล้วไม่เคยเจอ Hachiban นี่ไม่แปลกครับ เพราะมันไม่ได้มีสาขาแถวนั้น มันมีแต่สาขาแถบบ้านเกิดมัน

ซึ่งเกร็ดตลกๆ ก็คือ เอาจริงๆ ในเมืองไทยมี Hachiban มากกว่าในญี่ปุ่นอีกนะครับ เพราะในไทยมี 127 สาขา แต่ในญี่ปุ่นมี 122 สาขา

เจ้าต่อมา ‘Ippudo’ ซึ่งเป็นร้านขยายสาขาในไทยมากในหลายปีหลัง เอาจริงๆ Ippudo เป็นราเมงขึ้นชื่อจากทางใต้ของญี่ปุ่น มันมาจากจังหวัด Fukuoka ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นต้นตำรับของราเมงซุปกระดูกหมู และมันเป็นแฟรนไชส์จากทางใต้ที่เรียกได้ว่าโตมากที่สุดแล้ว โดยมีสาขาไปทั่วญี่ปุ่นเลยตั้งแต่เหนือจรดใต้ พูดอีกแบบคือ มันเป็นราเมงที่ถือว่าเข้าถึงรสนิยมของคนญี่ปุ่นแทบทั้งประเทศ ซึ่งก็โชคดีมากครับที่คนเอามาเปิดเมืองไทย

มาถึงตรงนี้ก็อยากจะเฉลยครับว่าทำไมราเมงราคาถูกที่มีสาขา ‘มากที่สุด’ ในญี่ปุ่น 3 เจ้าแรก ถึงไม่สามารถมีสาขากระจายไปทั่วญี่ปุ่น คำตอบคือ ทางเหนือสุดกับทางใต้สุดของญี่ปุ่น โดยทั่วไปเขาไม่กินราเมงน้ำใสกันครับ เพราะเขาว่ามันจืด

ทางใต้สุดที่เกาะคิวชูอันเป็นแหล่งกำเนิดราเมงซุปกระดุกหมู เขาก็จะกินกันแต่น้ำซุปกระดุกหมูข้นๆ เป็นหลัก ส่วนทางเหนือที่ฮอกไกโดเขาก็จะชอบน้ำข้นเพราะใส่เต้าเจี้ยวญี่ปุ่นแบบมิโสะราเมง พูดอีกแบบคือพวกราเมงน้ำใสนี่มันขายได้ดี ๆ เฉพาะแถบกลางๆ ญี่ปุ่นเท่านั้น คนแถบอื่นไม่ชอบกิน

อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นราเมงน้ำข้นที่รสจัดกว่า รสมันกลับเป็นรสที่คนภาคกลางญี่ปุ่นกินได้ด้วย ดังนั้น พวกราเมงจากทางใต้มันก็เลยจะมีโอกาสขายได้ทั่วญี่ปุ่นมากกว่าราเมงจากตอนกลาง

ซึ่งราเมงแฟรนไชส์จากทางใต้เจ้าดังๆ อีกสองเจ้าก็ได้แก่ Ajisen จากจังหวัด Kumamoto ที่คนไทยก็น่าจะพอรู้จักเพราะขยายสาขามาบ้านเรานานแล้ว และ Ichiran ที่ไม่มีสาขาในบ้านเรา แต่ถือเป็นร้านที่คนไทยที่ไปญี่ปุ่นฮิตไปกินกันสุดๆ และได้ฉายาจากคนไทยว่า ‘ราเมงข้อสอบ’ (เนื่องจากการสั่งอาหารต้องติ๊กกระดาษเหมือนทำข้อสอบ)

พวกที่ว่านี้เป็นราเมงจากเกาะคิวชูทางตอนใต้ของญี่ปุ่นทั้งหมด และที่เหมือนกันหมดคือมันไม่ใช่ร้านราเมงแบบ ‘ราคาถูกสุดๆ’ ในญี่ปุ่น แต่มันเป็นราเมงที่ราคาอัปขึ้นมา ซึ่งเหตุผลก็คือการทำซุปกระดุกหมูเข้มข้นมีกระบวนการทำและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงกว่าราเมงน้ำใส เลยทำให้ระดับพื้นฐานราคามันเลยต้องแพงกว่า และแม้ว่าร้านพวกนี้จะไม่ได้มีสาขาเยอะแบบติด Top 10 ถ้านับจากปริมาณ แต่โดยรวมร้านมันมีไปทั่วญี่ปุ่น หมดเท่านั้นไม่พอ ร้านราเมงซุปกระดูกหมูพวกนี้แหละที่มีแนวโน้มจะขยายสาขาไปต่างประเทศได้ดีกว่าพวกราเมงราคาถูกที่ขายดีกันในแถบภาคกลางของญี่ปุ่น

ซึ่งจริงๆ ก็อาจไม่ต้องไปดูไกลเท่าไรหรอกครับ เอาแค่เมืองไทยนี่แหละ ถ้าคนกินราเมงก็คงจะเห็นไม่ยากว่าคนไทยที่เป็นคอราเมงจะชอบกินราเมงซุปกระดูกหมูข้นๆ มากกว่าพวกราเมงโชยุน้ำใส ซึ่งนี่ทำให้ร้านราเมงในไทยจะเป็นสูตรแบบซุปกระดูกหมูเกือบหมด ไม่ว่าร้านนั้นจะเป็นสาขาจากญี่ปุ่น หรือร้านของคนไทยเอง

ซึ่งถามว่าราเมงซุปกระดูกหมูน้ำข้นอร่อยกว่าน้ำใสหรือ? ก็คงไม่ใช่ (เพราะอย่างน้อยๆ ร้านราเมงที่ได้ดาวมิชลินร้านแรกของโตเกียวนี่เป็นร้านราเมงน้ำใสนะครับ) แต่คงเป็นเรื่องของรสนิยมของคนส่วนใหญ่ที่ชอบน้ำซุปรสเข้มข้นมากกว่าน้ำซุปน้ำใสจืดๆ ซึ่งเอาจริงๆ ความละเอียดอ่อนของรสชาติทำให้ราเมงน้ำใสมัน ‘กินให้อร่อยได้ยาก’ กว่าโดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบกินรสจัดมาเป็นทุน ดังนั้น มันจึงไม่แปลกนักที่ ‘ราเมงรสจัด’ แบบทางตอนใต้ของญี่ปุ่นจะไปได้ดีทั้งนอกภูมิภาคตัวเองในญี่ปุ่นและนอกญี่ปุ่น ดีกว่าราเมงของทางภาคกลางที่รสจืดๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่ว่ามาทั้งหมด ก็จะเห็นว่าเอาแค่ร้านราเมงฮิตๆ ในญี่ปุ่นนี่ ในเมืองไทยก็ยังมีให้กินไม่หมดนะครับ คอราเมงที่มีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่นก็อาจจะลองมาร์คไว้ได้เลยเผื่อไปไล่กิน ส่วนใครอยากลองลงทุนเอาราเมงยอดฮิตในญี่ปุ่นเจ้าที่ยังไม่มีในไทยมาเปิดสาขาในไทย ก็ลองดูตามเว็บของแบรนด์เหล่านี้ได้เลยครับ เขาจะมีบอกอยู่

อ้างอิง