2 Min

‘โง่ จน เจ็บ’ วาทกรรมสร้างความชอบธรรมให้รัฐกุม ‘อีสาน’ ไว้ในกำมือ

2 Min
2538 Views
20 Mar 2021

“โง่ จน เจ็บ”

คำหยามเหยียดนี้มีมาตั้งแต่สมัยยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนกลายเป็นวาทกรรมที่กดทับสันหลังของชาวอีสานในปีพ.ศ 2504 ภายใต้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จของ ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ หลังสิ่งที่เรียกว่า ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1’ ถือกำเนิดขึ้น

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ | wikipedia

เหตุเกิดในปี 2504

กรกฎาคม พ.ศ.2500 แขกจากดินแดนโลกใหม่มาเยือนแผ่นดินไทย คณะผู้แทนธนาคารโลกจากสหรัฐอเมริกา เดินทางมาสำรวจภาวะเศรษฐกิจไทย รวมถึงเสนอผลวิจัย และข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้ประเทศเล็กๆ ได้มีโอกาสยืดอกผึ่งผายรับ ‘ความเจริญ’ ดั่งคนสมัยใหม่

หลังจากแขกกลับไป ก็ถึงทีของจอมพลสฤษดิ์ ในการเปลี่ยนทิศทางพัฒนาประเทศตามเงื่อนไขที่ธนาคารโลกเสนอไว้

แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) รับแนวคิดด้านการเจริญเติบโต (Growth Concept) มาใช้ ซึ่งเชื่อว่า ถ้าประเทศไทยสามารถเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็จะสามารถเดินทางไปสู่ ‘ความทันสมัย (Modernization)’ แล้วผลประโยชน์จะกระจายไปสู่คนและสังคมทั้งมวล

ชุมชน จึงกลายเป็นอาณาเขตที่จะต้องได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น

ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกๆ มองว่า ชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทนั้น โง่เขลา ยากจน ไร้วัฒนธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ด้อยโอกาส รายได้ต่ำ ไร้การศึกษา ฯลฯ ชุมชนจึงไม่มีศักยภาพ หรือพลังในตัวเอง ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นจากภายใน และต้องอาศัย ‘รัฐ’ ไปช่วยโอบอุ้มและผลักดันการเปลี่ยนแปลง

ภาพของชุมชนเป็นภาพของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในเขตห่างไกลความเจริญที่ “หยุดนิ่ง” และ “ล้าหลัง” เพราะตกอยู่ในวัฏจักรแห่งความด้อยพัฒนา (Underdevelopment Cycle) “โง่ จน เจ็บ”

จึงเป็นความชอบธรรมของรัฐ ในการที่จะเข้าไปควบคุมพื้นที่เพื่อจัดการให้มีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย

อีสานเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ตกอยู่ในกำมือจอมพลสฤษดิ์ โดยมีเบื้องหน้าเป็นรอยยิ้มและคำพูดว่าต้องการพัฒนาไปด้วยกัน ส่วนเบื้องหลังนั้นคือห่วงโซ่อันฝืดเคืองและการพัฒนาที่ไม่เป็นผล

รูปปั้นนูนต่ำชีวประวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์

รูปปั้นนูนต่ำชีวประวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ณ อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ที่จังหวัดขอนแก่น | wikipedia

“ห่วงโซ่อันฝืดเคืองและการพัฒนาที่ไม่เป็นผล”

​​ชุมชนและชาวบ้าน กลายเป็น ‘ตัวปัญหา’ เมื่อทางการวิเคราะห์ว่าปัญหาของการพัฒนาอยู่ที่ระดับปัจเจกบุคคล การพัฒนาจึงเน้นบทบาทของผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก และวิธีการดำเนินงานพัฒนาที่รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลาง (Top down)

นักพัฒนาของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ แต่กลับละเลยศักยภาพ ความสามารถ และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทำให้การพัฒนาไม่ตอบสนองและสอดคล้องความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้เลย

​บ่อยครั้ง การพยายามพัฒนากลับยิ่งทำให้ชุมชนอ่อนแอ และการพัฒนาของรัฐกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมกันในชุมชน

ภาพของชาวบ้านที่ต้องจากจรแผ่นดินแม่ แล้วมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อให้ชีวิตมีกิน กลายเป็นฉากที่ถูกตั้งค่าเอาไว้ว่าต้องเกิดขึ้น และเป็นฉากใหญ่ในชีวิต ที่ต้องเล่นไปอีกนาน โดยมีพวกเขา…เหล่าคนอีสาน เป็นตัวละครสำคัญ

อ้างอิง:

  • วารสารปาริชาต ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 ตุลาคม 2545 – มีนาคม 2546. ชุมชนในวาทกรรมการพัฒนา. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์