อีกหนึ่งรสชาติสยองขวัญในหนังฮีโร่ฉบับ ‘แซม ไรมี’ Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2022)

2 Min
1065 Views
11 May 2022

เมื่อได้หย่อนก้นลงบนเบาะโรงหนังโดยตั้งมั่นว่าจะลิ้มชิมเมนูใหม่ของมาร์เวลที่เพิ่งเข้าฉายอย่าง ‘จอมเวทย์มหากาฬ ในมัลติเวิร์สมหาภัย – Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ หลายคนย่อมมีความคาดหวังที่ต่างกัน แต่เพราะขึ้นชื่อผู้กำกับ ‘แซม ไรมี’ (Sam Raimi) เป็นหัวหน้าเชฟในการปรุงรสให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ คงมีคนจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่คาดหวังว่าจะได้อร่อยกับรสชาติคุ้นลิ้นแบบไตรภาคของ ‘ไอ้แมงมุม’ นำแสดงโดย โทบีย์ แมไกวร์ (Tobey Maguire) ซึ่งเป็นผลงานสร้างแบรนด์ของผู้กำกับคนนี้ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

แต่รสชาติที่แปร่งออกมาในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่เรื่องนี้ กลับเป็นรสชาติที่แทบไม่เคยปรากฏในหนัง ‘มาร์เวล’ ภายใต้การคุมของดิสนีย์เรื่องไหนมาก่อน นั่นคือรสชาติของ ‘หนังสยองขวัญ’ ที่ซ่อนกลิ่นคาวเลือดอยู่ในเรต PG-13 ไปตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมง

ถ้าคุณรู้จักไรมีดีพอสมควร รสชาติสยองที่แทรกเข้ามาในหนังเรื่องนี้ก็อาจไม่น่าแปลกใจนัก เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงแรกเริ่มของอาชีพ ไรมีคือนักปรุงความสยองเลือดสาดไฟแรงที่สร้างตำนานในวงการภาพยนตร์ทั้งที่อายุยังน้อย ด้วยการกำกับ ‘ผีอมตะ’  (The Evil Dead) ในปี 1981 ตามด้วยภาคต่อ ‘ไปเกิดซะเถิดไป๊’ (Evil Dead II) ในปี 1987 กระทั่งเจ้าพ่อนิยายสยองขวัญ สตีเฟน คิง ยังกล่าวว่า ผีอมตะคือ “หนังสยองโคตรโหดที่มีเอกลักษณ์ที่สุดแห่งปี”

ในภาคนี้เรื่องราวของด็อกเตอร์สตีเฟ่น สเตรนจ์ อดีตศัลยแพทย์ที่กลายมาเป็นจอมเวทย์ เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อเขาพบกับเด็กสาวนามว่า อเมริกา ซึ่งตกเป็นเป้าหมายเอาชีวิตของ วานด้า แม็กซิมอฟ แม่มดผู้ต้องการแย่งชิงพลังเดินทางข้ามพหุจักรวาลของอเมริกา เพราะใจหวังว่าจะได้มีโอกาสเป็นแม่อีกครั้ง ด็อกเตอร์สเตรนจ์จึงเข้ามารับบทปกป้องชีวิตอเมริกาและชะตาของพหุจักรวาลไม่ให้สูญสิ้น

ในกรอบของความเป็นหนังแอ็กชัน-ไซไฟ-ผจญภัย กลิ่นหนึ่งที่ลอยเด่นออกมาคือกลิ่นหนังสยองขวัญไล่ล่า กระทั่งวานด้าซึ่งเคยเป็นฮีโร่มาก่อนก็ถูกสวมหัวโขนให้เป็น ‘ปีศาจ’ แบบฉบับไรมี ความงามถูกเปลี่ยนเป็นความสยอง เราเห็นเธอในสภาพสกปรกโชกเลือดไล่บี้ชีวิตอย่างเหี้ยมโหด โดยที่บางครั้งเราอาจได้วาบนึกว่าเธอคนนี้เคยเป็นคนดีแค่ไหน เธอจึงคล้ายเป็นร่างผสมของตัวละครเก่าๆ ของไรมี ทั้งเป็น ‘ผีโหด’ จากหนังเรื่องผีอมตะ ผสมกับเป็นผู้ร้ายเพราะโลกรังแกก่อนจะกลับใจแบบ ‘ด็อกอ็อค’ จากหนังเรื่องไอ้แมงมุม 2 

เมื่อพูดถึงหนังค่ายมาร์เวล มีหลายคนไม่น้อยทีเดียวที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าค่ายหนังทำเงินนี้ใช้ผู้กำกับเหมือน ‘มือปืนรับจ้าง’ เพราะสไตล์การทำหนังของผู้กำกับแต่ละคนมักถูกฟาดให้บี้แบนด้วยตำราทำหนังของมาร์เวล แต่ในหมอแปลกภาคนี้ จินตนาการคลั่งแบบ ‘แซม ไรมี่’ มีชีวิตชีวาฉายชัด เราเห็นฉากไล่ล่ามุมมองบุคคลที่หนึ่ง มุมกล้องสร้างสรรค์ พร้อมความสยองที่ทวีขึ้นในแต่ละครั้งคราที่วานด้าโผล่มา การตายเหวอๆ ของกลุ่มอิลลูมินาติ ทั้งยังเปลี่ยนฮีโร่ให้เป็น ‘ซอมบี้’ เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าไรมีสนุกกับการใช้จินตนาการและความชอบในแบบของเขาตลอดกระบวนการปรุงแต่งหนังเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี บทที่สองของหมอแปลกยังคงดำเนินไปด้วยกฎเกณฑ์อย่างมาร์เวล แม้จินตนาการทางด้านภาพจะฉูดฉาดชวนให้เพลิดเพลิน แต่โครงสร้างการดำเนินเรื่องก็ไม่ได้แหวกแนวหลุดออกจากกรอบความเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ต้องขายความบันเทิงของการผจญภัยย่อยง่าย แทรกด้วยมุกตลกขบขัน กับเซอไพรส์ของขวัญให้แฟนบอย ทิ้งท้ายด้วยการหย่อนความสงสัยให้คนตามดูต่อไปในหลังเครดิตจบ

ท้ายที่สุด Doctor Strange in The Multiverse of Madness ก็คือหนังป๊อปคอร์นที่รากเหง้าในการเป็นผู้กำกับสายสยองขวัญ-ตลกของไรมีซอกซอนเข้าไปในความเป็นมาร์เวลได้อย่างน่าสนใจ มากกว่านั้น ความสยองที่หยิบยืมมาจากผลงานเก่าๆ ในยุค 80 ของไรมียังกลายเป็นรสชาติติดลิ้นหลังเดินออกมาจากโรง รสชาติอันช่วยปรุงบทภาพยนตร์ให้อร่อยเด่นขึ้นมาบ้าง แม้จะยังไม่หลุดจากกรอบความเป็น ‘อาหารสูตรสำเร็จ’ ยี่ห้อมาร์เวลก็ตามที

ใครคิดถึงฝีมือผู้กำกับไตรภาคสไปเดอร์สุดคลาสสิกคนนี้ ตามไปดู Doctor Strange in The Multiverse of Madness กันได้แล้ววันนี้ในทุกโรงภาพยนตร์ 

 

เรื่อง: Jira