ร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่มีรายละเอียดเต็มไปหมด และหลายๆ รายละเอียดบางทีเราก็เรียกได้ว่ามองเห็นอยู่ทุกวัน แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันใช้ทำอะไร หรือกระทั่งไม่สงสัยด้วยซ้ำ
ใครส่องกระจกบ่อยๆ ก็คงจะสังเกตว่าเรามีรูเล็กๆ ที่ใกล้ๆ หัวตาด้านล่างทั้งสองข้าง เคยรู้ไหมครับ ว่ารูที่ว่านี่คือรูอะไร? เอาไว้ทำไม?
บางคนอาจจะเคยได้ยินว่ารูนี่คือ “ต่อมน้ำตา” ที่น้ำตาเราออกมา
แต่ความจริง มันไม่ใช่ต่อมน้ำตาครับ และตรงกันข้ามเลย หน้าที่ของมันไม่ใช่การปล่อยน้ำตาออกมา แต่เป็นการดูดน้ำตาเข้าไปต่างหาก เนื่องจากรูนี่เป็นอวัยวะเล็กๆ ที่คนไม่ได้รู้สึกว่ามันมีประโยชน์อะไร ในแทบทุกภาษาที่ใช้กันบนโลก มันเลยไม่มีคำเรียกไอ้รูนี้ แต่ยังดีที่ในทางวิทยาศาสตร์ยังมีชื่อ โดย “อวัยวะ” นี้มีชื่อว่า lacrimal punctum

lacrimal punctum | wikimedia.org
หน้าที่ของ lacrimal punctum ก็อย่างที่บอกครับ มันเอาไว้ดูดน้ำตา ซึ่งหลักๆ คือ ปกติตาเราจะผลิตน้ำตาออกมาเรื่อยๆ อยู่แล้วไม่ให้ตาเราแห้ง แต่น้ำตาที่ผลิตออกมา มันก็ไม่ได้จำเป็นต้องรอการระเหยไปทั้งหมด บางส่วนก็ถูกระบายออกทาง lacrimal punctum นี่แหละครับ
ที่นี้คำถามต่อมาก็คือ แล้ว lacrimal punctum นั้นดูดน้ำตาเราไปไหน? คำตอบคือ เข้าไปในโพรงจมูกครับ และนี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมเวลาเราร้องไห้ มันถึงมีน้ำไหลออกมาจากทางจมูกด้วย ซึ่งถ้าคนสังเกต รสมันก็จะเค็มๆ เหมือนน้ำตา เพราะนั่นคือน้ำตานี่แหละครับ ที่ถูก lacrimal punctum ดูดเข้าไปในโพรงจมูก แต่เวลาเราร้องไห้ น้ำตาเราเข้าไปเยอะมาก มันก็เลยไหลออกมาทางจมูกตอนเราร้องไห้นี่แหละ

lacrimal punctum | entokey.com
ทั้งนี้ เอาจริงๆ ถามว่า lacrimal punctum นั้นมีหน้าที่ดูดน้ำเข้าได้อย่างเดียวหรือ? คำตอบคือถ้าตามที่มันออกแบบมาก็ใช่ แต่ในทางปฏิบัติมันสามารถจะพ่นน้ำออกได้ด้วย ซึ่งที่เขาใช้เล่นกันก็คือ “มายากล” ที่คนกินนมเข้าทางจมูก อุดจมูก แล้วนมออกมาทางตา
หลายคนอาจเคยเห็น “กล” แบบนี้ แล้วสงสัยว่าเขาทำได้ยังไง? มีอุปกรณ์พิเศษอะไรมั้ย คำตอบคือ ไม่ต้องใช้อะไรเลย แค่ใช้กลไกของ lacrimal punctum นี่แหละครับ ซึ่งที่โหดคือ ถ้าคนฝึกดีๆ มันจะทำได้กระทั่ง “ฉีด” นมออกจากตาได้ด้วยซ้ำ และทาง Guinness World Records ก็มีบันทึกไว้ว่าคนที่ฉีดนมออกจากตาได้ไกลที่สุดในโลกเป็นคนตุรกี โดยฉีดได้ระยะเกือบ 3 เมตรเลยทีเดียว

Guinness World Records | kafkadesk.org
ก็นี่แหละครับ หน้าที่ของ “รูที่หัวตา” ที่คุณอาจจะเคยเห็นมาตลอดชีวิต แต่อาจเพิ่งรู้หน้าที่ของมันวันนี้นี่แหละ
อ้างอิง
- IFLScience!: https://bit.ly/2Zr7H8q
- Guinness World Records: https://bit.ly/3iYwrg5