8 Min

เลือกตั้งฟิลิปปินส์แลนด์สไลด์ไปทางขวา ทำไม ‘ลูกชายเผด็จการ’ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ทั้งที่ตระกูลนี้เคยถูกประชาชนลุกฮือขับไล่

8 Min
711 Views
30 May 2022

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2022 เป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นการลงคะแนนเลือกโดยตรงจากประชาชน 6 ปีครั้ง และกติกาทางการเมืองของฟิลิปปินส์นั้นห้ามผู้เคยเป็นประธานาธิบดีมาแล้วลงสมัครชิงตำแหน่งซ้ำ ซึ่งกฎนี้ก็เกิดจากการเมืองฟิลิปปินส์ในอดีตเคยตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการยาวนานถึง 20 ปี ในสมัยของประธานาธิบดีนาม เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ช่วงปี 1965-1986 ก่อนที่มาร์กอสจะถูกประชาชนขับไล่ 

หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเป็นประธานาธิบดีซ้ำอีกสมัยแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็นคนที่ประชาชนนิยมแค่ไหนก็ตาม

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้ามองเผินๆ มันจึงย้อนแย้งมาก เพราะในปี 2022 ชาวฟิลิปปินส์กลับเลือกลูกชายของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ที่คนรู้จักกันในนาม บงบง มาร์กอส (เป็นชื่อเล่น ชื่อจริงเขาคือ เฟอร์ดินานด์ โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์) มาเป็นประธานาธิบดี และเลือกอย่างล้นหลามด้วยระดับที่ว่า ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนได้คะแนนเสียงเยอะขนาดนี้หลังจากยุคของเผด็จการมาร์กอสผู้พ่อ

บงบง มาร์กอส ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนใหม่ด้วยคะแนนเสียงที่เยอะยิ่งกว่า โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีสุดเถื่อนคนปัจจุบันที่กำลังจะพ้นวาระ

มันเกิดอะไรขึ้น? อันนี้ต้องอธิบายยาวหน่อย

ทำไมฟิลิปปินส์ถึงไม่มีปัญหากับผู้นำแบบอำนาจนิยม?

ก็ดังที่ทราบกันว่าการขึ้นสู่อำนาจของ โรดริโก ดูแตร์เต ในปี 2016 แทบจะเป็นการเปิดศักราชของผู้นำสไตล์ขวาจัดทั่วโลกเลย เพราะประธานาธิบดีสุดโหดผู้ไม่เคยแพ้เลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิตผู้นี้มีท่าทีที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำแห่งสหรัฐอเมริกา ดูกลายเป็นคนเรียบร้อยไปเลย 

ดูแตร์เตมีกองกำลังศาลเตี้ยของตัวเอง ทั้งยังชอบเล่าวีรกรรมการฆ่าคนเพื่อผดุงความยุติธรรมของตัวเอง รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนกำจัดพ่อค้ายาเสพติดและคนติดยาด้วยการเสนอแจกปืนฟรีให้ประชาชนต่อสู้อาชญากรรม ทั้งยังด่าผู้นำระดับประเทศคนอื่นๆ ว่าไอ้ลูกกะหรี่

นอกจากนี้ดูแตร์เตยังถูกนักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ว่าใช้วิธีกล่าวหา ใส่ความ จำคุก และตัดงบประมาณศัตรูทางการเมืองตามมาตรฐานผู้นำสไตล์ขวาจัด

แต่ทั้งที่ดูโหดแบบชาวโลกส่ายหน้าแบบนี้ ชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นฐานเสียงของดูแตร์เตก็ยังชอบยังรัก ดังนั้นบอกเลยว่าถ้าฟิลิปปินส์จะหันขวา ก็หันขวามาได้ 6 ปีแล้ว และที่คนฟิลิปปินส์รัก ก็เพราะในสมัยดูแตร์เตมีนโยบายเด็ดขาดระดับฆ่าพ่อค้ายาแล้วโยนทิ้งทะเล มันทำให้ปัญหายาเสพติด รวมถึงคอร์รัปชันระดับท้องถิ่นในประเทศลดลงจริงๆ หรือพูดอีกแบบ คนฟิลิปปินส์จำนวนมากรู้สึกว่ารัฐบาลที่โหดขนาดนี้ทำให้บ้านเมืองสงบแบบจับต้องได้จริงๆ

แต่ทำไมคนฟิลิปปินส์เป็นแบบนี้? ต้องเข้าใจก่อนว่า แม้จะขับไล่เผด็จการไปได้ตั้งแต่ปี 1986 แต่การเมืองฟิลิปปินส์นั้นไม่ไปไหนคือทุกอย่างวนไปวนมา เป็นการเมืองน้ำเน่าประเทศไม่พัฒนามาเป็นยี่สิบสามสิบปี คนฟิลิปปินส์ต้องการการเปลี่ยนแปลงและตอนนั้นดูแตร์เตคือคนนอกที่ไม่เคยลงการเมืองระดับประเทศ แต่สร้างผลงานสุดโหดในระดับท้องถิ่น ประชาชนก็เลยเชื่อใจให้เขามาปราบยาเสพติดและคอร์รัปชันระดับประเทศ และก็ว่ากันตรงๆ คือเขาก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนผิดหวัง 

และนอกจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดอันลือลั่นนี้เขายังมีนโยบายสไตล์ประชานิยมอีกเพียบ ตั้งแต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชน และการเยียวยาโควิด ซึ่งจริงๆ ผลโพลนั้นชี้ว่านโยบายพวกนี้ประชาชนชอบเสียยิ่งกว่าการปราบปรามยาเสพติดอีก

ระบบการเมืองฟิลิปปินส์ที่ไม่มีที่ยืนให้เผด็จการ

ถามว่าทำไมคนฟิลิปปินส์ไม่กลัวประธานาธิบดีที่ขวาขนาดนี้? คำตอบคือ ถึงประเทศฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจการเมืองไม่ดี แต่สถาบันการเมืองก็ยังดีอยู่ ที่ผ่านมาคนฟิลิปปินส์เคยถอดถอนอดีตประธานาธิบดีอย่าง โจเซฟ เอสตราดา มาแล้ว และถึงแม้สภาจะโดนถอดถอนไม่สำเร็จ แต่ก็อาจเช็กบิลคดีทุจริตย้อนหลังได้อย่างอดีตประธานาธิบดี กลอเรีย อาร์โรโย

ดังนั้น สถาบันการเมืองมันก็ยังการันตีว่าถ้าประธานาธิบดีออกนอกลู่นอกทาง เขาจะโดนสภาถอดถอนได้ และถึงรอดจากการถอดถอนก็อาจไม่รอดศาลหลังพ้นตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนอะไรพวกนี้อาจไม่ได้ดีเท่าเกาหลีใต้ แต่น่าจะดีกว่าไทยแน่ๆ 

ตรงนี้อาจต้องย้อนพูดถึงระบบสภาของฟิลิปปินส์หน่อย ที่บอกตรงๆ คือประหลาดพอควร ฟิลิปปินส์ใช้ระบบ 2 สภา คือมีทั้งสภาล่างและสภาสูง (บ้านเราจะเรียกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) อันนี้ไม่แปลก แต่ที่แปลกคือ เขามีการกำหนดว่าสมาชิกสภาจะเป็นได้อย่างจำกัด คือถ้าเป็น ส.. จะเป็นได้ 3 สมัย สมัยละ 3 ปี และ ส.. จะเป็นได้ 2 สมัย สมัยละ 6 ปี หลังจากนั้นต้องพักหรือพูดง่ายๆ จะไม่มีใครเป็น ส.. ได้เกิน 9 ปี และเป็น ส.. ได้เกิน 12 ปีติดกัน

ไอเดียแบบนี้เกิดจากการพยายามป้องกันไม่ให้เกิดรัฐบาลเผด็จการที่คุมทุกสภาได้ และเรียกว่าระบบนี้โหดมาก เพราะประเทศอื่นๆ ที่จำกัดระยะเวลาการเป็นประธานาธิบดี ทั่วๆ ไปก็ไม่ได้จำกัดระยะเวลาการเป็น ส.. และ ส..

ผลของระบบนี้ทำให้สถาบันพรรคการเมืองของฟิลิปปินส์ไม่แข็งแรง และมันทำให้มีพรรคการเมืองหน้าใหม่โผล่มาตลอด ไม่มีใครครองอำนาจได้นานๆ และนี่ก็คือจุดประสงค์ของรัฐธรรมนูญที่ร่างมาแบบกลัวเผด็จการคีย์เวิร์ดคือต้องทำให้ไม่มีใครครองอำนาจได้นาน

ดังนั้นในการเลือกตั้งทุกครั้ง จึงมีพรรคการเมืองเกิดใหม่เรื่อยๆ และประธานาธิบดีก็มาจากแทบไม่ซ้ำพรรค และพรรคการเมืองพรรคใหม่พรรคหนึ่งที่เกิดในปี 2018 สมัยประธานาธิบดีดูแตร์เตก็คือ Partido Federal ng Pilipinas ซึ่งไอเดียพรรคนี้ก็คือจะสืบทอดอุดมการณ์แบบดูแตร์เตต่อไป เพราะตัวดูแตร์เตเองไม่สามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกสมัย เพราะรัฐธรรมนูญห้ามเอาไว้ดังที่ว่ามาแล้ว

ทีนี้พรรคก็เลยต้องหาใครสักคนที่ทรงพลังพอจะมาสืบทอดดูแตร์เตได้ ซึ่งก็บอกตรงๆ ว่ามันไม่ได้ง่ายๆ เลยที่จะหาคนแบบนี้ แต่สุดท้ายหวยก็ไปออกที่ บงบง มาร์กอส ลูกของอดีตประธานาธิบดีมาร์กอส ผู้มีตำแหน่งวุฒิสมาชิกอยู่แล้ว 

จากลูกชายเผด็จการสู่ประธานาธิบดี

ตรงนี้ก็อยากจะย้อนให้ดูก่อนว่าจริงๆ คนฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้รังเกียจลูกชายเผด็จการผู้นี้ขนาดนั้น ซึ่งถ้าใครอยากรู้ละเอียดลองไปหาภาพยนตร์สารคดี The Kingmaker ในปี 2019 ดูได้ แต่ตรงนี้เราจะเล่าย่อๆ

ช่วงที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ครองฟิลิปปินส์ คนฟิลิปปินส์ไม่ได้เกลียดเขาไปหมด มันมีทั้งคนที่รักและเกลียด เช่นเดียวกับเผด็จการส่วนใหญ่ในโลก ซึ่งคนที่รักมาร์กอสทางฟิลิปปินส์จะเรียกง่ายๆ ก็คนที่อยู่ทางตอนเหนือๆ ของประเทศ จึงมีการเรียกคนพวกนี้ว่าคนเหนือ

ซึ่งตรงโซนนี้แหละที่ บงบง มาร์กอส เริ่มกลับมาลงสมัครเล่นการเมือง และเขาได้เป็น ส.. ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แล้ว เรียกได้ว่าหลังจาก เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้เป็นพ่อ เสียชีวิตที่ต่างประเทศ ทางการฟิลิปปินส์ยุคนั้นก็อนุญาตให้ครอบครัวมาร์กอสที่ลี้ภัยกลับประเทศได้หลังจากโดนประชาชนขับไล่ในปี 1986 ซึ่ง บงบง มาร์กอส เป็นคนแรกๆ ที่กลับมา และก็กลับมาเล่นการเมืองเลย

และก็นั่นแหละ จากเป็น ส.. ก็ได้เป็น ส.. และได้เป็นประธานาธิบดีแบบแลนด์สไลด์ในที่สุด

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการหาเสียงของเขา

การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่

วิธีการหาเสียงของ บงบง มาร์กอส แทบจะเป็นการรื้อประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์และสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะวาดภาพยุคเผด็จการของมาร์กอสผู้พ่อให้เป็นยุคของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ พูดไปถึงความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการประกาศกฎอัยการศึก และละเลยไม่พูดถึงการปกครองแบบเผด็จการและปราบปรามผู้เห็นต่าง รวมถึงการโกงประเทศระดับที่เคยได้ลงกินเนสบุ๊คของพ่อเขา

ถ้าถามว่าคำอวดอ้างของ บงบง มาร์กอส จริงหรือไม่? มันมีส่วนจริงอยู่ เพราะช่วงแรกๆ ของรัฐบาลมาร์กอสผู้พ่อนั้น เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ก็เจริญจริงๆ แต่ช่วงหลังๆ เศรษฐกิจก็พังเละ และอีกด้านการปราบปรามศัตรูทางการเมืองก็โหดมาก ไม่งั้นประชาชนก็คงจะไม่ถึงกับทนไม่ไหวและออกมาไล่หรอก

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างอยู่ตรงนี้ คือ มาร์กอสก็เป็นเหมือนผู้นำเผด็จการในอีกหลายประเทศ ที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุน เพราะอเมริกาไม่ต้องการให้ประเทศจำนวนมากกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ก็เลยหนุนรัฐบาลเผด็จการ และอเมริกาให้เงินทหารในหลายๆ ประเทศรัฐประหารด้วยซ้ำ 

กรณีฟิลิปปินส์นี่เรียกได้ว่าเป็นไม่กี่เคสที่สนับสนุนรัฐบาลพลเรือนให้เป็นเผด็จการ (เพราะถ้าพรรคสังคมนิยมชนะเลือกตั้ง อเมริกาจะให้ทหารทำรัฐประหาร และตั้งรัฐบาลทหารแทน) และทั้งหมด อเมริกาก็ต้องการแค่ให้รัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมพวกนี้ปราบคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น แต่ก็ไม่มีผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมที่ไหนในโลกที่จะปราบเพียงแค่คอมมิวนิสต์ และฟิลิปปินส์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

ความน่าสนใจก็คือ จริงๆ ตระกูลมาร์กอสไม่ได้หนีตายออกนอกประเทศ แต่อเมริกาแนะนำให้พวกเขาออกนอกประเทศตอนประชาชนขับไล่ เพราะอเมริกากลัวฟิลิปปินส์จะเกิดสงครามกลางเมืองดังนั้นถ้าจะเล่าในอีกแง่ ก็จะเล่าได้อีกมุมว่าตอนนั้นตระกูลมาร์กอสยอมเสียสละถอยเพื่อความสงบสุขของประเทศก็เป็นได้

และต้องเข้าใจด้วยว่ามันมีแนวโน้มจะเกิดสงครามกลางเมืองในสเกลที่อเมริกากลัวได้จริง เพราะถึงประชาชนที่ขับไล่จะมีมาก แต่ฝ่ายสนับสนุนตระกูลมาร์กอสก็ไม่น้อยเช่นกัน (ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคนมากกว่า สงครามจบเร็วแน่ แต่ถ้าพอๆ กันสงครามยืดเยื้อเป็นสิบปีก็ไม่แปลก) ดังนั้น ฝ่ายตระกูลมาร์กอสรู้อยู่แก่ใจว่ามีคนฟิลิปปินส์บางกลุ่มรักพวกเขา และพร้อมจะเป็นฐานเสียงเมื่อเขากลับมาเมื่อถึงเวลา

และบงบงก็ใช้จุดแข็งตรงนั้น กลับมาอย่างเงียบๆ และลงเล่นการเมืองในโซนที่รักตระกูลเขา เป็นนักการเมืองชิลล์ๆ ไป ดูการเมืองฟิลิปปินส์ไม่ไปไหนเป็นเวลา 30 ปี จนคนเริ่มเบื่อแนวทางใหม่หลังยุคเผด็จการอำนาจนิยม และเริ่มเลือกประธานาธิบดีที่มีท่าทีแบบอำนาจนิยมชัดๆ อย่างดูแตร์เตขึ้นมา และเขาก็กระโดดเข้าสืบทอดมรดกทั้งของดูแตร์เตและของพ่อของเขาเมื่อได้จังหวะเวลาที่เหมาะสม

ประชากรศาสตร์การเมือง กับชัยชนะของ บงบง มาร์กอส?

เพราะอย่างที่บอก การเล่าเรื่องสมัยมาร์กอสผู้พ่อของมาร์กอสผู้ลูกแทบจะเขียนประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ขึ้นใหม่ มันเป็นการฟอกขาวแบบแทบจะตบหน้าทุกคนที่มีความทรงจำสมัยมาร์กอส

แต่ปัญหาอยู่ตรงนี้นี่แหละ มันไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความทรงจำสมัยมาร์กอส และผลโพลเห็นเลยว่าคนอายุน้อยคือฐานเสียงสำคัญของ บงบง มาร์กอส และพูดง่ายๆ ก็คือ คนพวกนี้ไม่มีความทรงจำว่ามาร์กอสผู้พ่อร้ายกาจแค่ไหน และผลโพลก็ยิ่งทำให้เห็นเลยว่ายิ่งคนอายุเยอะ ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะไม่เลือกบงบง

ทั้งหมดนี้มาจากระบบการศึกษาฟิลิปปินส์ที่ไม่ได้ประณามการกระทำของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่ง บงบง มาร์กอส ก็รู้ดี เลยเน้นหาเสียงกับคนรุ่นใหม่แบบเน้นสร้างภาพการเป็นประธานาธิบดีของคนรุ่นใหม่เลย

และสิ่งที่ บงบง มาร์กอส รู้ก็คือลักษณะของโครงสร้างประชากรฟิลิปปินส์ที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่

ฟิลิปปินส์ต่างจากไทยมาก ไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างประชากรแบบสังคมผู้สูงอายุ คนอายุไม่เกิน 15 ปี กับคนอายุเกิน 65 ปีมีปริมาณพอๆ กัน อัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.5 (คือผู้หญิง 1 คนมีลูกเฉลี่ย 1.5 คน)

แต่ฟิลิปปินส์ไม่ใช่ คนอายุไม่เกิน 15 ปี มีปริมาณเป็น 2 เท่าตัวของคนแก่อายุเกิน 65 ปี และอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 2.5 เกือบสูงที่สุดในอาเซียน (ที่สูงกว่านี้มีแค่ลาว)

ประเด็นคือ คนฟิลิปปินส์ยังมีลูกกันเยอะมาตลอดและทำให้โครงสร้างประชากรฟิลิปปินส์ยังเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ 

บงบง มาร์กอส รู้ถึงการดำรงอยู่ของประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งคือกลุ่มที่ไม่มีความทรงจำยุคเผด็จการอำนาจนิยมของพ่อเขา และเน้นหาเสียงกับคนกลุ่มนี้ จนชนะเลือกตั้งในที่สุด

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ก็อาจเป็นอุทาหรณ์มากๆ ว่าเอาจริงๆ นักการเมืองแนวอนุรักษนิยมปัจจุบันก็ไม่ได้ไปหาเสียงกับคนแก่เสมอไป แนวทางพวกนั้นเป็นแนวทางของประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ (เช่นอังกฤษและอเมริกา) เพราะสังคมที่คนรุ่นใหม่ไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตทางการเมืองที่เลวร้ายอีกแล้ว อดีตอันเลวร้ายที่ว่าก็อาจถูกฟอกขาวให้กลายเป็นยุครุ่งเรืองได้ในที่สุด

และกระบวนการที่ว่ามันก็ไปไกลได้ขนาดที่ตระกูลการเมืองที่โกงจนได้ลงกินเนสบุ๊คนั้น สามารถกลับมามีอำนาจทางการเมืองได้ดังที่การเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ได้ทำให้เราเห็นแล้ว

อ้างอิง