บาดแผลในวัยเยาว์ของราชาลูกหนังโลก ครั้งหนึ่ง ‘เปเล่’ ต้องสวมบทเป็นนักบิน ที่เขาเคยเรียกว่าเป็นฝันร้ายในชีวิต
เมื่อตอนที่ ‘เปเล่’ (Pele) หรือชื่อจริง Edson Arantes do Nascimento ราชาลูกหนังโลกผู้ล่วงลับชาวบราซิลมีอายุ 7 ขวบ เขาเคยตั้งใจว่า พอโตเป็นผู้ใหญ่ อาชีพที่เขาจะทำก็คือ ‘เป็นคนขับเครื่องบิน’
วันแล้ววันเล่าในวัยเยาว์ เด็กคนนั้นเทียวไปมาเฝ้าดูเครื่องร่อนหลายลำขึ้นลงรันเวย์ของสโมสรการบินท้องถิ่น ความคลั่งไคล้นั้นมีมากถึงขั้นต้องโดดเรียนเพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งโปรดปรานให้นานที่สุด
แต่สุดท้ายฝันนั้นก็สลายลง และถูกแทนด้วยความทรงจำที่อยากจะลบเลือน เมื่อเขาเองไปเห็นศพนักบินเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุเครื่องร่อนตก
เปเล่เขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่า เขาฝันร้ายถึงภาพร่างที่ไร้วิญญาณของนักบินคนนั้นอยู่หลายคืน กลายเป็นเด็กที่กลัวความมืด และไม่กล้าย่างเข้าใกล้สนามบินที่ตนเองเคยชอบอีกเลย
แต่หลังจากนั้นเรื่องราวของ ‘เปเล่’ ก็เป็นอย่างที่เราได้รู้จัก
เขากลายเป็นตำนานของโลกฟุตบอล ด้วยการได้ทำสัญญาในสโมสรฟุตบอลอาชีพตอนอายุ 15 ติดทีมชาติชุดใหญ่ตอนอายุ 16 ปี 9 เดือน คว้าแชมป์โลกกับทีมชาติบราซิล 3 สมัย มีเกียรติประวัติตามมามากมายในฐานะ ‘ราชาลูกหนังโลก’
ด้วยลีลาการเล่นที่มักได้รับการบรรยายว่าราวกับกำลังร่ายเวทมนตร์ เปเล่ได้กลายเป็นจุดสนใจในทุกครั้งที่เขาลงสนาม และเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากเห็นลีลาท่าทางของนักฟุตบอลมากพรสวรรค์ผู้นี้ – ยกเว้นก็แต่ทีมคู่แข่ง
แม้กระทั่งในช่วงที่ไนจีเรียมีสงครามชิงอำนาจภายในประเทศ (ช่วงปี 1967-1970) แต่เมื่อเปเล่และสโมสรซานโตสมีกำหนดการเตะอุ่นเครื่องกับทีมชาติไนจีเรีย สงครามที่ยืดเยื้อก็เกิดข้อยุติจากทั้งสองฝ่ายลงชั่วคราว
ลมหายใจของผู้คนไนจีเรียเหลือแค่ฟุตบอลและเปเล่ แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม แต่มันก็เป็นภาพประจักษ์ว่า เปเล่มีอิทธิพลต่อโลกมากเพียงใดในยุคสมัยนั้น
เพียงแต่ว่า… หลังจากนั้นอีก 7 ปี เมื่อเปเล่กลับไปเยือนไนจีเรียอีกหน เรื่องราวกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน
ในเดือนกุมภาพันธ์ 1976 เปเล่ซึ่งตอนนั้นค้าแข่งอยู่กับนิวยอร์ก คอสมอส สโมสรในสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางไปเปิดคลินิกสอนฟุตบอลให้กับเด็กๆ ในท้องถิ่น ในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทเป๊ปซี่-โคล่า แน่นอนว่านี่คือกิจกรรมที่ทำเพื่อโปรโมตแบรนด์
แต่ระหว่างทำงานกลับเกิดการรัฐประหาร ประมุขของประเทศถูกลอบสังหารโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Young Revolutionaries แต่ไม่นานเกินรอก็ถูกฝ่ายรัฐบาลกลางสู้กลับ เกิดเป็นสงครามกลางเมืองย่อมๆ และกลายเป็นฝ่ายรัฐบาลกลางที่กลับมาคุมสถานการณ์ไว้ได้
เรื่องราวที่ดูเหมือนจะจบลงด้วยเวลาสั้นๆ ก็กลับกลายเป็นความซับซ้อนขึ้นมาใหม่ เมื่อมีข่าวลือว่าสำนักงานข่าวกรองของสหรัฐฯ หรือซีไอเอ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารผู้นำประเทศ
และถึงแม้เปเล่จะไม่ได้เป็นชาวอเมริกันโดยตรง แต่การมาเยือนไนจีเรียในฐานะตัวแทนสปอนเซอร์สัญชาติอเมริกัน และยังเล่นอยู่ในลีกสหรัฐฯ เขาก็ย่อมโดนตราหน้าเป็นพันธมิตรของคู่ขัดแย้งไปโดยปริยาย
และถึงแม้เปเล่จะได้รับการช่วยเหลือให้ย้ายไปพักที่สถานทูตบราซิล แต่ตราบใดที่ยังเดินทางไปไหนไม่ได้ เพราะพรมแดนถูกปิดล้อมเพื่อป้องกันกลุ่ม Young Revolutionaries หลบหนีออกนอกประเทศ สถานะของเขาจึงไม่ค่อยโสภาสถาพรนัก
นอกจากเปเล่ เวลานั้นยังมีนักกีฬาอเมริกันอีกหลายคนติดอยู่ในไนจีเรีย ในการเดินทางแข่งขันเทนนิส 1976 Lagos WCT ที่สุดท้ายการชิงชัยได้ถูกสั่งให้ยกเลิก นักกีฬาต้องหลบไปเก็บตัวอยู่ที่สถานทูตสหรัฐฯ แทน
จากการลอบสังหารผู้นำประเทศในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ มาจนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1976 รัฐบาลไนจีเรียก็ได้อนุญาตให้นักกีฬาและชาวอเมริกันสามารถเดินทางกลับประเทศได้
ในตอนนั้นทางเป๊ปซี่ได้ประสานขอให้เปเล่ได้ขึ้นเครื่องบินร่วมกับนักกีฬาเทนนิส เพราะถึงเขาจะไม่ใช่นักกีฬาสัญชาติอเมริกัน แต่ก็ค้าแข้งและมีที่พักอยู่ในอเมริกาไม่ต่างอะไรกับนักกีฬาที่ร่วมเดินทางกลับประเทศคนอื่นๆ
แต่โชคไม่ดีตรงที่ตอนนั้นกลับไม่สามารถประสานหาหน่วยรักษาความปลอดภัยมาช่วยคุ้มกันเปเล่จากสถานทูตบราซิลไปยังสนามบินได้ เครื่องบินที่เดินทางกลับสหรัฐฯ เลยไม่มีชื่อเปเล่อยู่ในฐานะผู้โดยสาร
และการเดินทางในเที่ยวต่อไป ก็ต้องรออีกอย่างน้อยๆ 3 วัน หรือก็คือวันที่ไนจีเรียเปิดพรมแดนอย่างเป็นทางการ
แต่ทางเอกอัครราชทูตของบราซิลก็กังวลเรื่องความปลอดภัยของชายผู้เป็นดังสมบัติของประเทศ และอยากให้เปเล่ออกไปจากที่นี่โดยเร็ว
ถึงที่สุด สถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็บีบบังคับให้เกิดแผนการชวนกระอักกระอ่วนใจ โดยการสร้างสตอรี่ให้เปเล่ปลอมตัวเป็นนักบิน – อาชีพที่เขาเคยใฝ่ฝันเมื่อเยาว์วัย แต่เต็มไปด้วยฉากสลดแห่งฝันร้าย – เพื่อเดินทางไปยังสนามบินโดยไม่มีใครสังเกต
ราวกับรอยแผลเป็นในอดีตทำให้เจ็บขึ้นมาอีกครั้ง
ในบันทึกเรื่องราวหนนั้นมีเพียงคำบรรยายที่บอกว่าเปเล่ต้องกลั้นใจทำ เอาชนะความทรงจำอันไม่น่าอภิรมย์ในกาลเก่า หยิบหมวกกัปตันนักบินมาสวมขณะมีน้ำตาคลอเบ้า เขากล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “มาทำสิ่งนี้กันเถอะ”
แล้วทุกอย่างก็สิ้นสุดลงโดยสวัสดิภาพ – เปเล่เล่นฟุตบอลในลีกสหรัฐฯ ต่ออีกปีแล้วแขวนสตั๊ด ด้วยเหตุผลทางวันวัย
แม้เหตุการณ์นั้นจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตของนักฟุตบอลผู้เป็นตำนาน แต่ ณ นาทีนั้นคงไม่มีใครรู้หรอกว่าเปเล่ต้องอาศัยขนาดหัวใจที่ใหญ่สักแค่ไหนเพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาสั้นๆ นั้นไปให้ได้
ผลกระทบจากสงคราม ความไม่สงบทางการเมืองนั้นมักเต็มไปด้วยร่องรอยบาดแผล
ถึงแม้บางคนจะไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์โดยตรง แต่บางครั้งมันก็อาจมีลูกกระฉอกวิ่งมากระแทกรอยแผลเก่าอย่างไม่ตั้งใจ สร้างความเจ็บช้ำให้เราได้อย่างไม่อาจคาดถึง
เฉกเช่นเดียวกับที่เปเล่เคยพบเจอกับมันมา
อ้างอิง
- The day Pele escaped a coup in Nigeria by pretending to be a pilot https://shorturl.asia/ZSMkq
- The terrifying sight that ended Pele’s first dream and gave him nightmares https://shorturl.asia/iDR68
- How football legend, Arthur Ashe were trapped in Lagos during 1976 coup https://shorturl.asia/JDFYW