ที่มาและที่ไปของ Duolingo แอปสอนภาษาบันลือโลก ที่เชื่อว่า ‘ทุกคนควรได้เรียนภาษาฟรีๆ’
ปัจจุบันนี้การเรียนภาษาเป็นธุรกิจใหญ่ทั่วโลก และก็ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนภาษาที่อยู่ในธุรกิจนี้ เพราะพวกแอปต่างๆ ก็เข้ามาเล่นในตลาด ‘เรียนภาษา’ กันเต็มไปหมด
และในโลกนี้ก็ไม่มีแอปไหนจะประสบความสำเร็จเท่าแอปสัญชาติอเมริกันที่ชื่อ ‘Duolingo’ ซึ่งประสบความสำเร็จทางธุรกิจขนาดเข้าตลาดหุ้นไปแล้วในปี 2021 และกลายมาเป็นหุ้นตัวที่ร้อนแรงที่สุดตอนที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวหลังโควิด-19 ในปี 2023
และ ‘ความพิเศษ’ จริงๆ ของ Duolingo ไม่ใช่แค่มันเป็นหุ้นที่ร้อนแรง แต่เพราะว่ามันเป็นแอปสอนภาษาที่ใช้ ‘ฟรี’ และนี่เลยทำให้มันมีสมาชิกกว่า 100 ล้านคน ที่เคยเรียนภาษากับแอปนี้ และเดือนๆ หนึ่งก็มีผู้ใช้ในหลัก 10 ล้านคนมาตลอด
Duolingo พิเศษตรงไหน? ถ้าจะเล่าให้รอบด้านคงต้องเล่าจากประวัติเริ่มต้นก่อน
Duolingo เป็นผลผลิตของ 2 ผู้ก่อตั้ง คนแรกคือ ‘ลูอิส วอน อัน’ (Luis von Ahn) อีกคนคือ ‘เซเวริน แฮกเกอร์’ (Severin Hacker)
คนแรกเป็นหนึ่งในตำนานของนักธุรกิจไอทีที่สามารถจะเขียนบทความเกี่ยวกับเขาแยกได้อีกหนึ่งชิ้นเลยทีเดียว แต่เอาสั้นๆ คือ เขาได้ฉายาว่า ‘บิดาแห่ง Crowdsourcing’ เพราะเขาเป็นคนคิดไอเดียระบบที่จะทำให้ผู้คนช่วยเทรน AI ผ่านการให้คน ‘ระบุสิ่งที่อยู่ในภาพ’ ว่านั่นเป็นสิ่งของหรือตัวอักษร หรือพูดอีกแบบ เขาเป็นผู้คิดค้น Captcha หรือตัวอักษรยึกยือๆ ที่เราต้องกรอกเพื่อ ‘ยืนยันว่าเป็นมนุษย์’ นั่นแหละ
อันคิดและสร้างโปรแกรมพวกนี้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา และขายมันให้ Google จนเป็นเศรษฐีหลายร้อยล้านในวัย 20 ต้นๆ ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งตอนนั้นเขาก็ใช้ชีวิตได้แบบชิลๆ แล้ว โดยไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน อยากทำอะไรก็ทำ และสิ่งที่เขาเลือกทำคือ สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย จนได้มาเป็น ‘ที่ปรึกษา’ ให้กับนักศึกษาปริญญาเอกไฟแรงอย่างแฮกเกอร์
โดยแฮกเกอร์มีไอเดียว่า เขาอยากทำ ‘แอปสอนภาษาฟรี’ ตัวอันนั้นเป็นลูกครึ่งกัวเตมาลา ก็ตระหนักว่า เออ มันมีตลาดแน่ๆ เพราะคนที่กัวเตมาลาบ้านเกิดเขาเองก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนภาษาอังกฤษ และพอเขาไปเช็กตลาด พวกเขาก็พบว่าคนเรียนภาษาในโลกนี้มีเป็นหลักพันล้านคน และเอาแค่คนเรียนภาษาอังกฤษที่ไม่มีเงินจ่ายค่าคอร์สก็มีเป็นหลักร้อยล้านคน ดังนั้นทำแอปใช้ฟรีออกมา ยังไงมันก็มีคนต้องการใช้อยู่แล้ว
แต่คำถามคือ แล้วเราจะ ‘ทำเงิน’ กับแอปที่ว่านี้ยังไง?
โมเดลธุรกิจของ Duolingo ในตอนแรกจริงๆ มันมาจากไอเดียแบบ Captcha เลย คือมันเป็นไอเดียของแอปที่จะทำการแมตช์คนที่ต้องการ ‘เรียนภาษา’ ด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่งคือคนที่ต้องการจ้างแปลภาษา พูดง่ายๆ คือแอปมันจะเอาประโยคที่ลูกค้าต้องการให้แปลมาให้คนเรียนภาษาฟรีนั้นแปล แล้วทางแอปก็เอาค่าแปลไปเป็นรายได้ของแอป (ไอเดียมันคล้ายกับที่ Google ซื้อ ReCaptcha ไปแล้วให้คนทำ Captcha ซึ่งจริงๆ คือการถอดตัวหนังสือจากต้นฉบับสแกนหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าๆ ของ The New York Times เพื่อแปลงเป็นเอกสารดิจิทัล) และนี่คือที่มาของคำว่า Duo ใน Duolingo
อย่างไรก็ดี หลังจากทดลองนำร่องไป ไอเดียนี้กลับไม่เวิร์ก เพราะสิ่งที่คนอยากให้แปลนั้น ‘ไม่สนุก’ เลยทำให้ผู้ใช้ Duolingo เวอร์ชันทดลองไม่สนุก และ Duolingo ก็เลยปรับใหม่และเปิดตัวมาสู่สาธารณะในปี 2012 โดยเปิดตัวมาเป็นแอปสอนภาษาฟรีที่เน้น ‘ความสนุก’ โดยเอาไอเดียต่างๆ แบบ ‘เกมออนไลน์’ เข้ามากระตุ้นให้คนเรียนภาษา ไม่ว่าจะเป็นระบบให้รางวัลการใช้ต่อเนื่อง สะสมเพชร รวมถึงการทำให้การเรียนภาษารวมๆ เหมือนการเล่นเกม
แต่ว่ากันตรงๆ Duolingo ‘ไม่มีรายได้’ อยู่ยาวๆ ถึง 5 ปี โดยช่วงนี้ก็ดำเนินการไปโดยอาศัยเงินทุนของอัน และเงินของพวกนักลงทุนใน Startup เป็นหลัก เพื่อขยายฐานผู้ใช้ไปเรื่อยๆ ก่อนจะเริ่ม ‘ทำเงิน’ ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต่างจาก Facebook ทำในตอนแรก
และแล้วความพยายามก็สำเร็จ ในปี 2017 Duolingo เริ่มระบบใหม่ที่ผู้ใช้ฟรีต้องดูโฆษณา และมีการเก็บค่าสมาชิกแบบเสียเงินเพื่อเข้าถึงบริการพิเศษ และสิ้นปีนั้น Duolingo ก็มีรายได้เป็นครั้งแรกถึงราวๆ 500 ล้านบาท
ซึ่งจะว่ายังไงดี ‘ที่เหลือคือประวัติศาตร์’ ก็คงไม่ผิดนัก หลังจากนั้น Duolingo เติบโตอย่างต่อเนื่องในฐานะแอปสอนภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกจนเข้าตลาดหุ้นไปเนียนๆ ในปี 2021 และบริษัทก็คงจะโตต่อไปเรื่อยๆ ทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้และรายได้เมื่อคนต้องการเรียนภาษามีเพิ่มมากขึ้น
ความน่าสนใจของ Duolingo คือความกล้า ‘ใช้โมเดลธุรกิจที่ต่าง’ จากธุรกิจรูปแบบเดิม เพราะก่อนหน้า Duolingo นั้นก็ไม่มีใครเชื่อว่าการ ‘เรียนภาษา’ ควรจะเป็น ‘ของฟรี’
แต่สิ่งที่ Duolingo ทำก็คือ นำเอาโมเดลธุรกิจแบบพวกเกมออนไลน์มาใช้ในทุกมิติ คือใครจะใช้ฟรีก็ดูโฆษณาไป ส่วนใครอยากได้อะไรเพิ่ม ก็ต้องเสียเงิน ซึ่งมันเวิร์กมากๆ และทำให้ในตลาดของแอปสอนภาษา ไม่มีใครหาญสู้ Duolingo ได้ ไม่ว่าจะเป็นมุมของยอดผู้ใช้ ไปจนถึงจำนวนภาษาที่มีสอนอยู่นั่นเอง
อ้างอิง
- LinkedIn. Language Learning Made Free: The Fascinating Journey of Duolingo’s Founder, Luis von Ahn. http://tinyurl.com/3mtb7syb
- Forbes. Game of Tongues: How Duolingo Built A $700 Million Business With Its Addictive Language-Learning App. http://tinyurl.com/f8kkp8zd
- HuffPost. The History of Duolingo. http://tinyurl.com/38ahskbu